คนไทยพร้อมหรือยัง? เมื่อเราถึงยุคที่ต้องอยู่กับภัยพิบัติธรรมชาติให้ได้!
สำรวจตนเองผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ อาจารย์สันติ ภัยหลบลี้ หรือเจ้าของเพจ 'มิตรเอิร์ธ' เมื่อถึงวันที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งน้ำท่วม-ดินถล่ม มาจ่ออยู่ตรงหน้า แต่ละคนมีความรู้ว่าบ้านตนเองเสี่ยงภัยหรือยัง? เพื่อ 'ความอยู่รอด' ในยุคที่คนไทยต้องอยู่กับภัยพิบัติให้เป็น!
ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ห้ามให้เกิดไม่ได้! มนุษย์จึงพัฒนาเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะคาดการณ์ ตรวจสอบ และบริหารจัดการ เพื่อผลลัพธ์คือความสามารถที่จะอยู่กับภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้ให้ดีที่สุด!
โพสต์ทูเดย์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของเพจ มิตรเอิร์ธ ที่มีการออกมาให้ข้อมูลในช่วงเกิดภัยพิบัติทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจมาโดยตลอด ประเด็นหนึ่งที่โดดเด่นคือการแสดงแผนที่เส้นทางน้ำ และคาดการณ์ดินถล่มทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้สำรวจว่าพื้นที่ที่ตนอาศัยนั้นตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงหรือไม่!
อาจารย์สันติ กล่าวว่าตนเองไม่ได้คิดว่า ประชาชนจะต้องย้ายบ้าน หรือถูกให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากเข้าใจถึงเรื่องปากท้องของประชาชน และพื้นที่ทำกิน ซึ่งตลอดชีวิตอาจจะเจอภัยพิบัติแค่ไม่กี่ครั้ง แต่ที่ผ่านมาพื้นที่ทำกินดังกล่าวให้ประโยชน์แก่พวกเขาได้มากกว่า ก็เคารพที่จะอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
" ถ้าต้องย้ายทุกคนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ญี่ปุ่นคงต้องย้ายทั้งเกาะ เพราะมีทั้งภูเขาไฟ แผ่นดินไหว สึนามิ ประเด็นสำคัญคือ ประเทศญี่ปุ่นสามารถอยู่กับภัยพิบัติได้อย่างเป็นมิตร ... ในทางวิชาการจะพูดว่า จะทำตัวอย่างไรไม่ให้เปราะบาง"
ความเปราะบางในที่นี่ อาจารย์สันติ อธิบายผ่านนิทานเรื่องลูกหมู 3 ตัว ที่สร้างบ้านด้วยวัสดุคนละชนิดกันเพื่อป้องกันหมาป่า เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น บ้านเรือนของชาวญี่ปุ่นแข็งแรงมากพอที่จะทนกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในระดับ 7-8 ริกเตอร์ได้สบาย!
สำหรับประเทศไทย ก่อนอื่นประชาชนต้องเรียนรู้และศึกษาว่าพื้นที่ของตนเองนั้นมีความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
" ธรรมชาติไม่ได้ซับซ้อน ง่ายๆ คือน้ำมาจากร่องเขา ตรงไหนเป็นปากร่องเขาก็ต้องปักหมุดไว้ ตรงไหนเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ถ้าตกเต็มลุ่มน้ำตรงไหน ทางเข้าออกจะมีอยู่กี่ทาง หรือทางเดียว หากเราสร้างบ้านอยู่ตรงนั้นก็ต้องโดนอยู่แล้ว ซึ่งเข้าใจว่าแผนที่เหล่านี้หากเป็นประชาชนทั่วไปอาจจะดูไม่ออก เขาไปซื้อที่สร้างบ้านตรงนั้นเพราะสวยก็ได้ เพราะฉะนั้นผมจึงโพสต์แผนที่ต่างๆ ไว้ในเพจมิตรเอิร์ธ "
หากใครเข้าไปในเพจ จะพบว่าได้มีการอัปโหลดแผนที่ที่แสดงร่องน้ำ หรือความสูงของพื้นที่ในแต่ละจังหวัดเอาไว้ให้ประชาชนได้ศึกษา ว่าพื้นที่ของตนนั้นมีความเสี่ยงไหม หรืออยู่ในระดับใด
" อย่างที่ริมโขง หลายบ้านอยู่ในร่องน้ำเลย แต่ตอนที่น้ำมันน้อยมันไหลไม่เต็มร่องเฉยๆ แต่ถ้าน้ำมามากยังไงก็ต้องท่วมอยู่ดี ซึ่งที่ผ่านมาแม่น้ำโขงในบริเวณนั้นมีน้ำไม่เต็มร่องยาวนานมาอาจจะหลายสิบปีแล้วก็ได้ จนมีบ้านไปตั้งอยู่ "
" หลายที่มากเลยนะครับที่มันเป็นที่ลุ่มต่ำที่รวมน้ําเวลาฝนตกมากแต่มันไม่มีร่องน้ําให้เห็น พื้นที่ของเราที่เห็นเรียบๆ ที่เราเดินไปเดินมา ข้อมูลภูมิประเทศมันบอกว่าตรงไหนเป็นที่ต่ำหรือเป็นที่สูง หรือธรรมชาติแล้วน้ําไหลจากไหนไปไหน "
