posttoday

EXIM BANK หนุนSMEs ปรับองค์กรสู่ธุรกิจสีเขียว

25 มีนาคม 2567

EXIM BANK ลั่น ทุกคนต้องช่วยให้โลกดีกว่าเดิม ไม่ว่าคนรวยคนจน ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเท่ากัน กระตุ้น เอสเอ็มอี ปรับมุมมอง การ go green เป็นโอกาสไม่ใช่ต้นทุน พร้อมหนุนสินเชื่อทุกภาคส่วน ปรับเปลี่ยนขบวนการผลิตขององค์กร รับมือกับ Ecosystem

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) บรรยายพิเศษในหัว “Road to Green Finance” ในงานเปิดตัว Climate Center โดย ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 ว่า เมื่อปี 2325 ปีที่มีการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ อุณหภูมิบนเปลือกผิวโลกอยู่ที่ 13.39 องศาเซียลเซียส ขณะที่วันนี้อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 15 องศา ดังนั้นหมุดหมายของแต่ละประเทศที่ตั้งเป้าว่า ปี 2050  ปี 2065 จะ Net Zero หรือจะ Neutral ช้าเกินไปแล้ว และที่บอกว่า สิ้นศตวรรษนี้ อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศา ณ วันนี้ก็เพิ่มขึ้นมา 1.47 องศาแล้ว ดังนั้นอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะกลายเป็น 4 องศา

ทั้งนี้ ทุกๆ 100 ปี ก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมิของโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่ถึง 0.5 องศา แต่หลังจากมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทุกๆ 100 ปี อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศา และตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 1 องศาในทุกๆ 60 ปี เพราะฉะนั้น การเร่งของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบนเปลือกผิวโลกอย่างมากมายมหาศาล และปี 2566 ถือว่า เป็นปีที่ร้อนที่สุดของโลก โดยดัชนีคุณภาพอากาศ(AQI) ต่ำกว่า 50 มีแค่ 29 วันจาก 365 วันเท่านั้น หลังเปิดปีใหม่มา ยังไม่มีวันไหนที่มี AQI ต่ำกว่า 50  แม้แต่วันเดียว นั่นคือความน่ากลัวที่เข้าใกล้เรามาทุกวัน

" เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าสัว เป็นชนชั้นกลาง หรือมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน คุณมีสภาพอากาศเท่ากัน ไม่ใช่ว่าคนรวยมีโอกาสมากกว่าคนจน  นั้นคือสิ่งที่องค์กรทุกๆแห่ง พยายามช่วยกันให้เกิดโลกที่ดีกว่าเดิม "ดร.รักษ์ กล่าว 
 

ดร.รักษ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ภาคการเงินถือเป็นมือที่มองไม่เห็น วันนี้ EXIM BANK มีพอร์ตสินเชื่อประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่กว่า 6.2 หมื่นล้านบาทเป็นกรีนพอร์ต กำลังจะออกบลูบอนด์ในปีนี้ หลังจากที่มีการออกกรีนบอนด์ไป 2 ครั้งเม็ดเงิน 8,500 ล้านบาท  ทั้งนี้  หลายๆคนบอกว่า  Green financing มีต้นทุนสูง โดยต้นทุนเทอมโลนประมาณ 7-8% และหากเป็นลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะมีต้นทุนแพงกว่านั้น  แต่หากลูกค้าที่มีหมุดหมายว่าจะ go green และมาที่ EXIM Bank ต้นทุนของเทอมโลนในการที่จะ go green จะเหลือเพียงแค่ 4% เทียบเท่ากับ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)  แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องเอาเม็ดเงินนี้ไปปรับเปลี่ยนขบวนการผลิตขององค์กร ให้สามารถต่อสู้รับมือกับ Ecosystem ที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้


" ขณะที่ความต้องการเงินที่เป็นกรีนไฟแนนซ์จะอยู่ที่ 8.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่สถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่างเอ็กซิงแบงก์ทั้งโลก ซัพพลายได้อยู่แค่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่างกันถึง 6 เท่า ที่น่าตกใจคือ ทุกๆ 1 องศาที่โลกมีอุณหภูมิบนเปลือกผิวเพิ่มขึ้น  ความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ นั่นคือสิ่งที่ว่า ไม่ว่าจะถมแค่ไหนก็ไม่มีทางเต็ม " 
 

ในขณะที่ การปล่อยคาร์บอนของคนไทยจะอยู่ที่ 4 ตันคาร์บอนต่อคนต่อปี ทำได้ดีเป็นอันดับต้นๆ จากค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 4.5 ตันคาร์บอนต่อคน เทียบกับคนอเมริกันที่ปล่อยคาร์บอน 15 ตันต่อคนต่อปี แต่ถ้าต้องการ offset จะต้องมีที่ดินเปล่า 4 ไร่ ปลูกต้นสักอายุ 5 ปี 100 ต้น ในที่ดิน 1 ไร่ ดังนั้นต้องมีต้นสัก 400 ต้น อายุ 5 ปี เพื่อลบล้างคาร์บอนที่เราปล่อยออกมา ใน 1 ปีเท่านั้น


