posttoday

ทรูฯ นำร่อง ฟาร์มไก่อัจฉริยะ นครพนม ควบคุมระบบการเลี้ยงผ่านไอโอที

17 มีนาคม 2567

เปิดโมเดล โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน ร.ร.บ้านนาคำ นครพนม ผ่านระบบฟาร์มอัจฉริยะ ควบคุมสภาพแวดล้อมการเลี้ยงผ่านระบบไอโอที ยกเป็นต้นแบบเพื่อการเรียนรู้สู่ชุมชน สร้างรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาโครงข่ายที่รองรับการท่องเที่ยวแล้ว ทรูฯยังได้พัฒนาโครงข่ายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนเมืองรองให้สามารถมีรายได้ที่ยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยีระบบฟาร์มอัตโนมัติ (Farm Automation) และการเกษตรอัจฉริยะสู่ภาคอีสาน โดยมีโครงการนำร่อง คือ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่โรงเรียนบ้านนาคำ (โพนสวรรค์) อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ด้วยฟาร์มไก่ไข่ 150 ตัว สามารถเก็บไข่ได้ 130 ฟองต่อวัน

ระบบฟาร์มอัตโนมัติ ดังกล่าวทำงานผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G และ 4G ของทรูฯ ผ่านอุปกรณ์ไอโอทีในการช่วยดูแลและควบคุมสภาพแวดล้อมที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงไก่ ได้แก่ การควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสง ด้วยระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดและส่งรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์ สามารถควบคุมและสั่งงานได้ผ่านออนไลน์ด้วยสัญญาณ 5G และ 4G ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงไก่และบริหารจัดการฟาร์มได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ฟาร์ม

ทรูฯ นำร่อง ฟาร์มไก่อัจฉริยะ นครพนม ควบคุมระบบการเลี้ยงผ่านไอโอที

โครงการนี้ทรูฯได้ทำโครงการต่อยอดร่วมกับเครือซีพี ที่มีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน การใช้แพลตฟอร์มของทรูฯในการเลี้ยง ทำให้ครูไม่ต้องเดินทางมาดูแลตลอดเวลา สามารถเลี้ยงดูผ่านแพลตฟอร์มได้ และยังสามารถเลี้ยงภายใต้อุณหภูมิที่ควบคุมได้อย่างเหมาะสม อากาศ เช่น การเปิด-ปิด พัดลม การเปิดสปริงเกิลบนหลังคาเพื่อให้มีน้ำระบายความร้อน และ อุณหภูมิของน้ำเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงไก่มาก ไก่ ไม่สามารถกินน้ำร้อนได้ ไม่เช่นนั้นไก่จะตาย 

ทรูฯ นำร่อง ฟาร์มไก่อัจฉริยะ นครพนม ควบคุมระบบการเลี้ยงผ่านไอโอที

นายมนัสส์ กล่าวว่า โครงการนี้ นอกจากเป็นประโยชน์เพื่อนำไข่มาทำอาหารกลางวันแล้ว ยังเป็นการนำเทคโนโลยีที่มีเพื่อฝึกสร้างอาชีพให้กับนักเรียนด้วย นักเรียนและคุณครู จะสามารถมีทักษะในการทำธุรกิจ และการบริหารต้นทุน เพราะไข่ที่เหลือ มีการนำไปจำหน่าย ขณะที่ไก่เมื่อหมดอายุการผลิตไข่แล้ว โรงเรียนก็สามารถเลือกได้ว่าจะเลี้ยงต่อด้วยเงื่อนไขที่ผลผลิตอาจจะน้อยลง และต้องบำรุงมากขึ้น หรือ จะนำไปจำหน่ายกลับมาเป็นรายได้ เพื่อนำมาซื้ออาหารไก่กับเครือซีพีในราคาถูกกว่าท้องตลาด ได้อีกด้วย

ทรูฯ นำร่อง ฟาร์มไก่อัจฉริยะ นครพนม ควบคุมระบบการเลี้ยงผ่านไอโอที

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร กล่าวว่า ทรูฯไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ที่เป็นเพียงการโทร และใช้อินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ทรูฯคือ เทคคอมพานี ที่ต้องนำโซลูชันดิจิทัลมาให้ประโยชน์กับลูกค้าด้วย การใช้ไอโอที ในการเป็นเซ็นเซอร์ควบคุมการเลี้ยงสัตว์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นจุดยืนของทรูในการเป็นเทคคอมพานี

ทรูฯ นำร่อง ฟาร์มไก่อัจฉริยะ นครพนม ควบคุมระบบการเลี้ยงผ่านไอโอที

ด้านนางวิภาวณี บุญศรี ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านนาคำ กล่าวว่า การใช้ระบบฟาร์มอัตโนมัติ ทำให้ไม่ต้องมีคุณครูเฝ้าที่โรงเรือนตลอดเวลา คุณครูที่นี่ส่วนใหญ่มีบ้านอยู่ในพื้นที่ใกล้โรงเรียน ดังนั้น จึงสามารถเลี้ยงไก่ผ่านแพลตฟอร์มได้ ทั้งการเปิด-ปิด พัดลม การเปิด-ปิด ระบบน้ำ มีกล้องเพื่อดูแลความเคลื่อนไหวของไก่ หากเกิดสิ่งผิดปกติ คุณครูก็สามารถเดินทางเข้ามาถึงที่ได้ในเวลารวดเร็ว หรือ สามารถแจ้งนักการภารโรงที่เฝ้าอยู่ที่โรงเรียนได้ 

ทรูฯ นำร่อง ฟาร์มไก่อัจฉริยะ นครพนม ควบคุมระบบการเลี้ยงผ่านไอโอที

สำหรับผลของการเลี้ยงไก่ นอกจากโรงเรียนได้มีไข่เป็นอาหารกลางวันในทุกวันแล้ว ขี้ไก่ ก็ยังเป็นรายได้ที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ สามารถขายได้กิโลกรัมละ 5 บาท โดยเกษตรกรในพื้นที่นิยมนำไปใช้โรยหน้าดินเพื่อให้ดินอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงก็ต้องการนำโมเดลการเลี้ยงไก่ของโรงเรียนไปทำที่บ้านด้วย