posttoday

จับตานโยบายพม. 'แก้วิกฤตประชากร' เน้นสวัสดิการมุ่งเป้า! เตรียมชงเข้า ครม.

07 มีนาคม 2567

'วราวุธ' ระดมทุกภาคส่วนออกแบบมาตรการ 'แก้วิกฤตประชากร' ชี้สวัสดิการแบบ 'ถ้วนหน้า' จะทำให้รัฐล้มละลาย เพราะใช้งบกว่าล้านล้านบาท จึงต้องศึกษาปัญหาและจัด 'สวัสดิการแบบมุ่งเป้า' ย้ำการแก้ไขปัญหาประชากรให้สำเร็จไม่ใช่แค่การให้เงิน แต่ต้องสร้างระบบที่เหมาะสม

KEY

POINTS

  • อัตรามีบุตรของหญิงไทย ต่อผู้หญิง 1 คนต่ำกว่าประเทศญี่ปุ่น พบมีบุตรอัตรา 1 ต่อ 1 น้อยลงจากแต่ก่อนที่นิยมมีบุตรอัตรา 1ต่อ 6 ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีอัตรามีบุตร 1 ต่อ 1.3 คน ขณะที่ประเทศเกาหลีอยู่ที่ 1 ต่อ 0.7 คน
  • วราวุธแจงหากไทยจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้าแก่ผู้สูงอายุเท่ากับว่าต้องใช้ค่าใช้จ่ายเกือบล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งจะกระทบเสถียรภาพของรัฐ
  • ประเด็นท้าทายระดับชาติต่อการแก้วิกฤตประชากร : ค่าใช้จ่ายสูง - คนไม่อยากมีลูก - แรงงานน้อยด้อยคุณภาพ
  • แนวทางนโยบายแก้ปัญหาจากพม. เน้นสวัสดิการมุ่งเป้าไม่ถ้วนหน้า - Reskill-Upskill คนทุกวัย - สร้างระบบสังคมที่น่าอยู่และมีความหวัง

วันนี้ (7 มีนาคม 2567 ) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นวิกฤตประชากร" เพื่อระดมความคิดจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ หน่วยงานต่างประเทศอย่าง World Bank ฯลฯ ภาคเอกชน นักวิชาการและภาคประชาสังคม มาออกแบบนโยบายการขับเคลื่อนประเทศซึ่งกำลังประสบกับความท้าทายด้านประชากรที่ส่งผลกระทบต่อทุกช่วงวัย 

โดยสาเหตุสำคัญของวิกฤตประชากรคือ คนไทยเกิดขึ้นลดลง และไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด โดยอัตราการเกิดต่อผู้หญิงหนึ่งคนจาก 6 คน เหลือเพียง 1 คนเท่านั้น ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 1 ต่อ 1.3 คนและเกาหลีใต้ 1 ต่อ 0.7 คน และมีประชากรลดลงปีละ 5 แสนคน ในขณะที่ 17 ปีก่อนอัตราการซัพพอร์ตผู้สูงอายุ 1 คนอยู่ที่ 6 คน และทุกวันนี้อัตราการซัพพอร์ตอยู่ที่ 1 ต่อ 3.2 คน และในอีกสิบปีข้างหน้าจะเหลือแค่ 1 ต่อ 2 คนเท่านั้น เท่ากับว่าเจนอัลฟ่าและเจนซีจะเป็น 'เดอะแบก' ในการต้องช่วยซัพพอร์ตผู้สูงอายุอย่างแน่นอน

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา

 

ประเด็นท้าทายระดับชาติต่อการแก้วิกฤตประชากร

  • ค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงอายุ  'หากเป็นเช่นนี้ต่อไป รัฐล้มละลาย'

นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้ให้ข้อมูลซึ่งผูกโยงกับการเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุว่า วันนี้ค่าใช้จ่ายของรัฐในการใช้งบประมาณถึง 7.7 หมื่นล้านบาทต่อการดูแลผู้สูงอายุ 10.3 ล้านคน ซึ่งยังไม่ได้ใช้กับผู้สูงอายุทุกคน และหากมีการใช้งบประมาณแบบขั้นบันไดนี้ต่อไปเราจะต้องใช้งบประมาณมากกว่า 1.2 แสนล้านบาท แต่ถ้าหากไม่อยากใช้งบประมาณแบบขั้นบันได คือให้แบบถ้วนหน้า เช่น การให้เงินผู้สูงอายุทุกคนต่อเดือน เดือนละ 1,000 บาท ต้องใช้งบประมาณ 1.9 แสนล้านบาท และการใช้เงิน 3,000 บาทต่อเดือนให้แก่ผู้สูงอายุทุกคนก็จะต้องใช้เงินถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนของรัฐ และอาจทำให้ล้มละลายได้ ส่วนการใช้จ่ายในการดูแลประกันสุขภาพของคนซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้าประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านคน และใช้งบประมาณอีก 6 หมื่นล้านบาท 

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ารัฐต้องใช้งบประมาณถึงเกือบล้านล้านบาทในอนาคตเพื่อดูแลกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต!

