รู้จัก “ตำกระเทย” ร้านอาหารอีสานจากร้อยเอ็ด ทำรายได้สูงถึง 300 ล้าน
“ตำกระเทย” เริ่มต้นจากร้านส้มตำเล็ก ๆ ในจังหวัดร้อยเอ็ด โดย “จิรเดช เนตรวงค์” ผู้ซึ่งมีความชอบในการทานส้มตำ และฝันอยากทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก ถึงวันนี้ตำกระเทย ก่อตั้งเป็นบริษัท ขยายสาขามากกว่า 10 แห่ง ขยายแบรนด์ สร้างรายได้รวมสูงถึง 300 ล้าน
เรื่องราวของ ตำกระเทย สาเกต หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ตำกระเทย เกิดขึ้นเมื่อปี 2557 โดย “จิรเดช เนตรวงค์”
เขาเป็นลูกหลานเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด พ่อแม่ทำไร่ ทำนา ปลูกผักส่งขายในตลาด ทำให้ จิรเดช คลุกคลี อยู่กับการค้าขายในตลาดมาตั้งแต่วัยเด็ก
จนกระทั่งเติบโตมา จิรเดช ผ่านประสบการณ์การทำงานมาหลายอย่าง แต่ระหว่างนั้นก็ได้เก็บเกี่ยวความรู้สำหรับการเป็นผู้ประกอบการติดตัวมาบ้าง จนกระทั่งรู้สึกว่าอยากทำธุรกิจ ที่ตนเองสามารถจัดการได้
ความทรงจำในวัยเด็กหวนคืนมา เมื่อเขานึกถึงช่วงเวลาที่ได้นั่งปั้นข้าวเหนียวร้อน ๆ จิ้มกับน้ำจิ้มรสเด็ดที่มีน้ำปลาร้าฝีมือแม่เป็นส่วนผสม รสชาติกลมกล่อม สำหรับเขา นี่คือมื้อที่สมบูรณ์แบบที่สุด
และด้วยเป็นคนชอบทานส้มตำ อาหารขึ้นชื่อของภาคอีสานที่มีปลาร้าเป็นส่วนผสมหลัก เขามองว่าเป็นเมนูที่สามารถรับประทานได้ทุกมื้อโดยไม่มีเบื่อ จึงตัดสินใจที่จะเปิดร้านส้มตำของตัวเอง
สิ่งแรกที่ทำเพื่อเริ่มต้นธุรกิจคือ ตระเวนชิมน้ำปลาร้าทุกที่ทั่วจังหวัดร้อยเอ็ด แล้วเอามาปรับกับสูตรน้ำปลาร้าของแม่ จนได้สูตรน้ำปลาร้าสูตรเฉพาะของตนเองขึ้นมา
ชื่อตำกระเทย แรงบันดาลใจจาก LGBTQ
ช่วงกำลังหาพื้นที่เช่าเพื่อเปิดร้านส้มตำริมทาง จิรเดช ได้เห็นรุ่นน้องคนหนึ่งที่เป็น LGBTQ หรือสมัยนั้นจะเรียกกันว่า “กระเทย” ใส่ชุดราตรีสีขาว ทาปากสีแดง ขับมอเตอร์ไซต์ ภาพที่เห็นทำให้เขาอารมณ์ดี แต่พอได้พูดคุยกับรุ่นน้อง ถามว่าทำงานอะไร เขาบอกเป็นแม่บ้าน เงินเดือน 3,000
จิรเดชรู้สึกว่า รุ่นน้องเงินเดือนน้อย จึงชวนมาตำส้มตำ พอตกค่ำก็ได้พบกับ LGBTQ อีกท่านหนึ่งอายุราว ๆ 50 ปี มาเก็บเตาหมูกระทะซึ่งเงินเดือนแค่ 5,000 บาทเท่านั้น ทำให้เกิดความคิดว่า ทำไมคนกลุ่มนี้ขาดโอกาสหลาย ๆ อย่าง เพราะในสมัยเมื่อ 10 ปีก่อน สังคมยังไม่ได้เปิดกว้างขนาดนั้น
