posttoday

ไม่ใช่ข้อมูลใหม่! วัคซีน 'แอสตร้า' เสี่ยงลิ่มเลือด WHO ระบุชัดตั้งแต่ปี 2021

01 พฤษภาคม 2567

แม้จะมีข่าวออกมาถึงการยอมรับของ 'แอสตร้า' ว่าผลของวัคซีนที่อาจจะก่อให้เกิด 'ลิ่มเลือด' ได้ แต่เมื่อโพสต์ทูเดย์ค้นข้อมูล พบว่าในปี 2021 องค์การอนามัยโลกได้ระบุผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนว่ามีโอกาสที่จะก่อให้เกิด 'ลิ่มเลือด' ได้มานานแล้ว เหตุการณ์นี้เป็นยังไงแน่?

เรื่องเกิดจากการที่ศาลในสหราชอาณาจักรมีการไต่สวน การฟ้องร้องบริษัท 'แอสตร้าเซนเนก้า' เนื่องจากมีผู้ฟ้องร้องทั้งสิ้น 51 คนระบุว่าวัคซีนที่ได้รับทำให้พวกเขาในชื่อ 'Covishield' ซึ่งผลิตโดย the Serum Institute of India หรือสถาบันเซรั่มของอินเดีย และถูกใช้ในสหราชอาณาจักรและประเทศอินเดีย และมีการถูกแบนในหลายประเทศ ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะออกมายอมรับให้เป็นวัคซีนโควิดที่ใช้ได้ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564

อย่างไรก็ตามได้มีการระบุว่าผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้วัคซีน Covishield ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ อาจพบผลข้างเคียงอย่างภาวะ TTS เช่นกันในเว็บไซต์ของ WHO ในปี 2021 ระบุว่าพบอาการ TTS ใน Covishield แต่อยู่ในระดับต่ำคือ 1 ต่อ 200,000 ราย และในเอกสารของ WHO ในปี 2023 ซึ่งก็ยังมีการระบุว่าหาได้ยาก อย่างไรก็ตามในเอกสารที่รัฐสภาไทยเผยแพร่ ( https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=79780&filename=article_translate ) ได้ระบุถึงผลข้างเคียงของ Covishield ด้วยเช่นกัน ได้แก่

  1. พบอาการปวด บวม คัน แดง บริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น ปวดบริเวณข้อ คลื่นไส้ อาเจียน
  2. ภาวะลิ่มเลือดอุดตันสัมพันธ์กับภาวะหลอดเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำ (VITT) แต่พบน้อยประมาณ ๑ ต่อแสนถึง ๑ ต่อล้านโดส  และมีการระบุต่อท้ายว่าโดยในประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีอุบัติการณ์ต่ำกว่านี้ เพราะมีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคที่คล้ายคลึงกับโรคนี้ต่ำมาก แต่เป็นภาวะที่รักษาได้ ซึ่งหากวิเคราะห์ความเสี่ยงในข้อนี้จะพบว่า ประโยชน์จากวัคซีนยังสูงกว่ามาก  

 

ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจึงทำให้ได้เห็นว่าภาวะ TTS กับการได้รับวัคซีน Covishield เป็นที่รู้อย่างกว้างขวางในวงการสาธารณสุขมาก่อนหน้านี้แล้วว่าอาจเกิดขึ้นได้ในระดับที่ต่ำ เพียงแต่ในสมัยที่เกิดการระบาดนั้นได้มีการชั่งถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากได้รับ/ไม่ได้รับวัคซีน

 

  • เกิดอะไรขึ้นในศาลที่อังกฤษ

เหตุการณ์ที่กลายเป็นข่าวใหญ่ในวันสองวันนี้ คือการฟ้องร้องระหว่างผู้เสียหายราว 51 คนซึ่งฟ้องร้องว่าวัคซีน Covishield ส่งผลให้พวกเขาป่วยหนัก บางคนเป็นเพราะมีลิ่มเลือดทำให้เกิดภาวะบาดเจ็บที่สมอง และมีการอ้างอิงระบุถึงผลข้างเคียงของวัคซีน แม้ว่า Covishield จะสามารถป้องกันโควิดได้สูงถึงร้อยละ 60-80 แต่สามารถทำให้เกิดลิ่มเลือดและก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง ...การฟ้องร้องแบบกลุ่มนี้เรียกร้องค่าเสียหายสูงถึง 100 ล้านปอนด์แก่เหยื่อ 51 ราย

