posttoday

ดัชนี SME ลดลง เงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ร้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด

16 พฤษภาคม 2568

กำลังซื้อชะลอตัวและความเสี่ยงจากห่วงโซ่การค้าโลก ส่งผลให้ SME คาดหวังมาตรการสนับสนุนที่มีความเฉพาะเจาะจง ครอบคลุมทุกภาคธุรกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างตรงจุด

นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ประจำเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 51.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.1 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2568 สาเหตุสำคัญมาจากแรงกดดันจากภาวะกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว ประกอบกับโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท (ระยะที่ 2) ที่ยังไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคได้ในระยะสั้น 

นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวที่เคยเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญเริ่มมีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการภาคการค้าและภาคการบริการ ขณะที่ภาคการเกษตรมีความกังวลต่อทิศทางราคาผลผลิตในตลาดหลายรายการที่ปรับลดลงและในบางพื้นที่ยังได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่น เหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาที่มีแรงสั่นสะเทือนถึงกรุงเทพมหานคร ยิ่งตอกย้ำความเปราะบางของภาคธุรกิจรายย่อยในระดับภูมิภาค 

ในทางกลับกันภาคการผลิตมีสัญญาณฟื้นตัว โดยเริ่มเร่งกำลังการผลิตตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม เพื่อเตรียมส่งมอบสินค้าช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นแรงบวกชั่วคราวแต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแนวโน้มของภาพรวมเศรษฐกิจได้ในวงกว้าง 

ดัชนี SME ลดลง เงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ร้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบดัชนี พบว่า ด้านปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ ทรงตัวที่ระดับ 56.0 เป็นระดับ 56.1 เนื่องจากเริ่มเข้าใกล้เทศกาลสงกรานต์ ธุรกิจส่วนใหญ่เร่งการผลิตก่อนถึงช่วงวันหยุดยาว นอกจากนี้องค์ประกอบด้านต้นทุนรวม (ต่อหน่วย) ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 40.7 เป็นระดับ 41.2 

ขณะที่ด้านคำสั่งซื้อโดยรวมปรับลดลงจากระดับ 58.8 อยู่ที่ระดับ 57.1 ด้านการลงทุนโดยรวมปรับลดลงจากระดับ 50.6 อยู่ที่ระดับ 50.2 ด้านกำไรปรับจากระดับ 56.3 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.7 และด้านการจ้างงานปรับลดลงจากระดับ 50.5 อยู่ที่ระดับ 49.9 สะท้อนให้เห็นภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว แม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เศรษฐกิจจะคึกคักก็ตาม 

สำหรับดัชนี SMESI รายภาคธุรกิจ ประจำเดือนมีนาคม 2568 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ภาคการผลิต มีระดับความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 47.9 เป็นระดับ 50.6 ซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเร่งกำลังการผลิตเพื่อรองรับออเดอร์ระยะสั้นในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะการผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ 

กลุ่มการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากยาง ขยายตัวจากการเร่งส่งออกของคู่ค้ารายใหญ่ เช่นเดียวกับกลุ่มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ

ภาคธุรกิจอื่น ๆ ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะภาคธุรกิจการเกษตร ปรับลดลงมากที่สุดจากระดับ 50.5 ลงมาอยู่ที่ระดับ 48.7 โดยระดับความเชื่อมั่นลดลงตามรายได้จากภาคธุรกิจการเกษตรที่ปรับตัวลดลง หลังสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง 

ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดยังอยู่ในทิศทางอ่อนตัวต่อเนื่อง รองลงมาคือภาคการบริการ ปรับตัวลดลงจากระดับ 53.4 ลงมาอยู่ที่ระดับ 52.0 ซึ่งระดับความเชื่อมั่นปรับลดลงต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากจีนและมาเลเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูง เช่น ภาคใต้และภาคตะวันออกเป็นสำคัญ

ส่วนภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 52.0 ปรับลดลงจากระดับ 54.5 ของเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการแผ่วลงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ระยะที่ 2 ซึ่งยังกระตุ้นกำลังซื้อได้ไม่เต็มที่ ส่งผลต่อกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น