สารกำจัดแมลงจากน้ำมันพืชที่ดักจับแมลงแบบต้นหยาดน้ำค้าง
ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยการใช้งานสารเคมีในการกำจัดแมลงซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อมีการคิดค้น สารเคมีกำจัดแมลงจากน้ำมันพืช
แมลงศัตรูพืช อีกหนึ่งคู่ปรับตลอดกาลของเกษตรกรจนเป็นภัยคุกคามสำคัญของกระบวนการผลิตอาหาร นี่ทำให้หน้าที่หลักของเกษตรกรนอกจากการปลูกพืชให้งอกงาม ยังต้องควบคุมจัดการแมลงศัตรูพืชอย่างเข้มงวด ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตที่จะเก็บเกี่ยว
เมื่อพูดถึงวิธีกำจัดแมลงในภาคการเกษตรสิ่งแรกที่ทุกท่านนึกถึงย่อมเป็น ยาฆ่าแมลง กับการใช้สารเคมีกำจัดแมลงเพื่อป้องกันปัญหาจากแมลงศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก กระนั้นสารเคมีเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
แต่จะเป็นอย่างไรถ้ามีการคิดค้นสารกำจัดแมลงที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายขึ้นมา
สารกำจัดแมลงที่มีคุณสมบัติเหมือนต้นหยาดน้ำค้าง
ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Wageningen University & Research ร่วมกับ Leiden university กับการคิดค้นสารกำจัดแมลงชนิดใหม่จากน้ำมันพืช ช่วยให้สามารถป้องกันและกำจัดแมลงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ต้นแบบของแนวคิดสารกำจัดแมลงทดแทนนี้มาจาก ต้นหยาดน้ำค้าง พืชกินแมลงที่จะคอยหลอกล่อแมลงมากินเป็นสารอาหาร โดยทำการสร้างกลิ่นดึงดูดแล้วเคลือบสารเหนียวชนิดพิเศษไว้ตรงบริเวณดอกและใบ เมื่อมีแมลงเข้ามาเกาะก็จะติดหนึบเคลื่อนไหวไม่ได้ เปิดทางให้พืชนำไปเป็นสารอาหารโดยสะดวก
นำไปสู่การพัฒนาสารชนิดใหม่ที่เลียนแบบคุณสมบัติดังกล่าว เริ่มจากการนำ น้ำมันพืช หรือ ไตรกลีเซอร์ไรด์ มาอบแห้ง จากนั้นจึงนำเข้าเครื่องปั่นในห้องปฏิบัติการ จนทำให้น้ำมันเหล่านั้นกลายเป็นเม็ดบีทเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 มิลลิเมตรแต่มีระดับความเหนียวใกล้เคียงเทปพันสายไฟไว้คอยดักจับแมลง
เป้าหมายหลักที่สารกำจัดแมลงนี้คิดค้นขึ้นมาเพื่อจัดการคือ เพลี้ย แมลงศัตรูพืชตัวฉากที่คอยดูดน้ำเลี้ยงของพืชจนอาจนำไปสู่การขาดสารอาหาร หยุดการเจริญเติบโต ติดเชื้อ และอาจทำให้ยืนต้นตายทั้งแปลงได้ในเวลาไม่นาน หรือแมลงวันผลไม้ที่ทำให้ผลผลิตเกิดการเน่าเสียจากการกัดกินและวางไข่
วิธีการใช้งานนั้นเรียบง่ายเพียงนำสารสกัดที่ได้มาฉีดพ่นลงบนพืชที่ทำการเพาะปลูก คุณสมบัติของเม็ดบีทจะช่วยเป็นตัวดักจับสกัดการเคลื่อนไหวของแมลงให้ไม่สามารถขยับหรือหลบหนีได้ จากนั้นด้วยแสงแดด ความร้อน ฝน หรือสภาพแวดล้อม จะทำให้แมลงเหล่านี้เสียชีวิตภายในเวลาไม่นาน
นี่จึงถือเป็นสารกำจัดแมลงชนิดใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ
ยาฆ่าแมลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
จุดเด่นสำคัญของยาฆ่าแมลงชนิดนี้คือ ความปลอดภัย สารเคมีฆ่าแมลงที่มีการใช้งานแพร่หลายสร้างผลกระทบทางสุขภาพอย่างรุนแรง ทั้งสำหรับตัวผู้บริโภค เกษตรกร หรือคนที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งยังสังเกตได้ยากว่าพืชผลที่อยู่ตรงหน้ามีระดับการปนเปื้อนแค่ไหนจึงลำบากในการประเมินและล้างทำความสะอาด
แตกต่างจากสารกำจัดแมลงที่ได้รับการคิดค้น เมื่อพ่นลงบนพืชพรรณเราสามารถมองเห็นเม็ดบีทสีเหลืองเกาะติดด้วยตาเปล่าจึงแยกแยะได้ อีกทั้งยังทำความสะอาดง่ายด้วยน้ำยาล้างจานทั่วไป ด้วยกลไกการทำงานไม่ต่างจากการล้างคราบมันบนวัตถุ ทำให้ง่ายต่อการล้างทำความสะอาดเป็นอย่างยิ่ง
ในกรณีที่เผลอรับประทานเข้าไปก่อนล้างทำความสะอาดก็ไม่เป็นปัญหา ด้วยพื้นฐานของสารกำจัดแมลงชนิดนี้ได้รับการผลิตจากน้ำมันพืชจึงสามารถทานได้ทันทีโดยไม่มีอันตราย ใกล้เคียงกับการรับประทานอาหารประเภททอดหรือผัดที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบในการปรุงเท่านั้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก
อันดับถัดมาสารชนิดนี้มีความคงทนในการใช้งานสูง ในการพ่นแต่ละครั้งสามารถคงประสิทธิภาพเอาไว้ได้ราว 3 เดือน ด้วยคุณสมบัติของน้ำมันที่ไม่สามารถทำละลายด้วยน้ำได้ ทำให้สารกำจัดแมลงชนิดนี้มีคุณสมบัติทนฝน รองรับการใช้งานในฤดูมรสุมโดยไม่ต้องกลับมาพ่นซ้ำเหมือนสารกำจัดแมลงทั่วไป
นอกจากนี้แมลงที่ถูกดักจับผ่านสารกำจัดแมลงชนิดนี้จะมีเพียงแมลงศัตรูพืชเป็นหลัก แมลงชนิดอื่นที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เช่น ผึ้ง และ ผีเสื้อ ด้วยพื้นฐานมีขนาดใหญ่กว่าเพลี้ย มด หรือแมลงวันมาก แรงยึดเหนี่ยวของสารนี้จึงไม่เพียงพอ แมลงในกลุ่มนี้จึงยังสามารถบินไปมาและผสมเกสรได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ
นี่จึงเป็นสารกำจัดแมลงชนิดใหม่ที่รวมเอาแต่ข้อดีและลบข้อเสียของยาฆ่าแมลงในอดีตไปโดยสมบูรณ์
อย่างไรก็ตามสารกำจัดแมลงจากน้ำมันพืชนี้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา จริงอยู่ที่น้ำมันพืชจะไม่เป็นอันตรายแต่จำเป็นต้องได้รับการประเมินผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะการย่อยสลายทางชีวภาพภายในดิน เพราะอาจเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างเมื่อนำไปใช้งานในระดับอุตสาหกรรม
อีกทั้งแม้จะบอกว่ารับประทานได้ไม่เป็นอันตรายแต่ควรล้างทำความสะอาด มิเช่นนั้นอาจส่งผลต่อระดับไขมันในเลือดได้เช่นกัน
ที่มา
https://www.wur.nl/en/newsarticle/scientists-develop-sticky-pesticide-to-combat-pest-insects.htm
https://newatlas.com/science/sundew-sticky-spray-pest-insects/