จึงเป็นที่มาของชื่อร้าน “ตำกระเทย สาเกต” เพราะสั้น จำง่าย ส่วนคำว่า สาเกต คำสร้อยต่อท้าย มาจาก สาเกตนคร ชื่อเดิมของจังหวัดร้อยเอ็ด
พื้นที่ให้โอกาสคน LGBTQ และทุกเพศสภาพในร้านตำกระเทย
จิรเดช ตั้งเป้าเอาไว้ว่า ร้านตำกระเทย จะเป็นพื้นที่แห่งโอกาสให้กับเพศที่สามและคนขาดโอกาสไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือ LGBTQ เข้ามาทำงานได้หมดโดยให้คำว่ากระเทย ไม่มีการแบ่งแยกเสรี ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วคนยังไม่ให้โอกาส LGBTQ เท่าไหร่นัก
รสชาติถูกปากคนอีสาน
สาขาแรกเปิดที่ร้อยเอ็ดบ้านเกิด แม้ว่าในจังหวัดร้อยเอ็ดจะหาส้มตำทานได้ทุกทุกซอกทุกมุมของจังหวัด แต่ครั้นจะไปเปิดจังหวัดอื่น ก็ไม่มีเงินทุน และด้วยรสชาติอาหารที่ถูกปากคนอีสานและปลาร้าที่ไม่คาวไม่เหม็น จนได้รับการตั้งฉายาว่าเป็น น้ำปลาร้าเปิดซิง สำหรับคนที่ไม่เคยทานปลาร้ามาก่อน ซึ่งเป็นสูตรของคุณแม่ของจิรเดช ที่ส่งต่อมาให้ และเขาได้พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ
จนร้านเริ่มเป็นที่รู้จัก จากการบอกต่อผ่านโซเชียลมีเดีย จึงเริ่มขยับขยายร้าน เพิ่มเมนูอาหารมากกว่า 60 รายการ
เส้นทางเติบโตสู่รายได้หลักร้อยล้าน
เมื่อธุรกิจไปได้ดี ปี 2560 จึงได้จดทะเบียนตั้งบริษัท ตำกระเทย ซัพพอร์ท แฟคทอรี่ จำกัด ต่อมาปี 2561 เปลี่ยนเป็นบริษัท ตำกระเทย เรสเทอรองต์ พลัส จำกัด
และในปี 2566 ตำกระเทย สาเกต ก็ได้บุกเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งสาขาแรกตั้งอยู่ที่ Silom Edge
ขยับขยายแบรนด์สู่แจ่วฮ้อน-หมูกระทะ
ปัจจุบันสาขาของร้านในเครือตำกระเทย ได้แก่ ตำกระเทย 14 สาขาในไทย (เกือบทุกสาขาอยู่ในภาคอีสาน และ 1 สาขาในกรุงเทพฯ) และ 1 สาขาในกัมพูชา ซึ่งจิรเดชบอกว่า มีพาร์ทเนอร์จากกัมพูชาชอบทานส้มตำมาก และบินมาทานทุกเดือน จนได้เอาร้านไปเปิดที่นู่น
รวมถึงขยายธุรกิจสู่ อิเจ้ แจ่วฮ้อน แอนด์ ชาบู 3 สาขา ( Silom Edge ,ซีคอนสแควร์, One Bangkok) และเมื่อปลายปี 2567 ก็ได้เปิดร้านหมูกระทะ บุฟเฟต์ที่ชื่อว่า “หมูกระเทย” ที่สยามสแควร์ วัน อีกด้วย
นี่คือ ผลประกอบการของ บริษัท ตำกระเทย เรสเทอรองต์ พลัส จำกัด ในช่วงที่ผ่านมา
- ปี 2565: รายได้ 255 ล้านบาท กำไร 16.3 ล้านบาท
- ปี 2566: รายได้ 300 ล้านบาท กำไร 27.4 ล้านบาท
ที่มาภาพ : ตำกระเทย tumkratoei