posttoday

“ออมสิน” เดินหน้า CSV สร้างรายได้เพิ่ม แก้หนี้ครัวเรือน ลดเหลื่อมล้ำ

24 กุมภาพันธ์ 2567

“วิทัย รัตนากร” โชว์วิชั่น ปรับธุรกิจเพื่อสังคม ลุย “CSV” เสริมธุรกิจ ควบคู่แก้ปัญหาความยากจน-ลดความเหลื่อมล้ำ ชี้ธนาคารมีกำไร-สังคมดีขึ้น เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ THAILAND NEW ERA” จัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ครบรอบ 44 ปี ณ โรงแรมเซนทราแกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์ ว่า ธนาคารออมสินเดินหน้าเปลี่ยนบทบาทเป็นธนาคารเพื่อสังคม(Social BANK) มาแล้วประมาณ 3 ปี  โดยรับภาระกิจจากรัฐบาลให้ดูแลคนฐานราก หรือคนที่มีรายได้น้อย SMEs และชุมชน สร้างธุรกิจ 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งทำธุรกิจแบงก์ปกติ เอากำไรจากแบงก์ส่วนหนึ่งมาดูแลเพื่อช่วยแก้ปัญหาทางสังคม หลายโครงการตั้งต้นด้วยการขาดทุน เอาธุรกิจใหญ่ไปสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กเชิงสังคม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ช่วยคนได้หลายล้านคน ซึ่งเป็น “Business Model”  ของธนาคารออมสิน ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างแข็งแรง
 

ทั้งนี้ ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรัง รุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นจะเห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาความยากจน ซึ่งที่ผ่านมาเราพยามจะบรรเทาปัญหาเหล่านี้ แต่วันนี้ทั้ง 2 เรื่องนี้ ทำให้เกิดตัวแปร คือ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง กลายเป็นวังวนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งพบว่า ไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำติดอันดับ 6 ของโลก เหลื่อมล้ำในหลายเรื่อง อาทิ ด้านการเงิน การศึกษา สาธารณะสุข และพบว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการเงินมากที่สุด 

 

โดยพบว่า คนกลุ่มฐานรากมีจ่ายสูงกว่ารายได้ 138%  แปลว่า มีรายได้ 100 บาท แต่ใช้เงินจริง 138 บาท ครัวเรือนที่ยากจนกว่าครึ่ง เป็นความยากจนที่เรียกว่า “ความยากจนข้ามรุ่น” คือ คนรุ่นนี้จนแล้ว คนรุ่นหน้าก็ยังจนต่อ เป็นแพทเทิร์น คือ มีการศึกษาไม่มากนัก มีรายได้น้อย และไม่มีเงินออม สุดท้ายก็ต้องกู้เงิน และเป็นหนี้ในที่สุด ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของไทยมีสัดส่วนที่สูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 91% ต่อจีดีพี คนไทยเป็นหนี้เร็ว และยาวนานเกษียณแล้วยังไม่หมดหนี้ สะท้อนการเป็นหนี้เกินตัว เกินความสามาถในการชำระหนี้ ทำให้ส่วนมากเป็นหนี้เสีย ปัจจุบันมีประมาณ 10 ล้านคน และ 42% เป็นหนี้นอกระบบเฉลี่ย 54,000 บาทต่อคน

 

“วิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาเหล่านี้ คือการนำคนเข้าสู่ระบบทางการเงิน ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า ถ้าดึงคนเข้าสู่ระบบทางการเงินได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงสินเชื่อสถาบันการเงิน พบว่า เกือบ 80% มีรายได้จะเพิ่มขึ้น และเกือบ 90% มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะนำสินเชื่อมาสร้างรายได้ที่ดีขึ้น” นายวิทัย กล่าว

 

ดังนั้น ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความยากจนจะแก้อย่างไร ไอเดียนี้นำมาสู่แนวคิดสมัยใหม่ ถ้าเป็นสมัยก่อนก็อาจบอกว่า ทำธุรกิจต้องสร้างกำไรสูงสุด แต่วันนี้เรายืนอยู่ในคอนเซ็ปต์ “Triple Bottom Line” คือ การทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ คน หรือ สังคม และสิ่งแวดล้อม คือ เรื่อง ESG ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน  

 

แต่ขณะนี้ มีอีกแนวคิดหนึ่งที่สร้างขึ้นมา คือ CSV หรือ  Creating Shared Value ซึ่งเป็นแนวคิดที่ ธนาคารออมสินกำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง คือ การทำธุรกิจที่นำปัจจัยทางสังคม หรือสิ่งแวดล้อม มาใส่ในธุรกิจ “สร้าง Value  สร้างกำไร และสร้างรายได้ให้สูงขึ้น” ขณะเดียวกันก็มุ่งลดต้นทุนอย่างรุนแรง และเอากำไรมาช่วยสังคมเพื่อให้ดีขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้จะทำให้ธุรกิจ และสังคมเติบโตไปด้วยกันอย่ายั่งยืน

