หญิงอินเดีย 670 ล้านคนไม่ปลอดภัย? สะท้อน Maharaja และคดีข่มขืนแพทย์เขย่าโลก
เปิดมุมมืดในอินเดีย ผ่านภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์กระแทกใจคนดูอย่าง Maharaja และภาพความจริงของคดีข่มขืนแพทย์สาวในโกลกาตา ซึ่งก่อให้เกิดการประท้วงติดต่อกันยาวนานหลายสัปดาห์ เพื่อทวงหาพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้หญิงกว่า 670 ล้านคนในอินเดีย ที่ถูกมองว่าอยู่ต่ำกว่า ‘วัว’
สิงหาคม เป็นเดือนที่ภาพยนตร์แอ็คชั่นที่ว่ากันว่าเป็น น้องๆ John Wick เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์ม Netflix ให้คนทั่วโลกได้ดื่มด่ำกับโปรดักชั่นจัดเต็มจากอินเดีย และเส้นเรื่องที่หลายเว็บไซต์ต้องเอามารีวิวกันแบบอดไม่ได้ ถึงการหักมุมและสะท้อนสังคมได้แบบเปิดเผย ไม่หมกเม็ด! พร้อมสัญญะจิกกัดที่ว่า ‘หรือผู้หญิงจะมีค่าเท่ากับถังขยะ’ ถึงเกิดการข่มขืนและทำร้ายได้หน้าตาเฉย!
และในเดือนเดียวกัน เราก็ได้เห็นข่าวที่ดังไปทั่วโลกเช่นกัน เมื่องแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขรวมถึงประชาชนนับแสนคน รวมตัวประท้วง จากเหตุการณ์แพทย์สาวที่ถูกข่มขืนขณะที่พักผ่อนจากการเข้าเวรทำงานอย่างหนักติดต่อกันกว่า 36 ชั่วโมง!
เกิดอะไรขึ้น? ในสังคมอินเดีย ประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลกหรือกว่า 1.43 พันล้านคน และกว่า 670 ล้านคนเป็นผู้หญิง!
(ต่อไปนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ Maharaja)
- Maharaja ภาพยนตร์แอ็คชั่นที่ดึงประเด็นการข่มขืนผู้หญิงขึ้นมาเล่าแบบล้างผลาญ
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของเรื่องนี้ในมุมมองของผู้เขียน คือ การใช้สัญญะ ‘ถังขยะ’ กับสิทธิของ ‘ผู้หญิง’ ในสังคมอินเดีย เมื่อเรื่องเปิดตัวด้วยการตามหา ‘ถังขยะ’ ของตัวเอกของเรื่องอย่าง มหาราชา เขามาแจ้งความตามหาถังขยะ ซึ่งดูเป็นเรื่องไร้สาระที่สุดในมุมของตำรวจ จนกระทั่งมหาราชาต้องจ่ายเงินให้การตามหาถึง 300,000 รูปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่พอจะทำให้คนหันมามองความสำคัญของ ‘ถังขยะ’ ชิ้นนี้ว่าได้ซุกซ่อนอะไรที่มีมูลค่ามากกว่านั้นหรือไม่
จนกระทั่งความจริงเปิดเผยว่าสิ่งที่เขาตามหาจริงๆนั้น ไม่ใช่ถังขยะ แต่คือคนร้ายที่ก่อคดีข่มขืนลูกสาวของเขา ‘การตามหาถังขยะ’ จึงเปรียบได้กับการตามหา ‘ความยุติธรรมให้แก่ผู้หญิง’ แม้ว่าคนในสังคมจะมองข้ามสิ่งนี้และไม่เห็นความสำคัญ เปรียบได้กับถังขยะที่คนมองข้ามนั่นเอง
ความยุติธรรมให้แก่ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน กว่าคนจะเห็นค่า ต้องมีการยัดเงินใต้โต๊ะให้กับตำรวจ ต้องทำให้คนสงสัยว่านอกจากเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งแล้ว มันจะมีอะไรซุกซ่อนที่มีค่ามากกว่านั้นหรือไม่ เช่น เพชร หรือทอง ซึ่งคนยินยอมจะตามหาและเห็นความสำคัญมากกว่า ผู้หญิงคนหนึ่งที่โดนข่มขืนด้วยซ้ำ!
