posttoday

เกษตรฯเปิดผลงานหนุนเกษตรกรมีรายได้ กระชายขาว-เลี้ยงจิ้งหรีด ป้อนโรงงาน

13 มีนาคม 2567

กระทรวงเกษตรฯโชว์ผลงาน 2 ปี หนุนเกษตรกรปลูกสมุนไพร- แมลงเศรษฐกิจ ป้อนวัตถุดิบมาตรฐานโรงงาน พบเกษตรกรปลูกกระชายขาวมีรายได้เพิ่มเป็น 4,083 บาทต่อไร่ต่อปี เลี้ยงจิ้งหรีด รายได้ 1,907บาทต่อบ่อต่อรุ่น

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้ประเมินผลโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้สามารถผลิตพืชสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและมีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก พบว่า ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา โครงการฯ เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจน โดยในปีงบประมาณ  2565 สามารถดำเนินการได้ 57 จังหวัด พัฒนาองค์ความรู้และทักษะเกษตรกรได้จำนวน 1,750 ราย ครบตามเป้าหมาย

และในปีงบประมาณ 2566 ดำเนินการได้ 65 จังหวัด มีจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 3,367 ราย ครบตามเป้าหมาย โดยโครงการฯ ดำเนินกิจกรรมพัฒนาความรู้และทักษะของเกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้สินค้าเกษตรชีวภาพมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตามเป้าหมายของแผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ

ภาพรวมจากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล พบว่า เกษตรกรทุกรายได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากโครงการในการผลิตสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจ โดยเกษตรกรร้อยละ 84 นำความรู้ที่ได้รับมาใช้ปรับปรุงการผลิตส่งผลให้มีประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น เกษตรฯ หนุนเกษตรกรปลูกสมุนไพร แมลงเศรษฐกิจ ป้อนวัตถุดิบมาตรฐานโรงงาน ,เกษตรฯ หนุนเกษตรกรปลูกสมุนไพร แมลงเศรษฐกิจ ป้อนวัตถุดิบมาตรฐานโรงงานกระชายขาวผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 213 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 233 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10)

เกษตรฯเปิดผลงานหนุนเกษตรกรมีรายได้ กระชายขาว-เลี้ยงจิ้งหรีด ป้อนโรงงาน

จากการเพิ่มการดูแลรักษา คัดเลือกหัวพันธุ์ที่มีอายุเหมาะสมในการปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิตตรงตามช่วงอายุการเก็บเกี่ยว ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการผลิตลดลงจาก 4,560 บาทต่อไร่ เหลือ 4,363 บาทต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 4.32) จากการเตรียมแปลงปลูกอย่างถูกวิธี และใช้หัวพันธุ์ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเกษตรกรสามารถจำหน่ายผลิตได้ราคาสูงขึ้นจาก 15 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 17.50 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17) ส่งผลให้ผลผลิตมีมูลค่าสูงขึ้นสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจาก เดิม 3,195 บาทต่อไร่ต่อปี เพิ่มเป็น 4,083 บาทต่อไร่ต่อปี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 28)

เกษตรฯเปิดผลงานหนุนเกษตรกรมีรายได้ กระชายขาว-เลี้ยงจิ้งหรีด ป้อนโรงงาน

สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น จิ้งหรีดมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 18 กิโลกรัมต่อบ่อต่อรุ่น เป็น 19 กิโลกรัมต่อบ่อต่อรุ่น (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6) จากการปรับเปลี่ยนชนิด ปริมาณ และความสะอาด ของอาหารจิ้งหรีดให้เหมาะสม และเปลี่ยนสายพันธุ์หลังการเลี้ยงไปแล้ว 1 – 3 รุ่น ส่วนค่าใช้จ่ายในการผลิตลดลงจาก 1,239 บาทต่อบ่อต่อรุ่น เหลือ 1,073 บาทต่อบ่อต่อรุ่น (ลดลงร้อยละ 13) จากการปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุในการเลี้ยงที่เหมาะสมและมีราคาถูกลง

เกษตรฯเปิดผลงานหนุนเกษตรกรมีรายได้ กระชายขาว-เลี้ยงจิ้งหรีด ป้อนโรงงาน

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้นจาก 90 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 99 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10) ส่งผลให้ผลผลิตมีมูลค่าสูงขึ้นสร้างรายได้จาก 1,636 บาทต่อบ่อต่อรุ่น เพิ่มเป็น 1,907 บาทต่อบ่อต่อรุ่น (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17) นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังมีการรวมกลุ่มหรือเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตการตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยจากก่อนเข้าร่วมโครงการฯ เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพียงร้อยละ 30 แต่หลังเข้าร่วมโครงการฯ มีการรวมกลุ่มเพิ่มเป็นร้อยละ 62

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจ ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรชีวภาพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการตลาด

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ร่วมพัฒนาโรงแปรรูปวัตถุดิบพืชสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ผลิต โดยมีการสนับสนุนโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ และฝึกอบรมหลักสูตรการแปรรูปสมุนไพรด้วยโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดได้ ซึ่ง สศก. จะได้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ และผลกระทบจากการดำเนินโครงการมานำเสนอต่อไป