คำนวณ 'บำนาญชราภาพ' ประกันสังคมแบบใหม่ อย่างไรให้เข้าใจง่าย?
โพสต์ทูเดย์ ถอดสูตรคำนวณ 'บำนาญชราภาพ' ประกันสังคมรูปแบบใหม่ทั้งมาตรา 33 และ 39 จะได้เงินเท่าไหร่กันแน่ และมีข้อแตกต่างอย่างไร
บอร์ดประกันสังคมมีมติเห็นชอบ 'สูตรบำนาญชราภาพ' แบบใหม่ที่เรียกว่าสูตร CARE ที่เน้นความเป็นธรรมแก่ผู้ประกันตนทั้งกลุ่มมาตรา 33 และมาตรา 39 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ออกจากงานประจำและมาจ่ายสมทบเองภายหลัง โดยคาดว่าจะมีผล 1 มกราคม 2569 นั้น
สำหรับใครที่สงสัยว่าความต่างกันของระบบใหม่และเก่า รวมไปถึงจะได้เงินบำนาญชราภาพเท่าไหร่กันแน่ โพสต์ทูเดย์มีคำตอบ
ข้อแตกต่างระหว่างแบบเก่าและแบบใหม่
มาตรา 33 / 39 เดิม
1. ไม่คิดเศษเดือน เช่น ส่ง 30 ปี 5 เดือน ก็ยังคิดเป็น 30 ปี
2. คำนวณเฉลี่ยจาก 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ
ผลที่ได้รับ
1. ผู้ที่ลาออก หรือออกจากงานประจำและเลือกส่งต่อมาตรา 39 ซึ่งให้ส่งบนฐานเงินเดือนเพียง 4,800 บาท จะทำให้ได้เงินบำนาญต่ำเพราะคำนวนจาก 60 เดือนสุดท้าย ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ตอนที่ทำงานประจำจะส่งเงินเข้าประกันสังคมมากกว่านี้ก็ตาม
2. ประเทศไทยไม่เคยปรับเพดานค่าจ้างส่งประกันสังคม ยึดที่ 15,000 บาท ทำให้ผู้ประกันตนส่งแค่ 750 บาท/เดือนมาโดยตลอด ทำให้เงินเกษียณที่ได้รับน้อย
มาตรา 33 /39 ใหม่
1. คิดเศษเดือนด้วย
2. คำนวนจากทุกเดือนที่ส่งสมทบมา
3. ปรับเพดานเป็น 17,500 บาท ในปี 2569
4. สามารถปรับค่าเงินเดือนให้มีค่าเป็นปัจจุบัน และมีการคำนวน เช่น ถ้าปรับ 5% ก็เป็น 15,750
5. ถ้าคำนวณด้วยสูตรใหม่แล้วได้มากขึ้น ก็ปรับให้เพิ่มทันที แต่ถ้าสูตรเก่าให้บำนาญมากกว่า จะคำนวณแบบผสม
ผลที่ได้รับ
1. มีการปรับค่าเงินเป็นปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในมาตรา 33 ตลอดชีพได้รับเงินบำนาญมากขึ้น
2. ปรับเพดานเพิ่มขึ้น ส่งให้เงินเกษียณชราภาพเพิ่มขึ้นในวัยชรา
3. คนที่อยู่มาตรา 39 หลังจากออกจากงานประจำซึ่งเคยส่งมาตรา 33 มาก่อนจะมีความเป็นธรรมในการคำนวณเงินบำนาญ เพราะไม่ต้องคิดที่ 60 เดือน
4.ผู้ที่งานประจำเงินเดือนสูงในปีท้ายๆ เท่านั้น จากเดิมที่จะได้เงินบำนาญมากเพราะคิดแค่ 60 เดือน ก็จะไม่สามารถเอาเปรียบระบบได้ เพราะรูปแบบใหม่จะคำนวนทั้งระบบ
วิธีคำนวณบำนาญชราภาพ
ผู้ที่อยู่มาตรา 33 ตลอดจนเกษียณ
