posttoday

ข้อสงสัยยอดฮิต! LGBTQ+ แต่งงานแล้ว ถ้ามีแฟนต่างชาติได้สัญชาติไทยหรือไม่?

20 กันยายน 2567

นัยนา สุภาพึ่ง นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ ตอบข้อสงสัยยอดฮิต ชาว LGBTQ+ หลังกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน คู่สมรสต่างชาติจะได้สัญชาติไทยหรือไม่? สามารถรับลูกบุญธรรมได้หรือเปล่า?

วันนี้ (20 กันยายน 2567 ) นัยนา สุภาพึ่ง นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ ตอบข้อสงสัยยอดฮิตของชาว LGBTQ+ กับประเด็นสมรสเท่าเทียม ในงานแถลงข่าว “เตรียมพร้อมแต่งงาน : นับถอยหลังวันจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม” จัดโดย Bangkok Pride 

 

นัยนา สุภาพึ่ง กับประเด็นยอดฮิตเพื่อเตรียมประเทศไทยสู่กฎหมายสมรสเท่าเทียม

 

  • ข้อสงสัย 1 : คู่สมรสต่างชาติจะได้สัญชาติไทยหรือไม่?

นัยนา สุภาพึ่ง นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ ตอบข้อสงสัยในประเด็นนี้ หาก LGBTQ+ สามารถจดทะเบียนสมรสได้แล้วว่า

“ การที่เราจะให้คู่สมรสของเราได้สัญชาติไทยข้อนี้มีเงื่อนไข ปัจจุบันในขณะที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่ถูกประกาศใช้ และกฎหมายสมรสยังใช้คำว่าหญิงและชายอยู่นั้น มีเงื่อนไขในกฎหมายลำดับรองว่า หากผู้หญิงที่เป็นชาวต่างชาติแต่งงานและอยากถือสัญชาติไทย ต้องพูดภาษาไทยได้

โดยบริบทคือถ้าพูดภาษาไทยไม่ได้จะเลี้ยงลูกไม่ได้ ซื้อกับข้าวไม่เป็น คุยกับเพื่อนข้างบ้านไม่ได้ มีอะไรที่น่าขบขันอย่างนี้อยู่

และเมื่อย้อนไปในอดีต เราจะพบว่าก่อนหน้านี้เราได้มีการแก้ไขกฎหมายที่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างหญิงและชายไปเยอะแล้ว อย่างเช่น ผู้หญิงไทยเวลาแต่งงานกับต่างชาติเราไม่สามารถให้ลูกมีสัญชาติไทยได้ ในขณะที่ผู้ชายไทยแต่งงานกับภรรยาชาวต่างชาติ แม้ลูกจะเกิดในขั้วโลกเหนือและไม่เคยเหยียบแผ่นดินไทย แต่สามรถถือสัญชาติไทยได้ นี่คือกฎหมายแต่ก่อนที่มีการต่อสู้และแก้ไขมาตามลำดับ

 

จะเห็นว่าร่องรอยการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศในเรื่องดังกล่าวนั้นมีอยู่ ไม่ใช่เฉพาะแค่ LGBTQ+ แต่ผู้หญิงก็ถูกเลือกปฏฺิบัติมาช้านาน เพราะว่าประมวลกฎหมายแพ่งและอาญาถูกเขียนขึ้นในบริบทสังคมในอดีตที่ให้คุณค่าของมนุษย์และคุณค่าของเพศต่างกัน

 

กลับมาที่การแต่งงานระหว่างหญิงชาย ถ้าผู้ชายไม่จำเป็นต้องพูดภาษาไทยได้ก็สามารถขอสัญชาติได้ เพราะถือว่าผู้ชายทำมาหาเงินเก่ง มาแต่งงานกับผู้หญิงไทยต้องมีเงิน เลี้ยงภรรยาได้ แต่ในข้อเท็จจริงคดีครอบครัวเยอะมากที่ภรรยาเป็นคนเลี้ยงดูสามี

นั่นคือข้อสังเกตที่อยากชี้ให้เห็นถึงร่องรอยความไม่เท่าเทียมดังกล่าว ซึ่งเราคิดว่าหากมีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม และมีการแก้ไขการเรียกคู่สามี-ภรรยา เป็นคู่สมรสแล้วเนี่ย จะมีการแก้ไขตัวบทกฎหมายนี้

ซึ่งหากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านก็ต้องพ่วงมาที่กฎหมายข้อนี้ คิดว่าจะเป็นอานิสงส์อย่างมากต่อหญิง-ชาย เพราะว่าถ้าทันที่ที่คำว่า ‘คู่สมรส’ ถูกบังคับใช้ กฎหมายสัญชาติก็จะเปลี่ยน เพราะคู่สมรสไม่ได้ตัดสินว่าใครเป็นชายหรือหญิงอีกต่อไป ซึ่งระยะเวลาก็น่าจะอีก 180 วัน หลังจากที่เราเริ่มจดทะเบียนสมรสกันได้”

 

อย่างไรก็ตามคุณนัยนากล่าวว่า นอกจากเงื่อนไขการพูดภาษาไทยได้ ก็ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ อีกที่ต้องไปศึกษาหากคู่สมรสอยากจะเปลี่ยนสัญชาติ

 

ข้อสงสัยยอดฮิต! LGBTQ+ แต่งงานแล้ว ถ้ามีแฟนต่างชาติได้สัญชาติไทยหรือไม่?

 

  • ข้อสงสัยที่ 2 : รับบุตรบุญธรรมได้หรือไม่

นัยนา สุภาพึ่งให้ความกระจ่างในประเด็นนี้ว่า แม้จะไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแต่ LGBTQ+ สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้

 

“ก่อนหน้านี้ LGBTQ+ ก็ถือเป็นพลเมือง สามารถขอรับบุตรบุญธรรมได้ทุกคน เพียงแต่ผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องอายุห่างจากบุตรบุญธรรม 15 ปี

 

แต่ว่าถ้าหากเป็น LGBTQ+ แต่เดิมแม้เราจะมีคู่ของเรา และมีเจตจำนงที่จะมีบุตรบุญธรรม แต่ว่าเวลาที่จดทะเบียนบุตรบุญธรรม บุตรคนดังกล่าวจะกลายเป็นบุตรของคนที่จดเพียงคนเดียว ไม่สามารถรับอุปถัมภ์ร่วมกันได้

 

เพราะฉะนั้นพอกฎหมายเป็นแบบนี้ มันก็ไม่เป็นครอบครัว เวลาพาลูกไปโรงเรียนจะมีปัญหาว่าต้องรอคนนั้นมากรอกเอกสาร หรือใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะโรงพัก ที่ว่าการอำเภอ โรงเรียน มีปัญหาหมด แต่ทันทีที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม การจดทะเบียนสมรสที่จะเกิดขึ้นทำให้ LGBTQ+ สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้

 

และนี่คือสองคำถามยอดฮิตที่ถูกถามโดย LGBTQ+ และถูกตอบอย่างเคลียร์คัทกระจ่างแจ้ง ในุมมของกฎหมาย ที่โพสต์ทูเดย์นำมาฝากกัน!