posttoday

ศูนย์ ACAI ยุทธศาสตร์รองรับสังคมสูงวัย เสริมพลังกาย-ใจผู้สูงอายุทั่ว ASEAN

05 เมษายน 2567

ชวนส่องเป้าหมาย "ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงอายุและนวัตกรรม (ACAI)" หลังไทยประกาศเป็นประเทศเจ้าบ้านเสริมความร่วมมือด้านการสูงวัยอย่างมีศักยภาพ (Active Ageing) ในภูมิภาคอาเซียน เสริมพลังกาย-ใจ ดูแลผู้สูงอายุในทุกมิติ

สืบเนื่องจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันแห่งครอบครัว ประจำปี 67 (5 เมษายน 2567) ภายใต้แนวคิด “ผู้สูงวัย ศูนย์รวมใจของครอบครัวเพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของผู้สูงอายุและครอบครัว 

การวางแผนกำหนดมาตรการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในประเทศไทยถือว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การดำรงชีวิต และการมีส่วนร่วมในสังคม หากเรามียุทธศาสตร์ที่ช่วยเสริมพลังกายพลังใจให้กับผู้สูงวัยในประเทศ คงจะเป็นเรื่องที่ดีอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ไทยเราเองได้เสริมความร่วมมือด้านการสูงวัยอย่างมีศักยภาพในภูมิภาคอาเซียน จนเกิดการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงอายุอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI) เพื่อให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุในมิติต่าง ๆ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย

ศูนย์ ACAI ยุทธศาสตร์รองรับสังคมสูงวัย เสริมพลังกาย-ใจผู้สูงอายุทั่ว ASEAN  

“ACAI” ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงอายุอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม เกิดขึ้นได้อย่างไร?

  • ในปี 2559 ไทยได้ริเริ่มผลักดันความร่วมมืออาเซียน ด้านการสูงวัยอย่างมีศักยภาพ (Active Ageing) เป็นครั้งแรกในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 19 เมื่อเดือนกันยายน 2559 และที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ ASEAN Plus Three Statement on Active Aging หลังจากนั้นไทยได้เสนอและบรรจุการจัดตั้งศูนย์ ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation (ACAI) ที่กรุงเทพมหานคร ภายในปี 2562 ไว้ในแผนปฏิบัติการ 5 ปี ของ Health Cluster 1 (Promoting Healthy Lifestyle)

 

  • ต่อมาในปี 2560 ที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน (ASEAN Health Minister Meeting:AHMM) ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 3 - 7 ก.ย. 2560 ได้ให้การรับรอง ASEAN Health Cluster Work Programmes of ASEAN Post - 2015 Health Development Agenda (2016 - 2020) ซึ่งระบุการ จัดตั้งศูนย์ ACAI ภายในปี 2562 ในประเทศไทย

 

  • ปี 2561 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบได้เป็น เจ้าภาพจัดการประชุม Consultlative Meeting on the Establishment Agreement of ACAI อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกร่างข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้ง ACAI

 

  • ปี 2562 ไทยประกาศเปิดตัวศูนย์ ACAI อย่างเป็นทางการ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562  และถัดจากนั้นเพียง 1 ปี  ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการ จัดตั้ง ACAI

 

  • ปี 2567 กระทรวงสาธารณสุขจัดพิธีลงนามความตกลงประเทศเจ้าบ้าน (Host Country Agreement)  เพื่อให้ไทยอยู่ในฐานะเจ้าบ้านของศูนย์ ACAI ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความเป็นนิติบุคคล และ เอกสิทธิ์ สำหรับการปฏิบัติภารกิจในการเสริมสร้างศักยภาพและคุณค่าสังคมผู้สูงอายุในไทย

ศูนย์ ACAI ยุทธศาสตร์รองรับสังคมสูงวัย เสริมพลังกาย-ใจผู้สูงอายุทั่ว ASEAN

เป้าหมายการจัดตั้งศูนย์ “ACAI”

แนวคิดการจัดตั้งศูนย์ ACAI สังคมสูงวัย เป็นปรากฏการณ์ที่กําลังเกิดขึ้นในโลกยุคศตวรรษที่ 21 จากอัตราการเกิดและเสียชีวิตที่ต่ำลง ประกอบกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่มีความทันสมัยทําให้มนุษย์มีชีวิต ยืนยาวขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ประชากรในประเทศสมาชิกอาเซียนมีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นซึ่งมีผลต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสําคัญ

ปัจจุบันอาเซียนมีประชากรมากกว่า 660 ล้านคน โดยประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจํานวน กว่า 74 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11 ของประชากรทั้งภูมิภาค โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าสู่สังคมสูงวัย (Ageing Society) และสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) แล้ว จํานวน 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ เมียนมา ซ้ำยังมีคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศจะกลายเป็น สังคมสูงวัย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เป้าหมายหลักของการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงอายุอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ACAI) คือมอบความสะดวกในการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านโครงการพัฒนาขีดความสามารถและติดตามความคืบหน้าของการสูงวัยเชิงรุกตามแถลงการณ์อาเซียน +3 ว่าด้วยวัยสูงวัยเชิงรุก ทศวรรษแห่งผู้สูงอายุอย่างมีสุขภาพดีของสหประชาชาติ พ.ศ. 2564-2573 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งประกอบด้วย 5 ด้านหลักที่สำคัญ ได้แก่

1.การเป็นศูนย์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ

2.ให้คำแนะนำเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางการส่งเสริมผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ

3.การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ

4.การวิจัย การพัฒนา และการสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ 

5.ติดตามพัฒนาการของสังคมผู้สูงวัยในอาเซียน

ศูนย์ ACAI ยุทธศาสตร์รองรับสังคมสูงวัย เสริมพลังกาย-ใจผู้สูงอายุทั่ว ASEAN

ขณะที่ทางด้านองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ยังให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมาย “การสูงวัยอย่างสุขภาพดี” โดยแนะนำให้ประเทศสมาชิกลงทุนการจัดการข้อมูลเพื่อติดตามภาวะสุขภาพตลอดช่วงชีวิต, พัฒนาเครื่องมือและคู่มือสุขภาพประชากรสูงวัยเพื่อให้ประเทศสามารถนำมาใช้เป็นหลักการในการทำงานและการดูแลแบบบูรณาการสำหรับผู้สูงอายุ (Integrated Care for Older People) ได้

หากศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงอายุอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ACAI) ได้รับความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยแล้ว รัฐบาลไทยจะทุ่มงบปีละประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ (ราว 180 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนงานและกิจกรรมของ ACAI ในช่วง 5 ปีแรก เพื่อให้ทางศูนย์เกิดความมั่นคงจนสามารถดำเนินกิจกรรมด้วยตัวเองต่อไปได้ หลังจากนั้นเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมของศูนย์จะมาจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน (โดยสมัครใจ) ซึ่งคาดว่าจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัย และส่งเสริมคุณค่าของผู้สูงอายุในอาเซียน ให้ยังคงเป็นทรัพยากรด้านกำลังคนที่ยังมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงอายุอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ACAI) ตั้งอยู่ที่อาคารนวัตกรรมและเทคโนโลยีสุขภาพผู้สูงวัย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี