posttoday

เจาะประเด็น...บ้าน 1 หลัง สามารถจดบริษัทได้กี่บริษัทกันแน่!

08 พฤษภาคม 2567

การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ที่ตั้งบริษัทเป็นหัวใจหลักสำคัญ โดยผู้ประกอบการมือใหม่ส่วนใหญ่เลือกบ้านเป็นสถานที่ประกอบการเป็นที่แรก และถ้าต้องการเปิดบริษัทเพิ่มมากกว่า 1 บริษัท โดยใช้บ้านเป็นสถานที่ตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการทำงาน สามารถจดทะเบียนได้กี่บริษัท?

          การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท นอกจากเอกสารของกิจการที่ต้องใช้ในการดำเนินการแล้ว สถานที่ประกอบการหรือที่ตั้งบริษัทก็เป็นหัวใจหลักสำคัญในการก่อตั้งกิจการเช่นกัน เพื่อทำให้การจดทะเบียนบริษัทสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีและสมบูรณ์ที่สุด โดยผู้ประกอบการมือใหม่ส่วนใหญ่เลือกบ้านเป็นสถานที่ประกอบการเป็นที่แรก 

          แต่ใครที่จดทะเบียนบริษัทไปแล้ว และต้องการที่จะเปิดบริษัทเพิ่มมากกว่า 1 บริษัท โดยใช้ที่อยู่อาศัยอย่างบ้านเป็นสถานที่ตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการทำงาน และไม่ต้องหาสถานที่ให้วุ่นวาย เมื่อถึงเหตุการณ์ที่ต้องเปิดบริษัทเพิ่มหรือขยายธุรกิจ แต่ไม่รู้ว่าบ้าน 1 หลังสามารถจดทะเบียนได้กี่บริษัท และสามารถทำได้หรือเปล่า ลองมาหาคำตอบได้ดังนี้

ใช้บ้านจดบริษัทมากกว่า 1 บริษัท สามารถทำได้หรือไม่

          การใช้สถานที่พักอาศัยเป็นสถานที่ประกอบกิจการมากกว่า 1 บริษัท โดยปกติแล้วในทางกฎหมายไม่ได้มีการห้ามเอาไว้หรือผิดกฎหมายแต่อย่างใด สามารถประกอบกิจการได้ แต่ในกรณีที่ต้องการจดทะเบียนบริษัทเพิ่มเติมโดยใช้ที่อยู่เดิมนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณีดังนี้

          1.กรณีที่ผู้ประกอบกิจการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย กล่าวคือหากเจ้าของธุรกิจต้องการนำที่อยู่อาศัยของตัวเองไปจดทะเบียนบริษัทสามารถทำได้ และทางกิจการจะต้องมีการลงบันทึกบัญชีในเรื่องของค่าใช้จ่าย รวมถึงภาษีที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

          2.กรณีที่ผู้ประกอบการเช่าบ้านเพื่อใช้จดเป็นบริษัท สามารถกระทำได้ 2 รูปแบบ ดังนี้    

          2.1 เป็นบ้านเช่าของตัวเอง ถ้าผู้จดทะเบียนบริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของบ้าน แต่มีญาติหรือพ่อแม่เป็นเจ้าของบ้านโดยตรง อาจต้องมีการพูดคุยทำความตกลงกันภายในครอบครัวเสียก่อน จากนั้นเจ้าของกิจการที่จดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเช่า และต้องหัก ณ ที่จ่าย 5% เพื่อนำส่งกรมสรรพากร ส่วนญาติหรือพ่อแม่ที่เป็นเจ้าของบ้านก็จะได้รับเป็นรายได้ส่วนตัว ทั้งนี้ต้องมีการจัดทำหนังสือยินยอม และเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ของคนที่เป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งเอกสารที่ต้องใช้ประกอบด้วย บัตรประจำตัวประชาชนผู้ยินยอมที่เป็นเจ้าของบ้าน ทะเบียนบ้าน และหนังสือสัญญาเช่า