"สำหรับบทบาทที่ EXIM BANK ทำไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อสีเขียวกับอุตสาหกรรมที่อยากจะเปลี่ยนตัวเองให้มาสร้างพลาสติกชีวภาพ ข้าวคาร์บอนต่ำ กรีนสตีล ด้วยการให้สินเชื่อในการที่จะปรับเปลี่ยนการใช้น้ำมันเตาในการหลอมเหล็กให้มาใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาจากโดรเจนในการหลอมเหล็ก หรือ ปูนซีเมนต์ที่เป็นไฮโดรริกมากขึ้น แต่ภาพเหล่านี้ เป็นการให้โอกาสกับคนตัวใหญ่ทั้งสิ้น แต่ถามว่าถ้าคนตัวใหญ่ไม่ทำ คนตัวเล็กก็ไม่รู้ว่า จะขายของคนตัวใหญ่เหล้านั้นได้อย่างไร เพราะวันนี้สังคมไทยเราต้องดูแลคนข้างบน เพื่อให้คนข้างบนสามารถสั่งซื้อของจากคนข้างล่างได้  ไม่ใช่เป็นการที่ไปช่วยแต่คนที่กลุ่มทุนใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว เพียงแต่ว่าเค้าเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของเอสเอ็มอี"ดร.รักษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปกติต้นทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ที่ประมาณ  8-12 บาท สามารถเข้ามาใช้สินเชื่อสีเขียวของเราได้ในราคา 4 บาท ซึ่งถูกกว่าครึ่งหนึ่ง แต่มีข้อแม้ว่า ไม่ใช่เอาไปในธุรกรรมปกติ คุณต้องสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในโรงงาน เช่น เปลี่ยนหลังคาโรงงานให้กลายเป็นโซล่าร์รูฟทอปให้หมด  โดยที่เราสามารถให้ไฟแนนซ์ได้ถึง 100% ซึ่งภาพนี้เราทำไปแล้วเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และกำลังทำอยู่ และในอนาคตพยายามที่จะสร้างระบบนิเวศน์ให้มากขึ้น โดยมีผู้เล่นในจำนวนที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถของคนตัวเล็ก ตัวกลางและตัวใหญ่ได้มากขึ้น

สำหรับเอสเอ็มอี อยากให้มองเรื่องการ go green ว่า มันไม่ใช่ต้นทุน แต่มันคือการลงทุน เพราะธุรกิจที่เป็น ESG ปัจจุบัน มีการเติบโตเฉลี่ย 21% เมื่อเทียบกับธุรกิจปกติที่เติบโต 3-4% ซึ่งคำพูดเล็กๆเหล่านี้ ทำให้กรอบความคิดเปลี่ยนทันที หลายธุรกิจที่คิดอะไรไม่ออกก็เริ่มที่การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวกล้อมมากขึ้น เป็นไบโอพลาสติก หรือเปลี่ยนหลังคาโรงงานให้เป็นโซล่าร์ ซึ่งธนาคารพาณฺชย์หลายแห่งก็ปล่อยกู้ให้ 100%   

นอกจากนั้น EXIM BANK ยังตั้ง  Export Studio เพื่อ เติมความรู้และพาคนที่เป็นพี่น้องเอสเอ็มอีเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของคนตัวใหญ่ เมื่อคนตัวเล็กและคนตัวใหญ่มาเจอกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณจะอยู่ในซัพพลายเชน และที่เราทำคือ จะเป็นคลีนโลนทั้งนั้น ไม่ต้องมีหลักประกัน คนตัวเล็กที่ go green ลดราคาทันทีหน้าตั๋ว 25 สตางค์ แล้วคนตัวใหญ่ก็ได้อานิสงส์ในลักษณะของการได้จำนวนคู่ค้าที่มากขึ้น

“เราผ่านช่วงที่เป็นโควิดมาแล้ว ดังนั้น Domestic Supply Chain สำคัญที่สุด ในวันที่การเมืองทั่วโลกยังเป็นแบบนี้ การสั่งซื้อของ ลักษณะของการส่งมอบยาวนานแบบนี้ เจ้าสัวทุกคนก็ต้องหันมาพัฒนาผู้ประกอบการในประเทศที่เป็นเอสเอ็มอีไทย นั่นคือเงื่อนไขที่ EXIM BANK ตั้งเอาไว้ เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะได้ราคาเช่น 4 บาทเท่ากัน”  

นอกจากนี้ในส่วนของ Supply Chain Financing ที่กำลังจะออกในเดือนเมษายน วันปีใหม่ไทย เพื่อให้ผู้ประการรายใหญ่หรือเจ้าสัว  และเอสเอ็มอีสามารถเข้ามาอยู่ในกรีนซัพพลายเชนคลับด้วยกันได้  นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เป็นการเปลี่ยนประเทศไปด้วยกัน  เป็นภาพที่ เราอยากให้ทุกคนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ออกมาได้มากขึ้น