'CheCKD now' ใครป่วยความดันโลหิตสูง ต้องตระหนักรู้โรคไตเรื้อรัง
โครงการ “CheCKD Now” ชี้กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง ควรระวังโรคไตเรื้อรัง จัดการได้ด้วยการตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease หรือ CKD) นับเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2567 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกว่า 1.12 ล้านคน และโรคนี้ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี การเผชิญหน้ากับปัญหาดังกล่าวจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เพื่อสร้างระบบป้องกันและดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เคยมีการเปิดเผยว่า จากสถิติพบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดและวิธีล้างไตทางหน้าท้องอยู่ที่ประมาณ 378,095 บาทต่อรายต่อปี
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาต สุคนธสรรพ์ นายกสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “หนึ่งในพันธกิจหลักของสมาคมฯ คือการลดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรัง ซึ่งในระยะเริ่มแรกมักไม่แสดงอาการใด ๆ แต่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงสร้างภาระทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ การคัดกรองและเฝ้าระวังตั้งแต่ต้นจึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันโรคดังกล่าว"
โพสต์ทูเดย์ ค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า สมาคมโรคไต เคยโพสต์บทความประเด็น ผลกระทบของความดันโลหิตสูงต่อไตว่า ความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบของโรคไต เพราะมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรก เมื่อมีความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานจะทำให้หลอดเลือดในไตตีบ เนื่องจากผนังหลอดเลือดหนาและแข็งขึ้น ส่งผลให้ไตขาดเลือดและเกิดภาวะไตเสื่อมเรื้อรังตามมา
ทั้งนี้ จากข้อมูลศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค เอกสารข้อมูลโรคไตเรื้อรังระดับประเทศปี 2560 เผยว่าภาวะความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุอันดับที่สองของโรคไตเรื้อรัง และเกือบ 1 ใน 5 รายของผู้ใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงเป็นโรคไตเรื้อรัง
ความร่วมมือนำไปสู่การสนับสนุน 'ชุดตรวจคัดกรองไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ'
"โครงการ CheCKD Now" ภายใต้ความร่วมมือของ บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (ไทย) จำกัด ร่วมกับ สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย จึงเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงตระหนักถึงการทำงานของไตและเข้าใจถึงความเสี่ยงของโรคไตเรื้อรังมากยิ่งขึ้น โดยเน้นให้เกิดการคัดกรองตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเพื่อให้ประชาชนเข้าใจในการทำงานของไต และเข้าพบแพทย์เพื่อรับการแนะแนวทางการดูแลตนเองเพื่อชะลอความเสื่อมของไต และลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในอนาคต โดยจะมีการสนับสนุน 'ชุดตรวจคัดกรองไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ' ซึ่งเป็นวิธีการตรวจตัดกรองการทำงานของไตในระยะเริ่มต้นที่สะดวกและประหยัดในการตรวจหาโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะที่ถูกพบในกลุ่มคนที่มีภาวะการทำงานของไตเสื่อมแก่สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย เพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ
ชุดตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ คืออะไร?
ชุดตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ (Microalbuminuria dipstick) เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ตรวจคัดกรองโรคไตระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรัง ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ชุดตรวจดังกล่าวมีความแม่นยำเทียบเคียงกับการตรวจคัดกรองในโรงพยาบาล กล่าวคือมีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 85-95 เนื่องจากตรวจจับโปรตีนอัลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนที่แสดงให้เห็นว่ามีภาวะผิดปกติเกี่ยวกับโรคไตได้อย่างเฉพาะเจาะจง อีกทั้งยังมีวิธีการใช้งานง่ายๆ โดยหน้าตาคล้ายคลึงกับการตรวจ ATK โควิด-19 ที่ประชาชนคุ้นเคย แต่เป็นการตรวจปัสสาวะแทน โดยกลุ่มที่ควรตรวจได้แก่
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
- ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-65 ปี
- บุคคลทั่วไปที่ต้องการทราบสุขภาพไตของตนเอง
ตามปกติวิธีการตรวจ มีขั้นตอนได้แก่
- เก็บตัวอย่างปัสสาวะที่ต้องการลงในภาชนะสะอาด ซึ่งแนะนำให้เก็บในเวลาเช้า และไม่ควรดื่มน้ำก่อนการตรวจ
- ใช้หลอดหยดดูดปัสสาวะตัวอย่างหยดลงในช่องทดสอบ ซึ่งแถบทดสอบต้องวางบนพื้นราบ โดยหยดจำนวน 3 หยด รออ่านผล 10 นาที
- รอให้แถบสีปรากฎและอ่านผล ซึ่งไม่ควรรอนานเกิน 20 นาที และเปรียบเทียบผลกับคู่มือการใช้งานว่าผิดปกติหรือไม่
- หากผิดปกติ แนะนำให้ไปพบแพทย์ และเข้ารับการตรวจเบื้องต้นจากแพทย์เพิ่มเติม ส่วนผู้ที่ไม่พบความผิดปกติสามารถตรวจซ้ำได้ทุกปี
อย่างไรก็ตามชุดตรวจจะมีราคาสูงซึ่งอาจทำให้ผู้มีปัจจัยเสี่ยงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงชุดตรวจดังกล่าว จึงนำมาสู่การเกิดขึ้นของโครงการที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงสามารถเข้าถึงการคัดกรองก่อนที่ 'ไตพัง' ได้อย่างรวดเร็ว