posttoday

ส่องเส้นทางสู่ SMART FACTORY ข้ามขีดจำกัดเติมมูลค่าเพิ่มสู่ผู้ผลิตไทย

19 มีนาคม 2567

LiB Consulting สำรวจเส้นทางสู่ SMART FACTORY เปิดโลกโซลูชั่น เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดและสร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจหนุนผู้ผลิตไทย

Smart Factory หรือโรงงานอัจฉริยะ คือการผสานกันระหว่างการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร เทคโนโลยีใหม่ และพนักงานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความสามารถที่สอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงและสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบัน ที่จะเห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลงสู่ Smart Factory อย่างชัดเจนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำ อาทิ อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ

แต่มิใช่ผู้ประกอบการทุกรายที่จะสามารถพัฒนา Smart Factory ได้อย่างราบรื่น เพราะส่วนมากต้องประสบความท้าทายมากมายในการเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นความกังวลใจในเรื่องการขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจนหรือไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนดี LiB Consulting บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ทั้งด้านการวางกลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Strategy) และด้านการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมผู้ผลิตสู่ Smart Factory ได้ทำการศึกษาถึงปัจจัยกระตุ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับ Mega Trend ที่กำลังจะเข้ามามีอิทธิพลในทุก ๆ อุตสาหกรรมบนโลกใบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรทำความเข้าใจถึง 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

 

● ปัจจัยเชิงเทคโนโลยี (Technological Factor) ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจนก่อให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจแบบ On-Demand เพื่อตอบสนองความต้องการได้แบบฉับพลัน อย่างไรก็ดี ความสะดวกรวดเร็วนี้ก็ทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดความระส่ำระสายไปด้วย เพราะผู้บริโภคทั่วโลกสามารถสั่งซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงจึงกลายเป็นความท้าทายต่อทุก ๆ อุตสาหกรรมที่จะต้องวางกลยุทธ์ใหม่ให้ทันต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

● ปัจจัยเชิงการเมืองและสิ่งแวดล้อม (Political and Environmental) นโยบายทางการเมืองด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวและเป้าหมาย Net Zero Emissions กลายเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อโลก ผ่านแนวทางลดการใช้พลังงาน การใช้เทคโนโลยีในขั้นตอนการผลิตและคลังสินค้าและการขนส่ง การเลือกใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งเห็นได้ว่าบริษัทที่ได้รับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้มักมีตัวเลขการส่งออกที่ดีเพราะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้

● ปัจจัยเชิงสังคม (Societal Factor) นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก อาทิ การที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนที่สูงเพิ่มขึ้นและกลายเป็นตัวผลักดันให้เข้าสู่การพัฒนา Smart Factory เพื่อรักษาสมดุลทางธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการทลายขีดจำกัดทั้งในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิตจนถึงการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค

 

การตระหนักถึงเป้าหมายหลักของ Smart Factory

LiB Consulting ได้ทำการวิเคราะห์และนำเสนอเป้าหมายเพื่อให้องค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงสู่ Smart Factory ได้อย่างเข้มแข็งและเป็นรูปธรรม โดยจำเป็นต้องตระหนักถึงเป้าหมายในการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน คือ

1) ประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Operational Efficiency) ผ่านการผสมผสานองค์ความรู้ทั้งในด้านแนวทางปฏิบัติที่ดีของบริษัท (Best Practices) และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บริบทของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อให้สามารถปรับปรุงกระบวนการทำงานได้ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ยกตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยีสแกนและเก็บข้อมูลด้วยคลื่นวิทยุ (Radio Frequency Identification) มาช่วยตรวจสอบสถานะสินค้าคลัง เพื่อแสดงผลแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถปรับปรุงการตัดสินใจในขั้นตอนการผลิต ตลอดจนเพิ่มความรวดเร็วและลดขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อนให้น้อยลง

2) การยกระดับคุณภาพ (Quality Enhancement) เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอและสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า โดยใช้ตัวชี้วัดต่าง ๆ ทั้งการลดสินค้าเสียเป็นศูนย์ (Zero Defect) การตรวจนับจุดบกพร่องบนชิ้นงาน (Defect per Unit) หรือการวัดประสิทธิภาพเครื่องจักร (Overall Equipment Effectiveness: OEE) ผ่านการติดตั้งเซนเซอร์เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลสถานะเครื่องจักรและส่งฟีดแบ็กความผิดปกติไปยังผู้เกี่ยวข้องได้แบบเรียลไทม์ รวมไปถึงการสั่งหยุดสายการผลิตโดยอัตโนมัติได้ทันทีเมื่อพบปัญหาร้ายแรง เป็นต้น

3) การเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุน (Cost Optimization) หากตัวแปรธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมกระทบต่อการดำเนินงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ หรือแม้แต่กำลังการผลิต ซึ่งเทคโนโลยีขั้นสูงจะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างผลิตภัณฑ์เชิงข้อมูล (Data Product) ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ยกตัวอย่างเช่น การปรับเปลี่ยนแผนการผลิตในทันทีตามอุปสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่าง Machine Learning เพื่อวิเคราะห์ฉากทัศน์การผลิตให้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้ค่าใช้จ่ายที่ต่ำสุด

4) การตอบโจทย์ตลาด (Market Responsiveness) การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่สามารถรุกตลาดได้เร็ว ผู้บริโภครู้จักแบรนด์มากขึ้น และผู้ประกอบการคืนทุนได้ในเวลาระยะสั้น จึงทำให้หลายองค์กรนำเครื่องมืออย่าง Product Lifecycle Management มาใช้ในฝ่ายการออกแบบและวิจัยผลิตภัณฑ์ รวมถึงเครื่องมือการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) เพื่อปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สัมพันธ์กับฝ่ายการผลิตได้แบบไร้รอยต่อ

ส่องเส้นทางสู่ SMART FACTORY ข้ามขีดจำกัดเติมมูลค่าเพิ่มสู่ผู้ผลิตไทย

เดินหน้าสู่การพัฒนา Smart Factory ที่ตอบโจทย์ธุรกิจ

การพัฒนา Smart Factory คือการนำเทคโนโลยีที่จำเป็นมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรม โดยสามารถแบ่งการดำเนินเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ๆ ได้แก่

1. การกำหนดกลยุทธ์ (Strategy)

การวางกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ วิสัยทัศน์เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformation aspiration): ผ่านการสร้างแผนแม่บทที่กำหนดเป้าหมายและดัชนีชี้วัดความสำเร็จซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของ Key Performance Indicator (KPI) หรือ Objective Key Results (OKR); แนวทางสู่การเปลี่ยนแปลง (Transformation strategy): คือการกำหนดขอบเขตงานและวิธีการสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่จำเป็น เช่น หากต้องการติดตามสถานะสินค้าและการจัดส่งอย่างมีประสิทธิภาพอาจเลือกใช้เทคโนโลยี Tagging เพื่อการแสดงผลข้อมูลสินค้าแบบเรียลไทม์บน Dashboard เป็นต้นและ ขีดความสามารถที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลง (Transformation capability): โดยต้องพิจารณาขีดความสามารถที่จำเป็นทั้งในด้านบุคลากร, กระบวนการ, เทคโนโลยี, ข้อมูลและการวิเคราะห์ และนโยบาย

2. การเรียงลำดับการดำเนินงาน (Sequence)

เนื่องจากเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่ Smart Factory นับเป็นภาพใหญ่และเป็นเป้าหมายสูงสุด ดังนั้นควรมีการกำหนดแผนระยะสั้นร่วมกับแผนระยะยาว เพื่อเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ แต่คาดหวังประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยมได้ เช่น การเริ่มต้นทดลองเชื่อมต่อข้อมูลห่วงโซ่อุปทานเข้าสู่ศูนย์กลางและการแสดงผลบน dashboard เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการผลิตและจัดส่งได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเมื่อสามารถดำเนินงานตามแผนระยะสั้นได้สำเร็จก็จะสามารถก้าวไปสู่การดำเนิงานส่วนอื่น ๆ ให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดตามแผนแม่บทได้ไม่ยาก

3. การกำหนดโครงสร้างการทำงาน (Structure)

คือการปรับเปลี่ยนทีมงานเพื่อรับผิดชอบนำแผนงานมาพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับ 4 ตำแหน่งงานหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย เจ้าของผลิตภัณฑ์, ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ, ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล โดยจะเห็นได้ว่า Smart Factory ไม่ได้เน้นการลดจำนวนพนักงาเพื่อแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ในทางกลับกัน บางองค์กรจำเป็นต้องเพิ่มพนักงานเพื่อให้เกิดความสมดุลและเหมาะสมกับเทคโนโลยีที่เลือกใช้

การเปลี่ยนแปลงสู่ Smart Factory ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของภาคธุรกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการผลิตได้อย่างทัดเทียมนานาประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ เพื่อคอยสนับสนุนให้สามารถเริ่มต้นและดำเนินการได้อย่างถูกต้องในทุกขั้นตอนอย่างเป็นระบบ

LiB Consulting ในฐานะที่ปรึกษาของกลุ่มธุรกิจโรงงานจากประเทศญี่ปุ่น เข้าใจถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่สิ่งที่ทันสมัยกว่า พร้อมนำเสนอแนวทางการดำเนินงานที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตได้ในทุกประเภท เพื่อร่วมสร้างความเติบโตทางธุรกิจในฐานะพันธมิตรชั้นเยี่ยมของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเมืองไทยต่อไป