- เพดานขยับเป็น 17,500 ในปี 2569 อาจจะทำให้บำนาญขยับขึ้น 6%
- มีการขยับเล็กน้อยของเงินที่ได้เนื่องจากมีการคำนวนอัตราเงินเฟ้อเข้าไป เช่น ถ้าปรับ 5% ฐานเงินเดือนแม้ในอดีตจะส่งเงินโดยคำนวณที่ 15,000 บาท แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วอาจจะคำนวณเงินบำนาญที่ 15,750 บาท
ผู้ที่อยู่มาตรา 33 และออกจากงานมาส่งมาตรา 39 ต่อ
ตัวอย่างการคำนวน นาย A ทำงานและส่งประกันสังคมมาตรา 33 มาแล้ว 30 ปี จากนั้นไม่ได้ทำงานประจำแต่ส่งมาตรา 39 ต่อเนื่องมาอีก 5 ปี
สูตร
เงินบำนาญพื้นฐาน = 20% × ฐานเงินเดือน
เงินบำนาญเพิ่มเติม = จำนวนปีที่ส่งเกิน 15 ปี × 1.5% × ฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่ปรับแล้ว
เงินบำนาญรวม = เงินบำนาญพื้นฐาน + เงินบำนาญเพิ่มเติม
สูตรเดิม
เงินบำนาญพื้นฐานคิดที่ 60 เดือน ทำให้คนในกลุ่มนี้ถูกคิดเงินพื้นฐานเพียง 4,800 บาท
คำนวน
เงินบำนาญพื้นฐาน = 20% × ฐานเงินเดือน
เงินบำนาญพื้นฐาน: 20% × 4,800 = 960 บาท
เงินบำนาญเพิ่มเติม = จำนวนปีที่ส่งเกิน 15 ปี × 1.5% × ฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่ปรับแล้ว
เงินบำนาญเพิ่มเติม: 20 ปี × 1.5% × 4,800 = 1,440 บาท
เงินบำนาญรวม = เงินบำนาญพื้นฐาน + เงินบำนาญเพิ่มเติม
เงินบำนาญรวม: 960 + 1,440 = 2,400 บาท
สูตรใหม่
เงินบำนาญพื้นฐานคิดเฉลี่ยตลอดการส่ง ทำให้คนในกลุ่มนี้จากเดิมที่ถูกคิดเงินพื้นฐานเพียง 4,800 บาท จะได้มากกว่านั้นเนื่องจากมีการส่งมาตรา 33 ก่อนหน้านี้ที่คิดบนฐานเงินเดือนมากกว่า 4,800 บาท
สมมติให้ฐานเงินเดือนเมื่อคำนวณใหม่อยู่ที่ 10,000 บาท
คำนวน
เงินบำนาญพื้นฐาน = 20% × ฐานเงินเดือน
เงินบำนาญพื้นฐาน: 20% × 10,000 = 2,000 บาท
เงินบำนาญเพิ่มเติม = จำนวนปีที่ส่งเกิน 15 ปี × 1.5% × ฐานเงินเดือนเฉลี่ยที่ปรับแล้ว
เงินบำนาญเพิ่มเติม: 20 ปี × 1.5% × 10,000 = 3,000 บาท
เงินบำนาญรวม = เงินบำนาญพื้นฐาน + เงินบำนาญเพิ่มเติม
เงินบำนาญรวม: 2,000 + 3,000 = 5,000 บาท
ทำให้นาย A ได้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้นจากเดิม 2,400 บาทเป็น 5,000 บาท
สำหรับการบังคับใช้สูตรใหม่จะเริ่มในเดือนมกราคม 2569 พร้อมกับการปรับเพดานค่าจ้าง โดยคาดว่าจะมีผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ปีละประมาณ 100,000 คน จากทั้งหมดที่มีผู้ประกันตนจำนวน 800,000 คน.