ค้าปลีกไทย หวั่นภาษีสหรัฐฯ ดันสินค้าจีนทะลักเข้าไทยมากขึ้น
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย หวั่นภาษีสหรัฐฯ ดันสินค้าจีนหลั่งใหลเข้าไทยมากขึ้นกว่าเดิม กระทบผู้ประกอบการในประเทศ แนะตรวจสินค้านำเข้า 100% เก็บ VAT 7% สินค้าออนไลน์นำเข้า
นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สถานการณ์ค้าปลีกไทยเต็มไปด้วยความท้าทายจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกที่ลดลงต่อเนื่อง สะท้อนภาพการบริโภคที่ชะลอตัว ภาคท่องเที่ยวเติบโตลดลง และภาคส่งออกที่กำลังเผชิญกับกำแพงภาษี จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกร พบว่า ปี 2567 ภาคค้าปลีกมีมูลค่าราว 4 ล้านล้านบาท โดยมี สัดส่วนมูลค่าใน GDP สูงเป็นอันดับ 2 หรือคิดเป็น 16% ของขนาดเศรษฐกิจทั้งประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้นยอดขายภาคค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง โดยในช่วงปี 2567-2568 โตเฉลี่ย 3.4% (1.36 แสนล้านบาท) เทียบกับในช่วงปี 2565-2566 ที่โต 5.9% จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำแพงภาษีสหรัฐฯ กำลังซื้อผู้บริโภคที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงการแข่งขันรุนแรงกับแพลตฟอร์มค้าปลีกต่างชาติอย่าง E-Commerce
นอกจากนี้ ยังต้องจับตากำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยที่สหรัฐฯ มีแผนจะเพิ่มขึ้นเป็น 37% ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากกว่า 8-9 แสนล้านบาท แม้ล่าสุดสหรัฐฯ ได้ประกาศเลื่อนการบังคับใช้ภาษีดังกล่าวออกไป แต่ผลกระทบในระยะยาวยังต้องรอความชัดเจนจากการเจรจาระหว่างทีมไทยและสหรัฐฯ
คนที่จะได้รับผลกระทบหนักคือ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่มากกว่า 3.3 ล้านราย นอกจากต้องเผชิญความเสี่ยงจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะ สินค้านำเข้าราคาถูกและด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ ที่เข้ามาผ่านทางอีคอมเมิร์ซและผู้ประกอบการรายย่อยข้ามแดน ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าแรง ต้นทุนโลจิสติกส์ ค่าพลังงานและสาธารณูปโภค
ในแง่ของสินค้าราคาถูกเข้าไทย มีแนวโน้มว่าสินค้าจากจีนจะไหลเข้าไทยมากขึ้น จากศึกสงครามภาษีระหว่างสหรัฐ-จีน
จีนคือประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงที่สุด จึงต้องหาตลาดใหม่เพื่อระบายสินค้า บวกกับปัญหาการผลิตเกินความต้องการภายในประเทศ ทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการส่งออกสินค้าจีน ซึ่งอาจสร้างผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการไทยจนถึงขั้นปิดกิจการหรือเลิกจ้างแรงงาน
ซึ่งสินค้าจีนที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เสริม และอาหาร ซึ่งได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
นายณัฐ กล่าวต่อว่า ในมุมของภาคการผลิตไทย จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในสภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แม้การลดต้นทุนจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากผู้ผลิตหลายรายยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก "เศรษฐกิจขนาดใหญ่" (Economies of Scale) ได้อย่างเต็มที่
“ต้นทุนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องบริหารจัดการ แต่สิ่งที่ไทยสามารถทำได้และควรเน้นย้ำคือ การสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและยกระดับคุณภาพ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด”
นอกจากนี้ ภาคบริการยังเป็นอีกจุดแข็งของไทยที่มีศักยภาพไม่แพ้ประเทศอื่น จึงควรได้รับการสนับสนุนให้สามารถยกระดับและแข่งขันในเวทีสากลได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าครึ่งปีหลังอาจเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทายสำหรับเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้นการปรับตัวของทั้งภาคผลิตและบริการจะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป
ตรวจสินค้านำเข้า 100%
โดยสมาคมผู้ค้าปลีกฯ เสนอว่า ควรมีการป้องกันสินค้าราคาถูกและด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ มีการตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% จากเดิมที่เป็นการสุ่มตรวจ อาจจะใช้เทคโนโลยีที่มีความแม่นยำเข้ามาช่วย ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่วางจำหน่ายในประเทศอย่างเข้มงวด เช่น การมีมาตรฐาน มอก. และฉลากต้องเป็นภาษาไทย
รวมถึงปราบปรามธุรกิจนอมินี จำเป็นต้องเร่งหามาตรการเชิงรุกในการจัดการธุรกิจนอมินี (Nominee) ที่สวมสิทธิ์คนไทยในทุกระดับ ตั้งแต่รายย่อยถึง รายใหญ่ ครอบคลุมธุรกิจในหลายรูปแบบ เช่น ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงแรมศูนย์เหรียญ เพื่อยับยั้งการ รั่วไหลของเม็ดเงิน และผลักดันให้รายได้จากภาคค้าปลีกหมุนเวียนกลับสู่ระบบเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทย
และป้องกันการสวมสิทธิ์ผลิตสินค้าที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกไปสหรัฐ (Re-Export) ส่งผลให้ไทยเกินดุลสหรัฐ เป็นต้น
เน้นการค้าเสรีเป็นธรรม เก็บ VAT 7% สินค้าออนไลน์นำเข้า
โดยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% กับสินค้าออนไลน์นำเข้าที่มีมูลค่าตั้งแต่บาทแรก (จากเดิมสินค้าไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี โดยออกเป็นกฏหมายบังคับใช้เป็นการถาวร
ปรับปรุงกฏหมายที่มีข้อจำกัดและไม่ครอบคลุมของ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” หรือการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะสินค้าไม่ได้มาตรฐานราคาถูกที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มข้ามชาติ เพื่อปกป้องผู้บริโภคคนไทย เช่น จัดให้มีระบบเชื่อมต่อข้อมูลอัตโนมัติ (API) กับหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ออกมาตรการรับมือกับสถานการณ์สินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าสู่ตลาดไทย เนื่องมาจากปัญหาการผลิตสินค้าเกินความต้องการภายในประเทศจีน (Oversupply) ซึ่งจีนจำเป็นต้องระบายสินค้าสู่ต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อ ผู้ประกอบการไทยจนถึงขั้นต้องปิดกิจการหรือมีการเลิกจ้างแรงงาน เป็นต้น