ด้านแอสตร้าเซนเนก้า ได้ออกมาโต้แย้งการฟ้องร้องนี้ โดยสื่ออย่างเทเลกราฟระบุไว้ว่า บริษัทยอมรับเป็นครั้งแรกในเอกสารของศาลฉบับหนึ่งว่าวัคซีนสามารถ "ทำให้เกิด TTS ได้ในบางกรณี"  หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันด้วยโรค Thrombocytopenia Syndrome ซึ่งมีลักษณะเป็นลิ่มเลือดและเกล็ดเลือดต่ำ และมีข้อความระบุว่า “เป็นที่ยอมรับกันว่าวัคซีน AZ สามารถทำให้เกิด TTS ได้ในบางกรณี โดยไม่ทราบกลไกเชิงสาเหตุ” และ “นอกจากนี้ TTS ยังสามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีวัคซีนสาเหตุในแต่ละกรณีจะเป็นเรื่องของหลักฐานจากผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งระบุในเอกสารของศาลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

 

ภรรยาของเหยื่อรายหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ต่อเทเลกราฟ ระบุว่า "วงการการแพทย์ยอมรับกันมานานแล้วว่า VITT (เป็นภาวะเกิดหลอดเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำจากการรับวัคซีนโควิด) เกิดจากวัคซีน มีเพียงแอสตร้าเซนเนก้าเท่านั้นที่สงสัยว่าอาการของ Jamie เกิดจากการถูกกระทุ้งหรือไม่" โดยมองว่าการที่แอสตร้าออกมาบอกว่าวัคซีนตัวนี้ทำให้เกิด TTS ได้บางกรณี เป็นความคืบหน้าจากการจากการต่อสู้มาสามปีของเธอ

อีกด้านหนึ่ง นายแพทย์ Rajeev Jayadevan  ประธานของ  National Indian Medical Association (IMA) Covid Task Force in Kerala ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อของอินเดียอย่างฮินดูสถาน ระบุว่า "ไม่ใช่เรื่องใหม่ อันที่จริง ข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้รับการบันทึกไว้อย่างดีและได้รับการตรวจสอบตั้งแต่ต้นปี 2021 (ไม่นานหลังจากการเปิดตัววัคซีน) องค์การอนามัยโลก (WHO) เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 และปรับปรุงในปี 2566 " 

และยังอธิบายเพิ่มเติมว่า การแข็งตัวจนกลายเป็นลิ่มเลือดนั้นมักจะเกิดจากผู้ที่รับโดสแรกและโดสที่สองห่างกันไม่ถึง 1 เดือน นอกจากนี้การเกิดโรค TTS เป็นปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันที่หากได้ยาก นอกจากนี้ภาวะหลอดเลือดอุดตันในสมองยังสามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตอีกหลายอย่างเช่น การสูบบุหรี่ การดื่ม ปริมาณคลอเลสตอรอล ฯลฯ

นอกจากนี้  นายแพทย์ Cyriac Abby Philips ที่ Kerela ของประเทศอินเดียก็ได้ออกมาโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียระบุว่า  “ผลข้างเคียงของการแข็งตัวของวัคซีนนี้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วและพบได้น้อยมาก นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แอสตร้าเซนเนก้ายอมรับความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด (ผลข้างเคียงที่หายากที่สุดอีกครั้ง) ที่เกี่ยวข้องกับโควิด” 

 

สำหรับประเทศไทยได้มีการใช้วัคซีน Covishield สำหรับฉีดป้องกันโควิดในช่วงที่มีการระบาดของโรคเช่นกัน อย่างไรก็ตามได้มีการเตือนถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นก่อนรับการฉีดวัคซีนดังกล่าวไว้แล้ว.