นอกจากนี้ จากข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (National Transfer Accounts:NTA) พบว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะทำให้ภาระทางการคลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ในปี 2583 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.41 รวมทั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณด้านสังคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะยังสูงขึ้นในระยะยาว 

 

  • 'คนไม่อยากมีลูกเพิ่มขึ้น'

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2565 มีจำนวนผู้สูงอายุที่ทำงาน 4.74 ล้านคน ( 36.1%) เพิ่มขึ้น 2 แสนคนจากปี 2564 โดยผู้สูงอายุยังคงทำงาน เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจและมีเงินออมไม่พอ ประกอบกับไม่มีลูกหลานดูแล และแม้ว่าจะมีลูกหลานดูแลแต่ด้วยสถิติที่กล่าวไว้ด้านบนคืออัตราการเกื้อหนุนหรือซัพพอร์ตของบุตรหลานในอีก 10 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ ผู้สูงอายุ 1 คนต่อลูกหลาน 2 คน ทำให้ภาระของการดูแลมากขึ้น อีกทั้งยังพบว่าในอนาคต ผู้ที่อยู่ในวัย 50-59 ปีจะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุในวัย 80 ปีเพิ่มขึ้นอีกด้วย  ..

ประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจในการแถลงนโยบายครั้งนี้คือ นายวราวุธได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพครอบครัวไทยที่มีพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยพบว่าครอบครัวไทยทุกวันนี้มีลักษณะเป็นปัจเจกบุคคลมากยิ่งขึ้น โดยพบว่าครัวเรือนที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 16.4 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 21.4 ในปี 2565  เพิ่มขึ้นเรื่อยมาสวนทางกับครอบครัวที่อยู่ร่วมกับบุตรซึ่งลดลดจากปี 2537 ที่มีรูปแบบการอาศัยอยู่กับผู้สูงอายุที่ร้อยละ 75 ปัจจุบัน (2564) อยู่ที่ร้อยละ 45 เท่านั้น

นายวราวุธกล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าสภาพครอบครัวของไทยแตกต่างไปจากแต่ก่อนที่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ และลูก-หลานยังอยู่กับผู้สูงอายุ จึงทำให้ผู้สูงอายุมีผู้ดูแลเป็นคนในครอบครัว แต่หากสังคมยังเป็นปัจเจกอย่างทุกวันนี้ การดูแลผู้สูงอายุจะเป็นความรับผิดชอบของตัวผู้สูงอายุเอง รวมไปถึงตกมาเป็นภาระของรัฐ ซึ่งอย่างที่กล่าวไปแล้วว่ากระทบกับเสถียรภาพแน่นอน .. จึงต้องมาดูปัญหาว่าเหตุผลของการที่บุตรหลานไม่ได้อยู่กับผู้สูงอายุคืออะไร โดยเฉพาะประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการทำงาน จะมีมาตรการที่ทำให้บุตรหลานสามารถกลับไปทำงานที่ถิ่นฐานเดิมและดูแลผู้สูงอายุไปพร้อมๆ กันหรือไม่

 

  • แรงงานน้อย ด้อยคุณภาพ

นายวราวุธกล่าวว่า จำนวนประชากรที่ลดลงย่อมต้องอาศัยประชากรที่มีคุณภาพ โดยไม่ได้กล่าวโทษการทำงานของใคร แต่ในวันนี้เราต้องร่วมมือกันเพื่อที่จะหาลู่ทางเพิ่มศักยภาพของแรงงาน Reskill - Upskill การทำงาน และไม่ใช่แค่เฉพาะในวัยทำงานเท่านั้น แต่เป็นประชากรในทุกช่วงวัยให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคปัจจุบัน และมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานสมัยใหม่ อีกทั้งประชากรในกลุ่มเปราะบางก็ถือว่าเป็นประชากรกลุ่มที่มีศักยภาพ หากเราสามารถส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพให้แก่คนกลุ่มนี้

 

ส่วนหนึ่งของผู้ที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ จากหน่วยงานและองค์กรทั้งในและต่างประเทศ

 

Mega Trend เปลี่ยนความคิด ส่งผลต่อการไม่อยากมีบุตร

เมื่อพูดถึงวิกฤตการเพิ่มประชากร จะพบว่าปัญหาที่เป็นปัจจัยหลักและมีความซับซ้อนในการแก้ไขที่สุด คือ ทัศนคติการไม่อยากมีบุตรในคนปัจจุบัน โดย Mega Trend ที่ส่งผลอย่างชัดเจนต่อการเลือกชีวิตโสด ไม่มีบุตร หรือมีบุตรช้า ได้แก่

ปัจจัยเชิงสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเน้นความเป็นปัจเจก ให้ความสำคัญกับวัตถุ และความไม่เท่าเทียมในบทบาททางเพศยังคงปรากฎอยู่

ปัจจัยเชิงจิตวิทยาสังคม  ได้แก่ การให้ความสำคัญกับชีวิตการเรียนและการทำงาน สภาพการทำงานที่มีการแข่งขันสูง ต้องทำงานเชิงเศรษฐกิจทั้งชายและหญิง ส่วนผู้หญิงก็ยังคงแบกภาระงานบ้านและการดูแลสมาชิกในบ้าน การลงทุนทางการศึกษาสำหรับบุตรมีค่าใช้จ่ายสูง รวมไปถึง Ecosystem ที่ไม่เอื้อต่อการสร้างครอบครัว