อีกเรื่องหนึ่งคือในมุมของผู้ร้าย ผู้หญิงที่เขาทำร้าย ล้วนแล้วแต่เป็นแค่วัตถุ เป็นแค่ถังขยะ เท่านั้น จนผลสุดท้ายที่รู้ว่า ‘หากผู้หญิงคนนั้นเป็นคนในครอบครัว’ เขาคงจะติดต่างออกไป
สิ่งที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ภาพการนำเสนอความเสียหายของเหยื่อที่ถูกข่มขืนไม่ได้รับการสะท้อนให้ละเอียดอ่อนได้ดีพอ ดูเหมือนเหยื่อจะสามารถก้าวข้ามผ่านความเจ็บปวดหลังข่มขืนได้ง่ายดายมากเกินไป และมากกว่าที่ ‘พ่อ’ คือตัวเอกอย่างมหาราชา ก้าวข้ามได้ด้วยซ้ำ เพื่อส่งไปที่ตอนสุดท้ายคือการประจันหน้าระหว่าง ‘เหยื่อ’ ซึ่งกลายเป็นลูกตัวจริงของ ‘ผู้กระทำความผิด’ และให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจในภาพยนตร์
อย่างไรก็ตาม มหาราชา (Maharaja) ก็สามารถนำเสนอประเด็นการข่มขืนได้อย่างแยบยลและน่าติดตามในสถานะของการเป็นภาพยนตร์แอ็คชั่นสะท้อนสังคม ที่ไม่เน้นฉากบู๊ล้างผลาญอย่างเดียวได้ดีไม่น้อย จนหลายสำนักซูฮกให้กับหนังเรื่องนี้ และสามารถทำรายได้ทั้งในและต่างประเทศอย่างถล่มทลาย!
- คดีข่มขืนแพทย์หญิงในอินเดีย ซึ่งทำให้แพทย์ทั่วประเทศออกมาประท้วงกว่าหลายแสนคน
ต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ครอบครัวหนึ่งที่ผลักตัวเองจากความยากจน และสามารถพิสูจน์ตนเองว่า คนยากจนและเป็นคนชนชั้นล่างอย่างพวกเขาก็สามารถส่งลูกสาวเป็นแพทย์ได้ กลับต้องพบเจอกับความโหดร้ายที่สุดในชีวิต เมื่อได้รับรู้ว่าลูกสาววัย 31 ปี ของพวกเขาถูกข่มขืนและสังหาร หลังจากเข้าเวรรักษาผู้ป่วยติดต่อยาวนานกว่า 36 ชั่วโมง และนอนพักผ่อนอยู่ในหอประชุมของโรงพยาบาล โดยการข่มขืนนั้นไม่ใช่แค่ครั้งเดียว หรือคนเดียว!
เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจไปทั่วประเทศ และจุดชนวนความโกรธแค้นและการออกมาเรียกร้อง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้แก่สตรีทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่เฉพาะแค่ที่โกลกาตา ที่เกิดเหตุเท่านั้น
ในวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา การเดินขบวน 'ทวงคืนยามราตรี' (Reclaim the Night) ถูกจัดขึ้นที่นครโกลกาตา เพื่อเรียกร้องมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้หญิงหลายล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งพวกเธอมีสิทธิจะเดินทางและทำกิจกรรมต่าง ๆ ยามค่ำคืนได้อย่างปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พบว่า แม้แต่ในโรงพยาบาลก็ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยของผู้หญิงในอินเดียแม้แต่น้อย!
โดยมีหมอประมาณ 300,000 คน ทั่วประเทศเข้าร่วมการประท้วงในวันดังกล่าว และการประท้วงติดต่อกันยาวนานกว่าสัปดาห์ และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมเมื่อ 4 วันก่อน
ข้อมูลจากสำนักบันทึกอาชญากรรมแห่งชาติของอินเดีย ( NCRB ) ระบุว่า สถิติการข่มขืนในอินเดียพุ่งสูงกว่า 90 รายต่อวันในปี 2022 แต่มีหลายฝ่ายระบุว่าสถิติดังกล่าวต่ำกว่าที่เป็นจริงมากนัก เนื่องจากมีเหยื่ออีกหลายคนที่ไม่กล้าออกมาแจ้งความ
ส่วนการประท้วงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มีความคาดหวังจากหลายฝ่ายให้รัฐบาลออกมาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงมากขึ้น เพื่อยับยั้งอาชญากรรมทางเพศดังกล่าว และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ผู้หญิง ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีมาตรการที่ชัดเจนออกมาแต่อย่างใด
ขณะที่แม่ของ Nirbhaya วัย 23 ปี นามสมมติของหญิงที่ถูกข่มขืนบนรถบัสในกรุงนิวเดลี เมื่อปี 2012 ได้ออกมาให้สัมภาษณ์โดยระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวที่เคยเกิดขึ้นกับเธอไม่ได้ก่อให้เกิดการปฏิรูปอะไรให้ต่างไปจากเดิม
โดยพบว่ามีการแก้ไขข้อกฎหมาย เพิ่มบทลงโทษเป็น 10 ปีหรือประหารชีวิตหากเหยื่ออายุต่ำกว่า 12 ปี รวมไปถึงผู้ต้องหาที่สามารถรับโทษได้นั้นเริ่มตั้งแต่อายุ 16 ปี แต่ก็ปรากฎว่าสถิติการข่มขืนในอินเดียไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือลดลงแต่อย่างใด!
