ธุรกิจจัดการขยะและรีไซเคิลโต จดทะเบียนใหม่ปี 67 พุ่ง 522 ราย
แปรขยะเป็นเงิน! สำรวจธุรกิจจัดการของเสียไทย พบมีกว่า 2 หมื่นรายทั่วประเทศ ส่วนปี 2567 SME จดทะเบียนใหม่พุ่ง 522 ราย
ในวันที่โลกหมุนเร็วขึ้นตามพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ กองขยะที่เพิ่มขึ้นทุกวันไม่เพียงแต่สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังบอกเล่าถึง “โอกาส” สำหรับธุรกิจกลุ่มหนึ่งที่มักถูกมองข้ามอย่าง “ธุรกิจจัดการของเสียและรีไซเคิล” (Waste Management & Recycle Business)
โพสต์ทูเดย์ ขอพาผู้อ่านลงลึกไปในวงจรของ “ขยะ” ที่ไม่ได้จบแค่ถังหน้าบ้าน แต่กำลังขยับตัวกลายเป็นเศรษฐกิจสีเขียวที่มีมูลค่า โดยขออ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยและข้อมูล SME D BANK สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
สถานการณ์ขยะในประเทศ
ปี 2566 คือปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังโควิด-19 แต่การฟื้นตัวนี้ก็พ่วงมาด้วย “ขยะมูลฝอย” ที่เพิ่มสูงถึง 26.95 ล้านตันทั่วประเทศ มากไปกว่านั้นคือ "ขยะอันตราย" อย่างซากเครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย ที่ยังคงถูกกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 21%
ในภาพรวม แม้ว่า 72% ของขยะทั้งหมดจะได้รับการจัดการอย่างถูกต้องหรือถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ตัวเลขเบื้องหลังยังสะท้อน “โอกาสที่ยังไม่ถูกใช้” อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในภาคการแปรรูปและรีไซเคิล
จากข้อมูลของ สสว. และศูนย์วิจัย SME D Bank ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะและรีไซเคิลถึง 21,340 ราย
ในจำนวนนี้ กว่า 83% เป็น “บุคคลธรรมดา” กว่า 17,815 ราย ขณะที่กลุ่ม “นิติบุคคล” มี 3,525 ราย
พวกเขาคือคนที่เราคุ้นตา เช่น ร้านรับซื้อของเก่า ร้านค้าขวดพลาสติกหรือเศษเหล็ก ที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมืองใหญ่และชุมชนต่าง ๆ พวกเขาอาจไม่มีเครื่องจักรทันสมัยหรือเงินทุนก้อนโต แต่กลับเป็น “ฟันเฟือง” สำคัญที่ขับเคลื่อนระบบรีไซเคิลของประเทศ
กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และสมุทรสาคร คือ 5 จังหวัดที่มีธุรกิจกลุ่มนี้กระจุกตัวมากที่สุด รวมกันแล้วมากถึง 55% ของทั้งประเทศ
หากพิจารณาเฉพาะ "กลุ่มบุคคลธรรมดา" พบว่ากลุ่ม Micro หรือรายย่อย มีมากกว่า 16,049 ราย
- ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่เน้นการขายส่งของเสียและเศษวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จำนวนมากถึง 15,303 ราย
- กลุ่มที่ดำเนินธุรกิจเก็บรวบรวม บำบัด และกำจัดของเสียมี 377 ราย
- และกลุ่มที่นำวัสดุใช้แล้วกลับมาแปรรูปเพื่อใช้ใหม่มี 369 ราย
ขณะที่กลุ่ม Small หรือรายเล็กพบว่ามีผู้ประกอบการอยู่ 1,766 ราย แบ่งเป็น
- ธุรกิจขายส่งของเสียและเศษวัสดุฯ 1,347 ราย
- ธุรกิจเก็บรวบรวม บำบัด และกำจัดของเสีย 290 ราย
- ธุรกิจแปรรูปวัสดุที่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ 129 ราย
ในบรรดาผู้ประกอบการที่เป็น “นิติบุคคล” จำนวน 3,525 ราย
- กลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุดคือกลุ่ม Small รายเล็ก ซึ่งมีจำนวนมากถึง 2,077 ราย
- เช่นเดียวกับกลุ่ม Micro ที่มีกว่า 1,051 ราย
- ขณะที่กลุ่ม Large หรือผู้เล่นรายใหญ่ที่มีศักยภาพด้านการลงทุนและเทคโนโลยีขั้นสูง กลับมีเพียง 109 ราย เท่านั้น ซึ่งแม้จำนวนน้อย แต่มีแนวโน้มจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในอนาคต หากได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐหรือพันธมิตรเอกชน
ซึ่งทั้งสามกลุ่มครองบทบาทหลักในธุรกิจขายส่งของเสีย เศษวัสดุฯ
พลังขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจสีเขียว
เมื่อเทรนด์ของ Green Economy กลายเป็นวาระหลักของโลก การจัดการของเสียอย่างยั่งยืนก็ถูกยกระดับจาก "ความรับผิดชอบ" ไปสู่ "โอกาสทางธุรกิจ" ที่จับต้องได้
ในปี 2567 เพียงปีเดียว มี SME ที่จดทะเบียนใหม่ในธุรกิจจัดการขยะและรีไซเคิลมากถึง 522 ราย โดยกว่า 60% เป็นธุรกิจขายส่งของเสีย และเศษวัสดุฯ สะท้อนถึงความตื่นตัวของภาคธุรกิจต่อโอกาสในตลาดรีไซเคิลที่กำลังขยายตัวทั้งในประเทศและตลาดโลก
แม้แนวโน้มจะดูสดใส แต่ธุรกิจจัดการของเสียในไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว. มองว่า การแยกขยะต้นทางยังไม่เป็นระบบ กระบวนการคัดแยกขยะจากครัวเรือนยังไม่แพร่หลาย ทำให้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้สูญเปล่าไปจำนวนมาก อีกทั้งบทบาทของผู้ประกอบการยังจำกัด ผู้เล่นส่วนใหญ่อยู่ในบทบาทคนกลาง ขาดมาตรฐานและการพัฒนาด้านเทคโนโลยี
ขณะที่สตาร์ตอัปเริ่มแจ้งเกิด กลุ่มธุรกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงผู้ขาย-ผู้ซื้อวัสดุรีไซเคิล เริ่มมีบทบาทในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสีย ไม่เพียงเท่านั้น ราคาวัสดุผันผวน อิงกับตลาดโลก ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการรายย่อยเปราะบาง
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมองว่า โครงสร้างพื้นฐานยังไม่ทั่วถึง ระบบจัดเก็บ คัดแยก ขนส่ง ที่ควรครอบคลุมทั้งประเทศ ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร และกฎหมาย-นโยบายยังอ่อนแรง ขาดกลไกบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้พฤติกรรมการแยกขยะยังไม่เปลี่ยนแปลงในระดับรากหญ้า