ย้อนไทม์ไลน์ 48 ปี เส้นทางหญิงเหล็กในทำเนียบ สู่ยุคครม.นารีผงาด!
โพสต์ทูเดย์พาย้อนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยกว่า 48 ปี ใครคือผู้หญิงคนแรกที่ได้เข้าร่วมครม. ใครดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด รู้หรือไม่แนวคิดท่าเรือแหลมฉบังมาจากผู้หญิง มาจนถึงวันเปิดรายชื่อ ‘8 หญิงเหล็ก’ ครม.นายกอิ๊งค์ ยุคของนารีผงาด!
This is a man world! ประโยคนี้ยังใช้ได้ดี โดยเฉพาะในแวดวงการเมือง เพราะดูเหมือนสถิติในปี 2022 มีรัฐมนตรีหญิงทั่วโลกรวมประมาณ ร้อยละ 21.9 ของรัฐมนตรีทั้งหมด ซึ่งเท่ากับจำนวนประมาณ 1,038 คน จากทั้งหมด 4,739 คน ในรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประเทศไทยก็เช่นกัน คนไทยเพิ่งมีรัฐมนตรีหญิงอยู่ในคณะรัฐบาลไม่นานนี้ ย้อนไปได้แค่ 48 ปีเท่านั้น และจำนวนแต่ละครั้งก็ไม่เคยเกิน 4 คน!
แต่เมื่อวาน ปรากฎการณ์ ครม.นายกอิ๊งค์แต่งตั้งผู้หญิงถึง 8 คนขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ น่าสนใจไม่น้อย เพราะนี่จัดว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีจำนวนผู้หญิงที่ถูกแต่งตั้งดำรงตำแหน่งรมว.ในกระทรวงต่างๆ มากที่สุด! และนับเป็นเกือบร้อยละ 25 ของครม.ชุดปัจจุบัน
ยิ่งไปกว่านั้นการดำรงตำแหน่งของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของไทย ยังจัดได้ว่าเป็นการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดของโลกในช่วงเวลาปัจจุบัน และหากไล่ตามไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์แล้ว ‘นายกอิ๊งค์’ ก็น่าจะไม่หลุด Top 10 นายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์แน่นอน เพราะคนที่คว้าตำแหน่งอันดับ 1 ณ ขณะนี้คือนายกรัฐมนตรีซานนา มาริน (Sanna Marin) ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเมื่ออายุ 34 ปี ซึ่งต่างจากนายกอิ๊งค์เพียง 3 ปีเท่านั้น!
เส้นทางการเมืองของผู้หญิงไทย ดูจะเฉิดฉายขึ้นมาอีกครั้งในยุคนี้ ... เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 'บทบาทของผู้หญิงบนเวทีการเมือง' น้อยครั้งที่จะฉายแสงได้ ส่วนใหญ่ก็จะดำรงตำแหน่งที่สำนักนายกฯ หรือไม่ก็กระทรวงวัฒนธรรม เพราะคงเห็นว่าเป็นเรื่องของ ผู้หญิง ผู้หญิง!
แต่ก็ใช่ว่าไม่มี! โพสต์ทูเดย์ จึงขอพาทุกคนทำความรู้จัก 'ผู้หญิง' ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่ครั้งอดีตที่น่าสนใจ หรือเคยมีบทบาทอยู่ไม่น้อย
- ผู้หญิงสองคนแรกที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของไทย
ย้อนไป 48 ปี ผู้หญิงสองคนแรกที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของไทยเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2519 ในยุคของ ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของไทยโดยได้แต่งตั้งให้ วิมลศิริ ชำนาญเวช ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ และ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยที่มีผู้หญิงขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและทีเดียว 2 คน จากจำนวนรัฐมนตรีทั้งหมด 18 คน!
วิมลศิริ ชำนาญเวช รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือ หากเทียบกับปัจจุบันก็คงเป็นกระทรวงอว. สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา เคยรับราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมและเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากจะเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้านการศึกษา และตำแหน่งทางการศึกษาสำคัญๆ ยังได้เขียนหนังสือและงานวิจัยหลายฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมาย หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจและดูจะเข้ายุคเข้าสมัย แม้ว่าท่านจะเขียนขึ้นมานานแล้ว คือ บทความเกี่ยวกับสิทธิในการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน ในปี พ.ศ.2555 ( 12 ปีก่อนกฎหมายสมรสเท่าเทียม ) โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า
“ โดยบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนี้ก็เป็นมนุษย์เหมือนบุคคลทั่วๆไปจะแตกต่างกันเพียงแค่จิตใจและความชอบทางเพศเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนๆ กับชายหญิงทั่วไป แต่ที่เป็นปัญหาก็คือ การยอมรับในด้านสิทธิต่าง ๆ และความเสมอภาคทางกฎหมายกลับไม่ได้รับการคุ้มครอง
ซึ่งหากพิจารณาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีเจตนารมณ์ให้การคุ้มครองความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาคกันโดยไม่คํานึงถึงความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ สีผิว ภาษา เพศ อายุ ความพิการ ถิ่นกําเนิด โดยมุ่งคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ภายใต้หลักการที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เพื่อให้เป็นกฎหมายสำหรับประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคี สมาชิกสหประชาชาติจะได้นําไปใช้ปฏิบัติตาม”
อีกท่านคือ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นบุตรีของพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ผู้สร้างโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ และโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ผู้ริเริ่มรถโดยสารประจำทางขึ้นในเมืองไทย (รถเมล์นายเลิศ) และผู้สร้างโรงแรมปาร์คนายเลิศ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ต้องสืบทอดกิจการอย่างเต็มตัวเมื่ออายุได้ 26 ปี หลังจากที่พระยาภักดีนรเศรษฐถึงแก่อนิจกรรม ซึ่งท่านผู้หญิงเลอศักดิ์สามารถได้บริหารกิจการ 'รถเมล์ขาว' จนเติบโตขึ้นเป็นลำดับ ทั้งจำนวนรถและเส้นทางการเดินรถ โดยมีพนักงานอยู่กว่า 4,000 คน ณ ขณะนั้น
และในสมัย 14 ตุลาคม 2516 รถเมล์ขาว ก็เคยวิ่งรับผู้ชุมนุมจากใจกลางเมืองนำมาปล่อยไว้ในแถบชานเมือง และผู้ชุมนุมหลายคนรอดจากการจับกุมตัว จนเป็นเหตุให้ท่านถูกต่อว่าจากผู้ใหญ่ว่าเล่นการเมือง แต่ท่านผู้หญิงเพียงตอบว่าเป็นการช่วยเหลือด้วยมนุษยธรรม
ในปีพ.ศ.2518 ก่อนเข้ารับตำแหน่ง 1 ปี กิจการรถเมล์ขาวก็โดนพิษการเมืองเล่นงานเพราะถูกรัฐบาลยกเลิกสัมปทานการเดินรถเมล์ไปในที่สุด
- ท่าเรือแหลมฉบับ แนวคิดจากรัฐมนตรีคมนาคมหญิงคนแรกของไทย
การเข้ารับตำแหน่งของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ เป็นเรื่องที่โจษจันในสมัยนั้น จนปรากฎอยู่ในหนังสือหลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือ ‘บันทึกวิเคราะห์และวิจารณ์ 16 นายกรัฐมนตรีไทย’ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2526 ความตอนหนึ่งว่า
“คณะรัฐมนตรีชุดคุณธานินทร์นั้น เมื่อปัญญาชนมองดูแล้วก็คิดว่าคงไปได้ไม่ไกลนัก เพราะคุณธานินทร์เลือกมาจากวงการแคบๆ … และเป็นคนที่คุณธานินทร์ได้ใช้วิชาโหราศาสตร์ทำนายไว้แล้วว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี เช่น คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ”
นอกจากนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เคยให้สัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม 2519 ว่า “อันนี้ยินดีอนุโมธนาสาธุเลย เห็นว่าควรจะมีมานานแล้ว รัฐมนตรีหญิงเมืองไทยนี้ และสำหรับรัฐมนตรีหญิงสองท่านเท่าที่ผมทราบ ท่านก็เป็นผู้มีความสามารถ” นอกจากนี้ยังมีอาจารย์เต็มศิริ บุณยสิงห์เคยให้สัมภาษณ์ว่าวงการสตรีภูมิใจมาก และคุณหญิงเลอศักดิ์นั้น ก็เป็นที่ทราบว่าท่านมีความรู้เรื่องการคมนาคมเป็นอย่างดี
และก็เป็นแนวคิดของ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ นี่เองที่เริ่มต้นแนวคิด สร้างท่าเรือที่แหลมฉบัง โดยตอนนั้นท่าเรืออยู่ที่สัตหีบ ท่านผู้หญิงเห็นว่าท่าเรืออยู่ในที่ทหารขยายลำบาก จึงคิดควรหาที่ตั้งท่าเรือใหม่ และมาจบที่แหลมฉบัง แม้จะไม่ได้สำเร็จในยุคสมัยของท่าน แต่แนวคิดมาจากยุคสมัยของรัฐมนตรีหญิงคนนี้! (ข้อมูลจาก ห้องสมุดรัฐสภา ) รวมไปถึงการเตรียมการก่อสร้างทางด่วนสายแรกของไทยอย่าง ดินแดง-บางนา ก็เริ่มขึ้นในปี 2519 นี้เช่นกันหลังจากศึกษามากว่า 4 ปีเต็ม และได้เปิดบริการในเดือนตุลาคม 2524 ( ข้อมูลจาก วารสารสจ.ธ.ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 ปี 2533 )
- ผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียาวนานที่สุด และรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง
สำหรับผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียาวนานที่สุด 2 อันดับแรก คือ อุไรวรรณ เทียนทอง ซึ่งถือได้ว่าได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียาวนานที่สุดคนหนึ่งของไทย โดยท่านดำรงตำหน่งที่รมว.ที่กระทรวงวัฒนธรรมรวม 2 ปี และกระทรวงแรงงานอีก 4 ปีด้วยกัน ใน 3 รัฐบาล คือ รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร, สมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์
โดยนางอุไรวรรณเทียนทอง คือภริยาของนายเสนาะ เทียนทอง อดีตหัวหน้าพรรคประชาราช และสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันลูกชายคือ นายสรวงศ์ เทียนทอง ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของนายกอิ๊งค์!
อีกท่านคือคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายรัฐมนตรียาวนานถึง 8 ปี ใน 3 รัฐบาล ได้แก่ รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน และชวน หลีกภัย โดยสำเร็จการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยที่มาจากการเลือกตั้งในสมัยของชวน หลีกภัย โดยท่านเป็นสส.จังหวัดนครศรีธรรมราช มายาวนานกว่า 7 สมัย
โดยท่านเป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และอนุมัติให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันครอบครัว” ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ของไทย ในสมัยรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
- ผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งกระทรวงมหาดไทย คนแรกของประวัติศาสตร์
หากพูดถึงกระทรวงที่ให้ภาพลักษณ์เป็นชาย ก็คงหนีไม่พ้นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม ซึ่งจนถึงปัจจุบันกระทรวงยุติธรรม เป็นหนึ่งในสองกระทรวงที่ยังไม่มีผู้หญิงคนใดขึ้นดำรงตำแหน่งรมว.เลย เช่นเดียวกับกระทรวงการต่างประเทศ
หากแต่สำหรับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในวันนี้ ครม.ใหม่ของนายกอิ๊งค์ มีรมช.ถึง 2 คนขึ้นดำรงตำแหน่งได้แก่ ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ และธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ แต่แท้จริงแล้วก่อนหน้านี้เคยมีผู้หญิงอีกหนึ่งท่านเคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อนนั่นคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เคยดำรงตำแหน่งในยุคของบรรหาร ศิลปอาชา นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งอีกหลายกระทรวง ถือว่าเป็นผู้หญิงที่เข้ารับตำแหน่งในกระทรวงที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม
โดยผลงานที่สำคัญอาทิ การวางแผนปรับเปลี่ยนสถานีขนส่งหมอชิตให้เป็นสถานีรถไฟฟ้า และดำรงตำแหน่งในฐานะ รมว.กระทรวงสาธารณสุขในช่วงที่เกิดไข้หวัดนก และเหตุการณ์สึนามิ รวมไปถึงผลักดันเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค ตลอดจนการทำหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทย จนชนะการเลือกตั้งท่วมท้นในปี 2548
- ผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกและคนที่สองของไทย
ท้ายสุดที่ไม่พลาดจะพูดถึงคือตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผู้หญิงไทยได้ก้าวขึ้นไปสู่อำนาจจากตระกูลเดียวกันคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ แพทองธาร ชินวัตร โดยตัวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเองดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของไทย และเข้าดำรงตำแหน่งเกือบ 3 ปี นักวิจารณ์ต่างชี้ว่าเหตุผลหลักที่ได้ตำแหน่งเพราะเป็นน้องสาวของทักษิณ ชินวัตร โดยมีบทบาททำหน้าที่เป็นผู้แทนของพี่ชายเท่านั้น
อย่างไรก็ตามในยุคของยิ่งลักษณ์ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ มากมาย เช่น การผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ คือ ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนทางกฎหมายอย่างจริงจังครั้งแรกในไทย รวมไปถึงการจำนำข้าวซึ่งนำไปสู่คดีความต่างๆ ในเวลาต่อมา อดีตนายรัฐมนตรียิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งด้วยการยุบสภา และมีเรื่องคดีต่างๆ อีกหลายโครงการ จนต้องออกนอกประเทศและถูกห้ามเกี่ยวข้องกับการเมืองตลอดชีวิต
และในปีนี้เอง แพทองธาร ชินวัตร ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทย ท่ามกลางการจับตามองทั้งในเรื่องของนโยบายการเมืองว่าจะเป็นเพียง 'คนที่ทำตามพ่อ' หรือไม่ รวมถึงการบริหารงานที่ต้องเสี่ยงกับ 'นักร้อง' และการดำเนินคดีต่างๆ มากมาย ที่อีกฝั่งหนึ่งจ้องจะเล่นงานอยู่ และอาจทำให้ 'แพทองธาร ชินวัตร' ซ้ำรอยเดิมกับยิ่งลักษณ์หรือผู้เป็นพ่อจนทำให้รัฐบาลไปได้ไม่ไกลนัก
ซึ่งนั่นทำให้การจัดตั้งครม.ชุดนี้มีความละเอียดยิบ ตรวจสอบกันยับกว่าเดิม จนล่าสุด ครม. ก็ออกมาเสร็จสรรพ พร้อมกับการแต่งตั้งผู้หญิงอีก 7 คนเข้าดำรงตำแหน่ง ถือเป็น ครม.ที่มีผู้หญิงมากที่สุดเท่าที่เคยมี ได้แก่
- สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม
- มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม
- ศุภมาส อิสรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
- จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายรัฐมนตรี
- ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย
- ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย
- นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์
แม้ว่าผู้หญิงจะยังได้เข้าไปอยู่ในกระทรวงที่เป็นเรื่อง ผู้หญิง ผู้หญิง อย่างกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เช่นเดิม แต่ในยุคของนายกอิ๊งค์ ก็น่าจับตามองไม่น้อย เพราะนโยบายเรือธงที่สำคัญ อย่าง 'ซอฟต์พาวเวอร์' ก็ขึ้นตรงกับกระทรวงวัฒนธรรม หรือ ในเรื่องของงานวิจัยและการศึกษาที่จะผลักดัน Upskill และ Re-skill ให้แก่กระทรวงอื่นๆ หรือการสร้าง New business ให้แก่ประเทศ ก็ต้องอาศัย 'การศึกษา' ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงอว.
นี่เป็นเพียงเวลาแค่ไม่กี่วันของการดำรงตำแหน่งของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ และจะเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐมนตรีหญิงทั้ง 7 คน จึงต้องจับตามองว่าหญิงเหล็กแห่งทำเนียบเหล่านี้จะสามารถสร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องอายุ หรือเพศ แต่คือฝีมือทางการเมืองและการบริหารบ้านเมืองให้ครองใจประชาชนไว้มากน้อยเพียงใด
โดยเฉพาะนายกอิ๊งค์ ภายใต้บริบทของการถูกจับตามองว่า จะดำรงตำแหน่งภายใต้บารมีของ ‘พ่อ’ หรือไม่ ซึ่งหากเป็นแบบนั้นก็คงน่าเสียดาย เพราะการดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของผู้หญิง เป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่งของประเทศไทย ประเทศที่อยู่บนพื้นฐานปิตาธิไตยมานับหลายร้อยปี เพราะแม้จำนวนประชากรผู้หญิงในไทยมีสัดส่วนที่มากกว่าประชากรไทย แต่กลับมีตัวแทนของ 'ผู้หญิง' บนเส้นทางการเมืองน้อยกว่าหลายเท่าเสมอและตลอดมา.