อีกประเด็นที่อาจารย์สันติฝากไว้ให้ศึกษาพื้นที่ของตนคือเรื่อง ธรณีพิบัติภัย
ธรณีพิบัติภัย คือ ภัยธรรมชาติที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยา เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ หลุมยุบ ดินถล่ม หิมะถล่ม ภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น ถือเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันและรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ
"ภัยพิบัติเหล่านี้ส่งผลในวงกว้าง หากคุณอยู่ใกล้ทะเลอันดามัน คุณต้องมีความรู้เรื่องโอกาสการเกิดสึนามิ หากอยู่ที่กาญจนบุรี คุณต้องศึกษาเรื่องรอยเลื่อนและแผ่นดินไหว ... ยกตัวอย่างเช่นเผ่ามอแกน ตอนที่เกิดสึนามิ พวกเขารู้ว่าหากทะเลมีความผิดปกติ พวกเขาต้องวิ่งขึ้นที่สูง" อาจารย์สันติระบุ
เผ่ามอแกนจะรู้จักสึนามิ ในชื่อ 'ละบูน' โดยผู้เฒ่าผู้แก่ชาวมอแกนจะเตือนตลอดว่าให้ระวังละบูน พอเห็นน้ำขึ้น-ลง ผิดสังเกตก็รีบวิ่งขึ้นที่สูงทันที
นี่เป็นอีกบทเรียนหนึ่ง ที่ทำให้รู้ว่า การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในปัจจุบันนั้นจำเป็นจะต้องมีข้อมูลทางธรณีวิทยา และอื่นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ หรือหากใครมีบ้านแล้วก็ต้องศึกษาความรู้ หาวิธีการ และตระเตรียมเพื่อลดความเสียหายจากภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น! ซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่ต้องรอว่าผู้เฒ่าจะเล่าว่าอย่างไร แต่เรามีเทคโนโลยีที่จะช่วยพยากรณ์ หรือให้ข้อมูลได้ดี!
- ภัยพิบัติต่ำ ความเสี่ยงสูง
อีกประเด็นที่น่าสนใจในการพูดคุยกับอาจารย์สันติในครั้งนี้คือ อาจารย์บอกว่า ปัจจุบันเราจะเห็นเหตุการณ์ 'ภัยพิบัติต่ำ ความเสี่ยงสูง' มากขึ้น
ภัยพิบัติต่ำ ความเสี่ยงสูง คืออะไร?
" สมมติว่าเกิดรอยเลื่อนที่ดุมากเลยที่แก่งกระจาน แต่ไม่มีคนอยู่อาศัยเลยตรงนั้น นี่คือภัยพิบัติสูง ความเสี่ยงต่ำ .. แต่ขณะเดียวกันรอยเลื่อนเบามากเลยที่สีลม อันนี้คือภัยพิบัติต่ำแต่ความเสี่ยงสูง"
โดยสรุปแล้ว อาจารย์สันติบอกกับเราว่า ภาพข่าวที่เราเห็นว่ามันรุนแรงมากขึ้น หากจะกล่าวว่าภัยพิบัติรุนแรงขึ้นหรือไม่ อาจารย์มองว่าปัจจัยมาจากการขยายของเมือง เป็นสำคัญ
"ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน แม่สายหรือภูเก็ตอาจจะไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ขนาดนี้ แต่เมื่อเมืองเกิดการขยายตัวทำให้มนุษย์อยู่ใกล้ชิดภัยธรรมชาติ ทำให้เราได้รับผลกระทบที่มากขึ้นด้วย อย่างแม่สายหากซูมดูในกูเกิ้ลเอิร์ธจะพบว่า บ้านค่อยๆ ขยายตัวและยัดไปอยู่ในแถบร่องเขา ซึ่งมันเหมือนปากเสือ
สภาพของพื้นที่น้ำท่วมในแม่สายเหมือนที่ น้ำก้อ เพชรบูรณ์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเยอะมากในคราวนั้น เพราะเห็นดินโคลนหลากลงมาชัดเจน เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่หน้าเขาบริเวณร่องเขาพอดี เวลาน้ำมันตกลงบนภูเขาและไหลลมาเต็มท่อ จึงทะลักออกมา จึงเห็นว่ามีเศษไม้ มีอะไรกับน้ำที่หลากมาท่วม"
ย้อนไปในปี 2544 ภัยพิบัติที่ "บ้านน้ำก้อ" อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ทำให้ผู้เสียชีวิตกว่า 136 ราย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากปริมาณน้ำฝนสะสมในอำเภอเขาค้อ อำเภอหล่มสัก และอำเภอวิเชียรบุรี
ท้ายสุด อาจารย์สันติ ภัยหลบลี้ กล่าวว่า การจะตั้งบ้านอยู่ที่ไหนเป็นสิทธิของบุคคล ถ้ารับความเสี่ยงส่วนตัวได้ เพียงแต่อยากให้ตระหนักด้วยว่า หากสิ่งก่อสร้างของเราไปขวางทางน้ำหลักและทำให้คนอื่นเดือดร้อนชัดเจน ก็ต้องรับผิดชอบในฐานะของประชากรคนหนึ่งของสังคมด้วยเช่นกัน.
ขอขอบคุณ
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของเพจ มิตรเอิร์ธ