posttoday

LungVax สู่วัคซีนป้องกันมะเร็งปอด Viral vector ตัวแรกของโลก

19 เมษายน 2567

มะเร็งปอด ถือเป็นมะเร็งอีกชนิดที่ได้รับการพูดถึงเป็นวงกว้างในประเทศไทย จากสถานการณ์มลพิษทางอากาศแถบภาคเหนือที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นวงกว้าง แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมีการคิดค้น LungVax วัคซีนป้องกันมะเร็งปอด Viral vector ตัวแรกของโลก

เมื่อพูดถึงมะเร็งปอดเชื่อว่าสิ่งแรกที่หลายท่านต่างนึกถึงอาจเป็นผลกระทบจากการสูบบุหรี่ หากย้อนกลับไปก่อนนี้เล็กน้อยหลายท่านอาจรู้สึกมะเร็งปอดเป็นเรื่องไกลตัว เพียงหลีกเลี่ยงบุหรี่และการเข้าใกล้ช่วงเวลาที่มีการสูบบุหรี่ ก็สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้ไม่ยาก

 

          แต่ในปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับมะเร็งปอดเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อมีการขยายตัวของกลุ่มผู้ป่วยในประเทศไทย เราพบเห็นข่าวการเจ็บป่วยจากมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้นจากข้อมูลเชิงสถิติและข่าวสารต่างๆ โดยเฉพาะแถบพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงแบบก้าวกระโดด จากผลกระทบของฝุ่น PM2.5

 

          วันนี้เราจึงมาลงรายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบของฝุ่น PM2.5 กับมะเร็งปอดกันเสียหน่อย

 

LungVax สู่วัคซีนป้องกันมะเร็งปอด Viral vector ตัวแรกของโลก

 

มลพิษทางอากาศ อีกหนึ่งต้นตอแห่งมะเร็งปอดในไทย

 

          ข้อมูลสถิติจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ปัจจุบันไทยมีอัตราการขยายตัวของผู้ป่วยมะเร็งปอดเพิ่มสูงขึ้น ในแถบพื้นที่ภาคเหนือที่การพบผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่เฉลี่ย 2,487 ราย/ปี และมีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดกว่า 1,800 ราย/ปี เลยทีเดียว

 

          สาเหตุของเรื่องนี้เกิดจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ที่กินเวลายืดเยื้อมานับ 10 ปี แนวโน้มมลพิษทางอากาศที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่โดยตรง นำไปสู่การเกิดโรคทางเดินหายใจเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในช่วงที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานจนถูกเรียกว่า ฤดูฝุ่น

 

          จริงอยู่ฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด แต่ก็ถือเป็นสารก่อมะเร็งอีกชนิดที่สร้างผลกระทบทางเดินหายใจต่อผู้คนเป็นวงกว้าง ยืนยันได้จากผลงานวิจัยจากทั่วโลกว่า การสัมผัสหรือได้รับฝุ่น PM2.5 เป็นเวลานานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น มะเร็งปอด

 

          อีกหนึ่งข้อยืนยันในส่วนนี้มาจากงานวิจัยของ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าในช่วงที่ค่าฝุ่นพุ่งสูง เซลล์กระพุ้งแก้มของผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองมีการเปลี่ยนแปลง บ่งบอกว่ายีนมีความผิดปกติและมีแนวโน้มที่อาจพัฒนาเซลล์มะเร็งในอนาคต

 

          สอดคล้องกับสถิติข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งปอดที่พบได้มากในชาวเอเชีย โดยมีสาเหตุมาจากยีนกลายพันธุ์อย่าง EGFR ที่มีตัวกระตุ้นสำคัญคือฝุ่น PM2.5 นี่จึงเป็นเหตุผลให้เราต้องมีมาตรการจัดการและควบคุมฝุ่นอย่างเร่งด่วน แม้ปัจจุบันแนวโน้มของเรื่องนี้จะยากมากก็ตาม

 

          แต่ใช่จะหมดหวังเสียทีเดียวเมื่อเริ่มมีการคิดค้นวัคซีนสำหรับยับยั้งมะเร็งปอดขึ้นมาโดยเฉพาะเช่นกัน

 