- ปิตาธิปไตยที่หยั่งรากลึก เกินกว่ากฎหมายจะแก้ได้
ทั้งนี้ อาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้น หลายฝ่ายมองว่าไม่ได้แก้ไขได้ด้วยข้อกฎหมายที่รุนแรงขึ้นอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมา โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย ที่ตั้งอยู่แบบแนวคิด ‘ปิตาธิปไตย’ คือชายเป็นใหญ่ ซึ่งหยั่งรากลึกมานานหลายยุคหลายสมัย และเริ่มสั่งสอนตั้งแต่เด็ก ด้วยว่าสังคมอินเดียหล่อหลอมว่าเพศชายเป็นเพศที่แข็งแรง และมีบทบาทสำคัญทั้งในระดับครอบครัวจนถึงระดับประเทศชาติ ส่วนผู้หญิงนั้นเป็นเหมือนพลเมืองชั้นสองที่ไม่สามารถออกความคิดเห็นได้แต่อย่างใด
ถึงขั้นมีการเปรียบเปรยว่า 'เกิดเป็นวัวในสังคมอินเดียยังจะดีกว่าเป็นสตรี' เพราะชาวอินเดียถือว่าวัวเป็นเทพและเป็นสัตว์พาหนะของพระศิวะ
หรือแม้แต่แนวคิดที่ว่าเมื่อแต่งงาน 'ภรรยาจะเป็นทรัพย์สมบัติสามี' แม้ทุกวันนี้ผู้หญิงในอินเดียไม่ต้องเผาตัวเองตายตามสามี แต่ในบริบทของสังคมอินเดียในแถบชนบท เรายังได้เห็นผู้หญิงที่แต่งกายสีขาวและไว้ทุกข์ให้สามีตลอดชีวิตหลงเหลืออยู่ รวมไปถึงการแต่งงานที่ผู้หญิงจะต้องเป็นผู้มอบสินสอดให้ฝ่ายชาย และต้องจ่ายเป็นจำนวนมากหากอยากได้สามีที่ดี ซึ่งสะท้อนภาพคุณค่าของเพศชายที่มีมากกว่าเพศหญิงในสังคมอินเดีย
สิ่งเหล่านี้ล้วนฝั่งมายาคติ ที่ว่า ‘ผู้หญิง’ มีค่าน้อยกว่าผู้ชาย เฉกเช่น ‘ถังขยะ’ ที่ไม่สำคัญ
เพราะฉะนั้นเราจึงได้เห็นว่า จากสถิติข่มขืนในอินเดียของสำนักบันทึกอาชญากรรมแห่งชาติของอินเดีย ( NCRB ) มีการระบุว่า เหตุอาชญากรรมส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุมักจะเป็นบุคคลที่รู้จัก หรือเกี่ยวข้อง และพบเจอกันกว่าร้อยละ 80-90 เลยทีเดียว!
ณ วันนี้การประท้วงและเรียกร้องในอินเดียให้รัฐบาลออกมาจัดการในประเด็นดังกล่าวยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่แพทย์สาวถูกข่มขืนและฆ่าอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งก็ต้องจับตามองต่อไปว่ารัฐบาลอินเดียจะมีมาตรการที่เพิ่มโทษ หรือจัดการในเรื่องนี้อย่างไร
เพราะในวันที่โลกรณรงค์เรื่องความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ อินเดียในฐานะประเทศที่มีประชากรผู้หญิงกว่า 670 ล้านคนหากสามารถออกมาตรการที่แก้ไขเรื่องนี้ให้ดีขึ้นได้ ก็เท่ากับว่าจะมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงในโลกนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ความน่ากลัวของความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำให้คิดได้ว่า มันไม่ใช่ความบังเอิญที่ภาพยนตร์ Maharaja และคดีข่มขืนแพทย์หญิงในโกลกาตา เกิดในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่เป็นเพราะเหตุการณ์ ‘เกิดขึ้นบ่อยครั้ง’ จนเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดได้พร้อมกันต่างหาก!