 

“CSV จะต่างกับ ESG นิดหนึ่ง คือ ESG จะนำปัจจัยแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเข้ามาเป็นองค์ประกอบนการทำธุรกิจ แต่ไม่ได้ทำให้กำไรสูงขึ้น ไม่ได้ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ไม่ทำให้เกิดรายได้ขึ้นมา แต่นำไปสู่ความยั่งยืน แต่จะยั่งยืนมากในระยะยาว เราสามารถนำปัจจัยเหล่านี้ ไปใส่ในธุรกิจ และมันสร้างกำไร รายได้เพิ่มขึ้น คือการทำ CSV ซึ่งจะถาวรและเป็นเรื่องจริง และในระยะยาวช่วยคนในสังคม ได้ด้วยกำไรสูงขึ้นด้วย” นายวิทัย กล่าว 

 

ทั้งนี้ Concept ของ creating Share Value อาจจะเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยน product บางอย่าง ให้ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้วขายของได้มากขึ้นด้วย ตอนนี้ก็มี Concept ของ ESG Marketing คือ เอาเลือกปัจจัยเหล่านี้ใส่เข้าไป Marketing ทำให้มีแบรนด์ดิ้งที่ดีขึ้น ซึ่งออมสินพยายามทำ คือใช้ปัจจัยทางสังคมใส่เข้าไป product Project แล้วก็ process 


ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เจ้าของบริษัทพบว่า หลายประเทศเด็กๆไม่มีรองเท้า เขาจึงได้ทำแคมเปญ ซื้อรองเท้าของเขา เขาจะบริจาครองเท้า 1 คู่ให้เด็กที่ยากจนในประเทศที่ยาก ผลลัพธ์คือขายดี  หรือ ใครปลูกกาแฟในประเทศแอฟริกา นอกจากปรับปรุงกาแฟให้มีคุณภาพดีขึ้นแล้ว ถ้าใครดูแล Family ใครดูแลเด็ก เอาเด็กไปเรียนหนังสือ นำเด็กมาปลูกกาแฟดีๆ จะให้เงิน 100 บาทสิ่งเหล่านี้ทำให้มันมี Value ที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้คนร่วมมาทำดีมากขึ้น และขายของได้มากขึ้นด้วย 


เช่นเดียวกับออมสิน เริ่มจากปรับบทบาทของธนาคารที่เดิมมุ่งเน้นกำไร มาเป็น triple bottom line ซึ่งมุ่งเน้นใน 3 เรื่อง คือ People Planet และ Profit และยังเป็นที่มาแนวคิด ธนาคารเพื่อสังคม รูปแบบใหม่ โดยมียุทธศาสตร์ คือ สร้าง 2 ธุรกิจแยกออกจากกัน ในด้านหนึ่งก็ทำธุรกิจธนาคารปกติ ธุรกิจขนาดใหญ่ เอากำไรจากธุรกิจปกติ ไปทำอีกธุรกิจหนึ่งที่เป็นภารกิจเชิงสังคม

 

"โดย Project ธุรกิจฝั่งสังคม เริ่มต้นขึ้นด้วยการขาดทุน ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำขาดทุน เพื่อสร้างอาชีพให้คน เอากำไรจากธุรกิจใหญ่มาปล่อยสินเชื่อให้คนจนคนฐานราก 1 ล้านคน คนละ 10,000 บาท ก็จะช่วยคนได้มากมาย Balance น้ำหนัก 2 ด้านให้ดี ธุรกิจใหญ่กว่ามีกำไรเยอะ และเอากำไรมาช่วยร้านธุรกิจเล็ก ใช้การลดต้นทุนอย่างรุนแรง โดยในรอบ 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา ออมสินไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ย เราเหมือนต้นไม่ใหญ่ช่วยคนสร้างธุรกิจใหม่ให้กับธุรกิจเล็ก ที่เหมือนต้นไม้เล็ก ช่วยคนแต่ทำกำไรให้สูงขึ้นด้วย" นายวิทัย กล่าว

 

ทั้งนี้ เห็นว่า ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน ช่วยกันทำบนแนวคิด VSC  หวังว่าอย่างน้อยเราจะบรรเทา หรือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยเชื่อว่า ประเทศไทยก็จะก้าวต่อไปได้ด้วยความแข็งแรง