          2.2 เป็นบ้านเช่าของคนอื่น การใช้บ้านของคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติหรือเป็นบ้านที่ประกาศให้เช่า สามารถนำไปจดทะเบียนบริษัทมากกว่า 1 บริษัท ได้เช่นกันไม่ได้มีข้อห้ามแต่อย่างใด แต่ที่สำคัญระหว่างการทำสัญญาเช่าด้วยกัน ทางผู้ใช้เช่าจะต้องยินยอมให้ใช้พื้นที่ประกอบกิจการ ทางเจ้าของบริษัท (ผู้เช่า) จึงจะสามารถดำเนินเรื่องของเอกสารเพื่อจดทะเบียนบริษัทต่อไปได้

          ซึ่งเมื่อบริษัทมีการจ่ายค่าเช่า ทางผู้เช่าจะออกใบสำคัญจ่ายพร้อมกับแนบหลักฐานการโอนเงิน (กรณีโอนเงิน) และแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของบ้าน (ผู้ให้เช่า) ซึ่งบริษัทจะทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าเช่าและนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.3 จากนั้นทางบริษัทผู้เช่าจะออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่ จ่าย ให้กับเจ้าของบ้าน และลงบันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายเช่าบริษัท 

          นอกจากนี้หลักในการคิดค่าเช่าบ้านเมื่อเปิดเป็นบริษัทไม่ยากอย่างที่คิด ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของบ้านคิดค่าเช่าเดือนละ 15,000 บาท จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% = 750 เมื่อทางผู้เช่าชำระค่าเช่าเรียบร้อยแล้วเจ้าของบ้านจะได้รับหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย เก็บไว้ไปยื่นภาษีบุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี โดยจะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(5) 

จดบริษัทมากกว่า 1 บริษัทโดยใช้บ้านหลังเดียวกัน มีขั้นตอนอย่างไร

          โดยส่วนมากผู้ประกอบการจะนิยมใช้ที่อยู่อาศัยของตัวเองเปิดบริษัทเพราะสะดวก และสามารถจดทะเบียนบริษัทได้มากกว่า 1 บริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบ้านที่ใช้ในการจดทะเบียนบริษัทหากเป็นบ้านเช่า ก็สามารถจดได้มากกว่า 1 บริษัทเช่นกัน และมีขั้นตอนเหมือนกับที่ใช้บ้านของตนเอง คือ ต้องมีการเซ็นชื่อยินยอมให้ใช้สถานที่จดทะเบียนบริษัทได้ และต้องมีเอกสารของผู้ให้เช่าบ้าน ประกอบด้วย สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และหนังสือสัญญาเช่า 

          นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมก่อนการจดทะเบียนบริษัท คือต้องมีผู้ก่อตั้ง 2 คนขึ้นไป และในส่วนของเอกสารการจดทะเบียนบริษัทปกติ จะต้องเตรียมเอกสารดังนี้ 

          1.คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด (แบบ บอจ.1)
          2.แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด
          3.รายการจดทะเบียนจัดตั้ง (แบบ บอจ.3)
          4.รายละเอียดกรรมการ (แบบ ก.)
          5.บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5)
          6.สำเนาหนังสือนัดประชุมตั้งบริษัท
          7.สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท
          8.สำเนาข้อบังคับ ผนึกอากร 200 บาท (ถ้ามี)
          9.หลักฐานการชำระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น
          10.แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานและสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียง

          กล่าวโดยสรุป จากข้อมูลข้างต้นก็คงทราบกันแล้วว่า บ้าน 1 หลังสามารถจดทะเบียนบริษัทได้หลายบริษัท โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วเจ้าของบริษัทนั้นไม่ค่อยนิยมใช้บ้านจดทะเบียนบริษัทหลายๆ บริษัท เพราะอาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น การแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่าย การจด Vat เป็นต้น หากใครที่กำลังวางแผนทำธุรกิจ ต้องทำการศึกษาข้อดีและข้อเสียให้ดีถ้าจะใช้บ้านจดทะเบียนบริษัทหลายๆ บริษัท 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting