posttoday

10 เดือนรัฐบาลเศรษฐา เอสเอ็มอีต้นทุนเพิ่ม-สินค้าต่างชาติแย่งตลาดในประเทศ

26 พฤษภาคม 2567

หนี้ครัวเรือนพุ่ง ผลผลิตอุตสาหกรรม มี.ค. 67 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เม.ย.67 ปรับตัวลดลง เอสเอ็มอีรับผลกระทบขึ้นค่าแรง 400 บาท สินค้าต่างชาติทะลักแย่งตลาดในประเทศ และค่าขนส่งเพิ่มหลังสิ้นสุดมาตรการหนุนราคาดีเซล

เอสเอ็มอีต้นทุนเพิ่ม สินค้าต่างชาติราคาถูกตีตลาดไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต ขณะที่การสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานและค่าขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรและทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ

ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยและอาเซียน รวมถึงปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก รวมถึงปัญหาความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน จึงต้องอาศัยมีปัจจัยบวกจากการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2567 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

ต้นทุนใหญ่ของเอสเอ็มอีคือค่าแรง หากปรับขึ้นตามเป้าจะเพิ่มต้นทุนไม่ต่ำกว่า 20% หากเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แรงงานเข้มข้นจะมีต้นทุนระดับ 5-7% ส่วนค่าไฟ ถ้าเป็นอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ที่ใช้ไฟเยอะ เช่น โรงหล่อ โรงงานแก้ว เหล็ก เยื้อกระดาษ ต้นทุนก็จะขึ้นไปถึง 30-40% ถ้าใช้พลังงานน้อยก็จะกระทบซักราว 5-6% 

นายเกรียงไกร กล่าวว่า เอสเอ็มอีต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะต้นทุน อีกทั้งจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่รัฐประกาศ ทำให้กำลังซื้อลดลง ทำให้เอสเอมอีลำบาก ซึ่งนอกจากปัญหาเรื่องต้นทุนแล้ว รัฐต้องรีบแก้ไขปัญหาสินค้าต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าประเทศไทยเข้ามาแย่งตลาดในประเทศ สินค้านำเข้าทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ภาครัฐควรประกาศให้สินค้านำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นภาวะฉุกเฉิน

หากไม่รีบแก้ไข ภาคการผลิตโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะไปไม่ไหว อีกทั้งที่ก่อนหน้านี้เอกชนได้ตรึงราคาสินค้าไว้ก็ต้องปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอ่อนแอก็ทำให้ธุรกิจไทยไม่สามารถเอาตัวรอดได้ เพราะผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้า 

เนื่องจากที่ผ่านมามีการปรับต้นทุน 10% ผู้ผลิตก็ก็อาจจะปรับราคาสินค้า 5% เพราะยอดขายที่ลดลงจะลดลง ส่งผลให้มีการนำเข้าของสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น ของที่คนไทยผลิตจึงขายไม่ได้อีก ดังนั้นการขึ้นค่าแรงต้องดูความชัดเจนทุกด้าน ทั้งการตรึงราคาพลังงาน แต่ละภาคการผลิตต้องขึ้นไม่เหมือนกัน ใครที่มีต้นทุนสูงกว่าก็ต้องค่อยๆ ขึ้น ยกเว้นแต่เป็นสินค้าที่หาทดแทนไม่ได้ อาจจะขึ้นได้เต็มที่

ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 18

ตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2567 ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) อยู่ที่ระดับ 104.06 หดตัวร้อยละ 5.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.39% ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 100.85 หดตัวเฉลี่ย 3.65% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 60.45%

สาเหตุหลักมาจากการผลิตยานยนต์ลดลงต่อเนื่อง จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับการส่งออกลดลงเกิดจากความต้องการสินค้าในประเทศคู่ค้าในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) ปรับตัวลดลง 

ขณะที่ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 90.3 ปรับตัวลดลงจาก 92.4 ในเดือนมีนาคม 2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ เป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ อาทิ สินค้ายานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน

รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุดทั้งเรื่องดอกเบี้ยและดิจิทัลวอลเล็ต

ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งสูงถึงระดับ 91% ของจีดีพี ถือเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น จึงต้องมีกลไกล หรือมาตรการยกระดับเรื่องของการเงินทั้งระบบ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เอสเอ็มอีหลายภาคส่วนมองว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี แต่วิธีการ หรือที่มาของเงินยังทำให้เกิดความกังวล ซึ่งเข้าใจดีว่ารัฐบาลต้องทำตามกฎหมาย และแหล่งที่มาของเงิน โดยมองว่าไม่ต้องการให้เป็นภาระไปกดดันรัฐบาลเอง หรือทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในการเป็นหนี้ระยะยาว

อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มมีความคิดเห็นตรงกันคือ การนำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาพัฒนากำลังคน พัฒนาเรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อให้เกิดรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่ความยั่งยืนในส่วนของผู้ว่างงาน หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 15 ล้านคน โดยอาจจะนำมาพัฒนาให้เป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ มีผลิตภาพ หรือมาทำเป็นอาชีพอิสระ หรือเป็นเอสเอ็มอี หรือหากเป็นเกษตรกรก็จะต้องพัฒนาไปสู่สายอาชีพที่เป็นผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเกษตร เอสเอ็มอี หรืออาชีพอิสระ  

นอกจากนี้ ควรจะต้องมีมาตรการเรื่องการทบทวนดอกเบี้ย และเงื่อนไขหลักประกันของพิโก้ไฟแนนซ์  โดยรมว.คลังควรไปศึกษา และทบทวนาพิโกไฟแนนซ์ควรมีเรื่องความเป็นธรรมของดอกเบี้ย ซึ่งเวลานี้มีเพดานที่ 36% ต่อปี ซึ่งปรากฎว่าเงื่อนไขการมีหลักประกัน กับไม่มีหลักประกันมีความขัดแย้งกันอยู่ 

ดังนั้นจึงมองว่าปัจจุบันรัฐบาลยังแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด เช่น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือบสย. ซึ่งค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี โดย บสย.ควรค้ำประกันให้กับสถาบันการเงินของรัฐ ไม่ใช่สถาบันการเงินที่เป็นอกชน ซึ่งทำให้กรณีที่ควรจะได้รับการค้ำประกันทั้ง 100% ได้เพียง 80% หรือน้อยกว่า ทำให้บางส่วนเข้าไปถึงกลไกลดังกล่าวได้ยาก  

คาดปี 67 หนี้ครัวเรือนพุ่ง 16.9 ล้านล้านบาท

สำหรับข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนของคนไทยปี 2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยหากคำนวณเป็นระดับหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะอยู่ที่ 90.9% โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้บัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล โตเร็วสุดในรอบทศวรรษ

เปิดวัตถุประสงค์การกู้เงิน สาเหตุหนี้ครัวเรือน

1.สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 5.5 ล้านล้านบาท สัดส่วน 33.8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

2.สินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ มูลค่า 2.9 ล้านล้านบาท สัดส่วน 17.8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

3.สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ มีมูลค่ารวม 4.4 ล้านล้านบาท สัดส่วน 27.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด โดยหนี้ส่วนนี้แบ่งเป็น

-สินเชื่อส่วนบุคคล 3.1 ล้านล้านบาท สัดส่วน 19.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

-สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ,สินเชื่อบัตรกดเงินสด) มูลค่ารวม 8 แสนล้านบาท คิดเป็น 5.1% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

-สินเชื่อบัตรเครดิตมูลค่ารวม 5 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

ส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่ออื่นๆ เช่น สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ สินเชื่อเพื่อการศึกษา และสินเชื่อที่ไม่สามารถจำแนกวัตถุประสงค์ได้ มูลค่ารวม 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.9% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด