posttoday

กรุงเทพประกันภัย จับมือ กรมสุขภาพจิต หวังคนไทยห่างไกลซึมเศร้า

06 มีนาคม 2567

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้ แม้เทคโนโลยี-นวัตกรรมจะพัฒนาไปมากแค่ไหน แต่คนไทยกลับเผชิญปัญหาทางสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น จากการใช้ชีวิตท่ามกลางความเครียด เร่งสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วน หวังคนไทยห่างไกลซึมเศร้า

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ภาวะซึมเศร้าของไทยว่า “แม้โลกจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ให้เข้ามามีส่วนช่วยในทุกระบบ แต่พบว่าคนไทยยังคงเผชิญกับภาวะปัญหาทางสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ประชาชนใช้ชีวิตท่ามกลางความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า เจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติด จะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยทางจิตเวชในไทย เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564 

จากข้อมูลล่าสุดบนระบบรายงาน HDC ของกระทรวงสาธารณสุขปี 2566 พบว่าผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้นกว่า   3 แสนรายหรือคิดเป็นร้อยละ 12.09 รวมถึงประมาณการณ์ว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และอาจมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เข้ารับการบำบัดดูแล ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากพบสถิติว่าโรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักนำไปสู่การฆ่าตัวตายของคนไทยและผู้ป่วยซึมเศร้ามีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป และมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงร้อยละ 70 

ขณะที่อัตราส่วนจิตแพทย์ 1.25 คน ต้องดูแลคนไทยถึง 1 แสนคน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะขยับเข้ามามีส่วนร่วมในช่วยเหลือให้คนไทยมีสุขภาวะทางจิตที่ดีอย่างถ้วนหน้า โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นภาคส่วนที่มาจากด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากภาคเอกชนที่มีความสนใจและใส่ใจในการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีของสังคมไทย การมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ จะทำให้เกิด ผลลัพธ์ที่แตกต่างไปจากการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตในปัจจุบัน ช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเกิดขึ้นได้ทุก

กรุงเทพประกันภัย จับมือ กรมสุขภาพจิต หวังคนไทยห่างไกลซึมเศร้า ที่ ทุกเวลา 

ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นคำตอบของการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีและความสุขของสังคมไทยอย่างยั่งยืน กรมสุขภาพจิต รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นทางบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามีส่วนสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการสร้างความตระหนักและรอบรู้ด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยผู้ป่วยและครอบครัวที่กำลังต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ ยังเป็นการร่วมมือครั้งสำคัญที่สะท้อนภาพว่า เรื่องสุขภาพจิตไม่เป็นเพียงแค่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน”

ด้าน ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากสภาพสังคมที่เปราะบางด้วยปัญหาและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ส่งผลให้คนในสังคมไทยประสบกับสภาวะทางความเครียดสะสม มีความอ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้า ทั้งที่แบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว ส่งผลให้เกิดภาพในจินตนาการต่อตนเองในแง่ลบ และหากไม่ได้รับการแนะนำหรือการดูแลอย่างเหมาะสมหรือถูกวิธี อาจจะนำไปสู่การทำร้ายตนเอง และเลวร้ายที่สุดคือการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรที่มีค่าของสังคมอย่างน่าเสียดาย”

กรุงเทพประกันภัย จับมือ กรมสุขภาพจิต หวังคนไทยห่างไกลซึมเศร้า

นอกจากนี้ กรุงเทพประกันภัยและกรมสุขภาพจิตยังได้เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าที่ถือว่าเป็นอาการของโรคที่สามารถรักษาได้ เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าภาวะซึมเศร้าเป็นความอ่อนแอ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่จริงๆ แล้วภาวะซึมเศร้าเป็นอาการที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ต่างจากโรคทางกายอื่นๆ ซึ่งสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ทางกาย ด้านจิตใจ และสภาวะแวดล้อมต่างๆ 

โดยสิ่งที่ภาพยนตร์โฆษณาต้องการจะสื่อคือการสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนรับรู้ว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นอาการของโรคที่ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอหรือไม่ใช่แค่ความรู้สึก และอยากให้เขาเหล่านั้นได้เข้าไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323 โดยเล่าเรื่องราวนี้ผ่านนายปองกูล สืบซึ้ง (ป๊อบ-ปองกูล) ศิลปินอารมณ์ดี 

ทั้งนี้ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ให้ความรู้ในเรื่องการดูแลผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าว่า “สถานการณ์ของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและกำลังเป็นปัญหาทางสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขและป้องกันอย่างเร่งด่วนนั้น มีทางออกแรกที่ทุกคนสามารถช่วยกันทำได้และไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการให้ผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ได้มีโอกาสที่จะเล่าระบายความในใจ ที่สำคัญต้องสร้างบรรยากาศของการเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการบอกเล่า เพียงเท่านั้นก็สามารถคลี่คลายได้อย่างมาก

ส่วนการให้คำแนะนำว่า สู้ๆ สามารถทำได้  แต่ต้องเข้าใจว่าผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ากำลังสู้กับอะไร ฟังก่อนว่ากำลังทุกข์ใจเรื่องอะไร มีคนบอกว่า อย่าพูดว่า สู้ๆ แต่ที่จริงแล้วคำว่า สู้ๆ สามารถพูดได้ ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าเขากำลังสู้อยู่กับอะไร ถ้าเราฟังเขาจนเข้าใจแล้วรู้ว่า เขากำลังสู้อยู่กับปัญหาอะไร ปัญหาแบบนี้ในมุมมองของเขาเป็นอย่างไร ความเข้าใจและรับรู้ถึงสถานการณ์ก่อนจึงสามารถให้กำลังใจได้อย่างเหมาะสม หรือว่าบางทีการนั่งอยู่เฉยๆ เพื่อรับฟังก็ถือว่าเป็นการให้กำลังใจได้อีกช่องทางหนึ่งหรือที่เรียกว่า แค่เล่าก็เบาแล้ว เพราะคนเราไม่ได้โชคดีที่จะมีคนรับฟัง แต่ถ้าคุณสามารถเป็นคนคนหนึ่งที่รับฟังใครสักคนได้นั่นถือเป็นการช่วยเหลือที่ดีมากที่สุดแบบหนึ่งทีเดียว”