posttoday

'7 นวัตกรรมทางการแพทย์' ฝีมือนักวิจัยไทย สร้างรายได้ SMEs กว่า 321 ล้าน!

10 กุมภาพันธ์ 2568

เปิด '7 นวัตกรรมทางการแพทย์' ฝีมือนักวิจัยไทย ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ หรือบัตรทอง 30 บาท เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการรักษา ล่าสุดมีผู้ป่วยที่รับประโยชน์กว่า 105,000 คน สร้างรายได้ให้ SMEs กว่า 321 ล้านบาท

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช. สนับสนุนผลงานของนักวิจัยและบริษัทไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำนวัตกรรมที่ได้รับการบรรจุในบัญชีนวัตกรรมไทยเข้าสู่สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)

“การนำนวัตกรรมของไทยเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ในราคาที่เหมาะสม ทั้งยังช่วยลดต้นทุนบริการสุขภาพ สร้างตลาดให้กับนวัตกรรมไทย เสริมสร้างศักยภาพของ SME ให้มีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ปัจจุบันมีการเปิดเผยจาก สปสช. ว่ามีผู้ป่วยกว่า 105,000 คน ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมทั้งหมดนี้ สามารถสร้างรายได้ให้ SMEs กว่า 321 ล้านบาท โดย เมื่อวันที่ 28 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการนำ 7 นวัตกรรมทางการแพทย์ไปจัดนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมการแพทย์ไทย ในระหว่างงานประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (PMAC) ประจำปี 2568 ประกอบด้วย

 

 

เท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace)

 

เท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace)

พัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกบรรจุเข้าสู่สิทธิประโยชน์เมื่อเดือน มีนาคม 2567 ทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงเท้าเทียมที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ที่มีคุณสมบัติและความอ่อนนุ่มคล้ายคลึงกับเท้าธรรมชาติ 

 

ชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-ATK)

 

ชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-ATK)

พัฒนาโดยสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งสามารถตรวจหาการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับได้ภายใน 15 นาที ป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นมะเร็งที่อันตรายถึงชีวิต

 

แผ่นปิดกะโหลกศีรษะผลิตจากไทเทเนียม

 

แผ่นปิดกะโหลกศีรษะผลิตจากไทเทเนียม

สปสช.ได้บรรจุแผ่นปิดกะโหลกศีรษะผลิตจากไทเทเนียมเข้าสู่สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยนวัตกรรมนี้พัฒนาโดยบริษัทเมติคูลี่ จำกัด ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และมหาวิทยาลัยมหิดล และมีผู้ป่วยที่ต้องการกะโหลกศีรษะเทียมมากถึง 7,000-20,000 คน

ทั้งยังมี สิทธิประโยชน์ แผ่นปิดกะโหลกศีรษะผลิตจาก ผลิตจากวัสดุ Polymethylmethacrylate ด้วยการพิมพ์ 3 มิติ คิดค้นโดยบริษัท คัสตอมไมซ์ เทคโนโลยี จำกัดทำให้ลดเวลาและเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดกะโหลกศีรษะ

 

ถุงทวารเทียม

 

ถุงทวารเทียม

เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถขับถ่ายของเสียได้เองตามช่องทางปกติ โดยเฉพาะเป็นผลพวงจากการป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในไทย  ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวต้องใส่อุปกรณ์ถุงทวารเทียม หรือชุดรองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม (Colostomy Bag) ตลอดเวลา ทำให้ปริมาณที่ต้องใช้มีจำนวนมากในแต่ละปี ที่ผ่านมาไทยได้นำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งไม่มีงบเพียงพอในการจัดซื้อ จึงได้มีการคิดค้นและพัฒนาขึ้น โดยใช้วัสดุเป็นยางพาราธรรมชาติ โดยมีการนำมาใช้ในระบบสิทธิประกันสุขภาพแล้วตั้งแต่ปี 2562 

 

วัคซีนป้องกันโรคไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (Pertussis (acellular): aP

 

วัคซีนป้องกันโรคไอกรน ชนิดไร้เซลล์ (Pertussis (acellular): aP

พัฒนาโดยบริษัทไบโอเนท ได้บรรจุเข้าสิทธิประโยชน์บัตรทองสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 จากข้อมูลระบาดวิทยาของโรคไอกรนพบว่าแนวโน้มของผู้ป่วยรายงานโรคไอกรนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ยังไม่ได้รับหรือได้รับวัคซีนที่มีส่วนประกอบของโรคไอกรนไม่ครบถ้วน สำหรับการป้องกันโรคไอกรนในเด็กเล็กนั้น มาตรการหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ การให้วัคซีนที่มีส่วนประกอบของโรคไอกรนแก่หญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนที่แม่สร้างขึ้นถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์  

 

รากฟันเทียม

 

รากฟันเทียม

รากฟันเทียมที่พัฒนาโดยมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยกว่า 10,000 คนเข้าถึงบริการฝังรากฟันเทียมภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ดำเนินการเมื่อเดือน ต.ค. 2565 จากเดิมที่ผู้ป่วยไม่สามารถจ่ายให้กับรากฟันเทียมนำเข้า ซึ่งมีราคาประมาณ 50,000-120,000 บาทต่อซี่

 

\'7 นวัตกรรมทางการแพทย์\' ฝีมือนักวิจัยไทย สร้างรายได้ SMEs กว่า 321 ล้าน!

 

ด้าน ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS กล่าวว่า TCELS ได้ร่วมกับ สปสช. ในการสนับสนุนนวัตกรรมการแพทย์ไทยให้สามารถขยายตัวในเชิงพาณิชย์ พร้อมกับการสร้างประโยชน์ต่อสังคม 

“การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทย แต่ยังลดการพึ่งพาเทคโนโลยีการแพทย์ที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ขณะเดียวกันยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วยและอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศ” ดร.จิตติ์พร กล่าว