posttoday

“Rainbow Washing” เมื่อเสียงเรียกร้องความเท่าเทียมกลายเป็นแคมเปญการตลาด

13 มิถุนายน 2567

ชวนรู้จักกับ "Rainbow Washing" การฟอกสีรุ้งกลบซ่อนเจตนาที่แท้จริง เพื่อหวังผลทางการตลาด แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้สนับสนุนหรือปกป้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ อย่างแท้จริง

ในช่วงเดือนมิถุนายนซึ่งถือเป็น “Pride Month” ของทุกปี ธงสีรุ้งถูกโบกสะบัดในแทบจะทุกพื้นที่จนเราสามารถพบเห็นได้จนชินตา ขณะที่แบรนด์ต่างๆมากมาย เริ่มเปิดตัวสินค้าคอลเล็กชั่นพิเศษ ซึ่งแต่งแต้มไปด้วยสีสันสดใสเพื่อฉลองเทศกาลแห่งความหลากหลายทางเพศ รวมถึงประกาศจุดยืนว่าสนับสนุนสิทธิแห่งความเท่าเทียมและความหลากหลายของกลุ่ม LGBTQ+

อย่างไรก็ตาม การพบเห็นสัญลักษณ์สีรุ้งในธุรกิจและบริการต่างๆ กลับแฝงไว้ด้วยคำถามที่น่าสนใจว่า แบรนด์เหล่านั้นสนับสนุนความเท่าเทียมอย่างแท้จริงหรือเป็นเพียงแคมเปญส่งเสริมผลประโยชน์ทางการตลาดที่เรียกว่า "Rainbow Washing"

“Rainbow Washing” เมื่อเสียงเรียกร้องความเท่าเทียมกลายเป็นแคมเปญการตลาด

 

Rainbow Washing คืออะไร?

Rainbow Washing มาจากคำว่า "Rainbow" ที่หมายถึง สีรุ้ง และ "Washing" ที่หมายถึง การฟอกสี เปรียบเสมือนการทาสีรุ้งเพื่อกลบซ่อนเจตนาที่แท้จริง มักเป็นกลยุทธ์ที่องค์กรหรือแบรนด์ต่างๆใช้สัญลักษณ์สีรุ้ง เพื่อสื่อถึงการสนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ เพื่อหวังผลทางการตลาด ดึงดูดลูกค้า สร้างภาพลักษณ์ที่ดี แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับไม่ได้มีการสนับสนุนหรือปกป้องสิทธิของกลุ่มคนเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยมักจะพบเห็นได้ในแคมเปญการตลาดช่วงเดือนมิถุนายนเท่านั้น

จะรู้ได้อย่างไรว่าธุรกิจไหน Rainbow Washing?

1. มีเพียงแค่การนำสัญลักษณ์รุ้งมาใช้ในแคมเปญการตลาด แต่ไม่มีการดำเนินการหรือนโยบายที่แสดงถึงการสนับสนุน LGBTQ+ อย่างจริงจัง ธุรกิจบางแห่งเปลี่ยนโลโก้เป็นสีรุ้งในช่วง Pride Month แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในองค์กร หรือสนับสนุนกิจกรรม LGBTQ+ อย่างเป็นรูปธรรม

2. ไม่มีสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค LGBTQ+ โดยตรง

3. ภายในองค์กรมีนโยบายหรือแนวปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติต่อพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศ

4. ไม่มีการสนับสนุนองค์กรหรือกิจกรรมด้านสิทธิ LGBTQ+ อย่างต่อเนื่องและจริงจัง

5. ไม่เคยพูดถึงประเด็น LGBTQ+ นอกเหนือจาก Pride Month ธุรกิจบางแห่งใช้สัญลักษณ์ LGBTQ+ แค่ในช่วง Pride Month เท่านั้น แต่ไม่ได้พูดถึงประเด็น LGBTQ+ หรือสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ ในช่วงเวลาอื่นๆ ของปี

“Rainbow Washing” เมื่อเสียงเรียกร้องความเท่าเทียมกลายเป็นแคมเปญการตลาด

ผลกระทบของ Rainbow Washing

เมื่อองค์กรหรือแบรนด์ถูกจับได้ว่ากำลัง Rainbow Washing ก็อาจนำมาซึ่งผลเสียหลายประการ เช่น การสูญเสียความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจจากผู้บริโภค การเผชิญหน้ากับการประท้วงและการแบนสินค้า ตลอดจนความเสียหายต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงในระยะยาว นอกจากนั้น ยังทำให้เสียโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับกลุ่มผู้บริโภค LGBTQ+

ดังนั้น ในขณะที่แบรนด์หรือองค์กรจำนวนมากอาจอ้างว่ากำลังสนับสนุนความหลากหลายทางเพศผ่านการใช้สัญลักษณ์รุ้งในแคมเปญ แต่เราในฐานะผู้บริโภคคงต้องตั้งคำถามว่าธุรกิจเหล่านั้นกำลังสนับสนุนความเท่าเทียมอย่างจริงจังหรือเพียงแค่ต้องการใช้ประโยชน์จากกลุ่ม LGBTQ เท่านั้น? การสนับสนุนที่แท้จริงต้องมาพร้อมกับการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อไม่ให้กลุ่ม LGBTQ+   ถูกเอาเปรียบและเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมอย่างแท้จริง