LungVax สู่วัคซีนป้องกันมะเร็งปอด Viral vector ตัวแรกของโลก

 

LungVax ครั้งแรกของโลกกับวัคซีนป้องกันมะเร็งปอด

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of Oxford, the Francis Crick Institute ร่วมกับ University College London กับการพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ LungVax วัคซีนป้องกันมะเร็งปอดตัวแรกของโลก ได้รับการออกแบบสำหรับใช้ป้องกันมะเร็งปอดให้แก่ผู้มีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะ

 

          การพัฒนาวัคซีนชนิดนี้ได้รับการต่อยอดจากการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca ที่ประสบความสำเร็จในการส่งสารพันธุกรรมของไวรัสผ่านเชื้อพาหะส่งตรงเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้ผู้ได้รับวัคซีนเกิดความคุ้นเคยจนนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันโรค

 

          นี่เองจึงเริ่มมีแนวคิดในการพัฒนาวัคซีนที่สามารถรับมือโรคมะเร็งได้ ตามปกติมะเร็งเกิดขึ้นจากเซลล์หรือยีนในร่างกายของเราที่กลายพันธุ์ ก่อนเกิดการแบ่งตัวและแพร่กระจายภายในร่างกายจนเป็นสาเหตุการเสียชีวิต หากสามารถยับยั้งกระบวนการนี้ได้เราก็อาจรับมือมะเร็งได้เช่นกัน

 

          ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้คิดค้น LungVax โดยอาศัยประโยชน์จากเซลล์โปรตีน Neoantigens โปรตีนที่มักปรากฏบนพื้นผิวของเซลล์ที่มีการกลายพันธุ์ในระดับดีเอ็นเอต้นตอของมะเร็งปอด แต่โดยพื้นฐานโปรตีนชนิดนี้ไม่มีอันตราย ทีมวิจัยจึงอาศัยเทคนิค Adenoviral vector เพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อโปรตีนชนิดนี้

 

          เมื่อได้รับการกระตุ้นจากวัคซีนว่าโปรตีนชนิดนี้เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้เมื่อเซลล์ในร่างกายเริ่มกลายพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองและกำจัดเซลล์แปลกปลอมนี้ทันที ช่วยยับยั้งการก่อตัวและแพร่กระจายของมะเร็งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งปอดในที่สุด

 

          ทางทีมวิจัยคาดว่า LungVax จะมีฤทธิ์ครอบคลุมป้องกันการเกิดมะเร็งปอดให้แก่ผู้ป่วยกว่า 90% ซึ่งจะช่วยลดจำนวนการเกิดผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดทั่วโลกเป็นอย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้ป่วย คนรอบข้าง ไปจนระบบสาธารณสุข ที่กำลังประสบปัญหาจากมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น

 

          การคิดค้นวัคซีนชนิดนี้จึงอาจเป็นการพลิกโฉมวงการมะเร็งและการรักษามะเร็งปอดในระยะยาว

 

 

 

 

          ปัจจุบันโครงการพัฒนา LungVax อยู่ในขั้นตอนทดสอบเตรียมเข้าสู่ช่วงทดลองทางคลินิก อาจต้องใช้เวลาในการตรวจสอบประสิทธิภาพจึงอาจไม่ออกมาให้เราใช้งานกันเร็วนัก อย่างไรก็ตามทางทีมวิจัยยืนยันว่า วัคซีนเพียงช่วยป้องกันโอกาสเกิดมะเร็งในระยะแรก แนวทางรับมือที่ดีที่สุดยังคงเป็นหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อมะเร็งในอากาศเช่นเดิม

 

          ดังนั้นเรายังจำเป็นต้องลดและควบคุมค่าฝุ่นอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้สุขภาพของผู้คนแย่ลงกว่านี้

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.thaipbs.or.th/news/content/331907

 

          https://www.thaipbs.or.th/news/content/338847

 

          https://www.cmu.ac.th/th/article/2d88cf70-018d-4de1-8dbd-182d32249e82

 

          https://news.cancerresearchuk.org/2024/03/22/1-7-million-for-the-worlds-first-vaccine-to-prevent-lung-cancer/

 

          https://www.ox.ac.uk/news/2024-03-22-new-funding-development-worlds-first-lung-cancer-vaccine