 

'วราวุธ' เผยแนวทางนโยบายขับเคลื่อน แก้วิกฤตประชากร

ทั้งนี้นายวราวุธ ได้พูดถึงแนวทางนโยบายการแก้ปัญหาวิกฤตประชากรที่ต้องรีบทำอย่างทันที โดยสิ่งที่ต้องทำได้แก่

แนวทางนโยบายที่ 1 เสริมพลังวัยทำงาน : ให้วัยทำงานสามารถตั้งตัวได้ไว เพิ่มคุณภาพและศักยภาพของคนวัยทำงาน เพื่อที่จะสามารถสร้างและดูแลครอบครัวได้ และสูงอายุอย่างมีคุณภาพ 

แนวทางนโยบายที่ 2 เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน : โดยเร่งปฏิรูปคุณภาพการศึกษา สร้างความตระหนักในการวางแผนชีวิตครอบครัว และปรับบทบาทของโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนสำหรับคนในทุกช่วงวัย

แนวทางนโยบายที่ 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา : โดยการเพิ่มบทบาทของผู้สูงอายุในสังคมและในเชิงเศรษฐกิจ ขยายอายุการทำงานทั้งรัฐและเอกชน 

แนวทางนโยบายที่ 4 เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ : เช่น การเพิ่มโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษา สร้างเส้นทางอาชีพ และส่งเสริมการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี และเสริมศักยภาพครอบครัวให้สามารถดูแลผู้พิการได้

แนวทางนโยบายที่ 5 สร้างระบบนิเวศ เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว : โดยใช้สวัสดิการแบบมุ่งเป้า เช่น มุ่งเป้าที่กลุ่มประชากรวัยทำงานที่ต้องการสร้างครอบครัวหรือที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ หรือการสนับสนุนการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมต่อสมาชิกทุกวัย โดยนายวราวุธมองว่าการที่จะให้สวัสดิการแบบถ้วนหน้านั้นเป็นไปไม่ได้ และต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด  ให้สวัสดิการแต่ละอย่างเหมาะสมกับแต่ละส่วน

 

" ปี 2565 มีคนขึ้นทะเบียนเสียภาษีกับกรมสรรพากร 11 ล้านคนจาก 66 ล้านคน และใน 11 ล้านคนมีคนเสียภาษีแค่ 4.5 ล้านคน ไม่ถึงร้อยละ 10 ของประเทศ อันนี้คือในนามบุคคลไม่นับห้างร้าน และถ้าคนเสียภาษีน้อยลงอยู่แล้ว อัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลง Productivity น้อยลงอีก คำถามคือในอนาคตจะเป็นอย่างไร ใครจะมาเสียภาษี ..

การแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยไม่ใช่แค่นำคนสองคนมาอยู่ด้วยกันได้ แต่มันคือผลลัพธ์ของทุกส่วนของสังคมต้องทำสังคมให้น่าอยู่ ลูกเกิดมาจะปลอดภัยมั้ย เรียนหนังสือที่ไหน เจอยาเสพติดหรือไม่ โตไปเป็นอย่างไร ถ้าเราหาปัจจัยเหล่านี้และทำให้สังคมน่าอยู่ ซึ่งมีหลายปัจจัยเหลือเกิน เป็นบทบาทของทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกันจึงมีหวัง วันนั้นคือการที่เราน่าจะแก้ไขปัญหาการไม่อยากมีลูกได้สำเร็จ ..

นั่นคือสาเหตุว่าทำไมทุกวันนี้ ประเทศหลายประเทศยังไม่สามารถแก้ปัญหาการเกิดใหม่ของประชากรได้ เพราะไม่ใช่แค่การผลิตได้ แต่เป็นการแก้ไขปัญหาสังคมโดยรวม การให้เงินอย่างเดียวไม่ใช่การแก้ไขปัญหา เราจึงต้องสร้างระบบภาพรวมทั้งหมด"  นายวราวุธกล่าวในตอนหนึ่งของการแถลง

 

บรรยากาศการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนสู่การออกนโยบาย-มาตรการ

 

หลังจากนี้สิ่งที่ต้องจับตามองคือ การประชุมระดมความคิดจากผู้คนในทุกส่วนซึ่งเกิดขึ้นวันนี้ จะนำไปสู่นโยบายและมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างไรต่อไป โดยในวันพรุ่งนี้ (8 มี.ค.) ทางกระทรวงพม. จะมีนัดแถลงสรุปการประชุม และจะดำเนินการจัดทำสมุดปกขาวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะได้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาในช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งในสมุดปกขาวดังกล่าวจะรวบรวมแนวทางและนโยบายจากทุกกระทรวงเพื่อแก้วิกฤตประชากรของประเทศ  อันเป็นปัญหาใหญ่และปัญหาสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับวิถีชีวิตของคนทุกคนในสังคม.