posttoday

ทีดีอาร์ไอ เสนอ 2 แนวทางแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต

28 เมษายน 2567

นักวิชาการ TDRI ชู 2 แนวทางลบข้อครหา แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต เอื้อกลุ่มทุนใหญ่ แนะรัฐสร้างสมดุล โดยแบ่งสิทธิการใช้เงินเป็น 2 ก้อน ระหว่างการใช้จ่ายได้แบบอิสระทุกร้านค้า กับ ซื้อได้เฉพาะกลุ่มร้าน SMEs - Otop เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนแท้จริง

จากกระแสสังคมมีการตั้งคำถาม กรณีรัฐบาลประกาศให้สามารถใช้เงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ ร้าน  7-ELEVEN หรือร้านแบรนด์ขนาดใหญ่ว่า เป็นการเอื้อ กลุ่มทุนใหญ่หรือไม่นั้น

 

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า รัฐบาลต้องสร้างความสมดุลระหว่างการเข้าใช้สิทธิซื้อได้โดยง่าย กับการกระจายเงินสู่ชุมชน ถ้าไม่ให้ร้านค้าพวกสะดวกซื้อเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต จะทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิหาที่ใช้สิทธิได้ยากขึ้น อาจจะต้องเดินทางไกลขึ้นเพื่อใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าตามกำหนด หรือต้องหาข้อมูลว่าร้านอยู่ตรงไหน แต่ถ้าให้ร้านค้าจำพวกสะดวกซื้อเข้าร่วมได้เข้าร่วมโครงการฯ ประชาชนจะเข้าถึงได้ง่าย แต่ร้านเล็กๆก็อาจไม่มีคนมาใช้สิทธิเท่าที่ควร

 

“รัฐต้องระวังเรื่องการเลือกปฏิบัติ สำหรับร้านสะดวกซื้อกับร้านโชว์ห่วย ที่ควรจะได้รับการปฏิบัติในเรื่องการแข่งขันอย่างเท่าเทียมด้วย หากจะให้รัฐบาลตัดสิทธิ์ร้านที่เรียกว่า เป็นกลุ่มทุนใหญ่ เช่น ร้าน  7-ELEVEN บิ๊กซีมินิ หรือ เทสโก้ โลตัส ขนาดเล็ก ในฐานะความเป็นรัฐบาลก็ถือว่าเลือกปฎิบัติไม่ได้ ต้องบาลานส์ให้ดี เพราะร้านเล็กๆ หลายร้านไม่เสียภาษีมานาน ตนถึงไม่อยากให้เลือกปฏิบัติมากไป” ดร.นณริฎ กล่าว


อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว อยากเห็นการแข่งขัน เน้นการช่วยรายย่อยที่ไม่พัฒนามันจะไม่ดี จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลแบ่งเงินจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ออกเป็น 2  ส่วน คือ แบ่งส่วนหนึ่งที่ให้เฉพาะรายเล็ก อีกส่วนค่อยเน้นอิสระ จะจ่ายรายเล็กหรือใหญ่ก็ได้ ซึ่งเรื่องระบบไม่น่าจะยากในยุคนี้ ดิจิทัลมันรันเลขได้เร็ว

 

“ส่วนตัวอยากให้แบ่งสิทธิการใช้เป็น 2 ส่วนให้ชัด เช่น 50,000 บาทใช้จ่ายได้แบบอิสระ กับ อีก 50,000 ที่เน้นเฉพาะ SMEs หรือ Otop” ดร.นณริฎ กล่าว

 

ส่วน การขึ้นเงินของร้านค้า ร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี จะไม่สามารถนำยอดการใช้จ่ายเงินดิจิทัล จากประชาชนมาขึ้นเงินกับรัฐบาลได้ แต่ต้องนำไปใช้จ่ายต่อกับร้านค้าที่มีขนาดใหญ่ หรือ ร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีภาษีVAT ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถือเป็นการใช้จ่ายในรอบที่สอง โดยรัฐบาลระบุว่า เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น มองว่า อาจจะเป็นเช่นนั้น เพราะร้านค้าปลีกมักจะซื้อของจากร้านค้าส่งอยู่แล้ว คือร้านเล็กจะไม่ได้ถือเงินสด ต้องดูว่าร้านเล็กๆจะใช้จ่ายได้สะดวกแค่ไหน ถ้าร้านใหญ่ๆไม่รับ หรือ ใช้จ่ายกันยากร้านเล็กๆก็อาจจะไม่อยากเข้าร่วมโครงการ

 

“สำหรับเรื่องการทุจริต เช่น มีการนำเงินดิจิทัล มาแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดนั้น เชื่อว่า มักจะมีแนวนี้เกิดขึ้นได้ในร้านใหญ่หรือเล็กก็ได้ คือ ให้แลกเป็นเงินสด หรือจัดชุดสินค้า เพื่อขายแบบบังคับเหมา” ดร.นณริฏ กล่าว