posttoday

ไม่ต้องแฮกให้เหนื่อย กลไกสอดแนมกล้องผ่านเสาอากาศ

26 กุมภาพันธ์ 2567

เมื่อพูดถึงการสอดแนมกล้องวงจรปิด หลายท่านอาจถึงนึกการใช้แฮกเกอร์มือฉมังมาเจาะระบบ แต่จะเป็นอย่างไรหากการเข้าถึงข้อมูลทำได้โดยอาศัยเพียงเสาอากาศจนเข้าถึงกล้องดิจิทัลทุกชนิดและไม่สามารถตรวจสอบโดยสิ้นเชิง

การใช้งานกล้องวงจรปิดเป็นเรื่องทั่วไปภายในสังคม เราสามารถพบเห็นการติดตั้งกล้องรักษาความปลอดภัยตามสถานที่ต่างๆ คอยสอดส่องเฝ้าระวังและตรวจตราพื้นที่ที่กำหนดแบบเรียลไทม์ อีกทั้งสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันในกรณีเกิดคดีความ นี่จึงถือเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

 

          อย่างไรก็ตามการใช้งานกล้องวงจรปิดสำหรับรักษาความปลอดภัยอาจเป็นอันตรายได้เช่นกัน โดยเฉพาะกรณีที่ระบบของกล้องถูกสอดแนมหรือแทรกแซงจากภายนอก อาจทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลจนเป็นอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินภายในพื้นที่ได้

 

          แต่จะเป็นอย่างไรหากการสอดแนมเหล่านั้นสามารถทำได้โดยอาศัยเพียงเสาอากาศ

 

ไม่ต้องแฮกให้เหนื่อย กลไกสอดแนมกล้องผ่านเสาอากาศ

 

EM Eye ระบบสอดแนมกล้องวงจรปิดจากเสาอากาศ

 

          เทคนิคนี้ได้รับการค้นพบโดยทีมวิจัยจาก Northeastern University ที่สามารถทำการเข้าถึงข้อมูลของกล้องเกือบทุกชนิดได้โดยอาศัยเพียงเสาอากาศ โดยสามารถใช้ดักสัญญาณภายในอุปกรณ์ที่ใช้งาน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาแปลงเป็นภาพเพื่อเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้โดยตรง

 

          เมื่อพูดถึงการสอดแนมและแทรกแซงกล้องวงจรปิด สิ่งแรกที่หลายท่านพากันนึกถึงคือการใช้แฮกเกอร์เจาะระบบเข้ามาจากภายนอก ซึ่งขอเพียงระมัดระวังความปลอดภัยไซเบอร์ให้ดีก็สามารถป้องกันได้ แต่ทางทีมวิจัยยืนยันว่าเพียงเสาอากาศก็สามารถแทรกแซงได้เช่นกัน

 

          สาเหตุที่เป็นแบบนี้เนื่องจากกลไกการทำงานกล้องที่จะส่งข้อมูลผ่านสายไฟที่อยู่ภายใน กลไกนี้อาศัยหลักการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า เพราะสายไฟในกล้องเป็นตัวนำคอยส่งสัญญาณไฟฟ้าจากข้อมูลของวีดีโอ ทำให้เมื่อกระแสไฟฟ้าเกิดความเปลี่ยนแปลงจะสามารถถูกดักข้อมูลไว้ได้ด้วยเสาอากาศ

 

          ข้อมูลที่ได้รับจากการดักข้อมูลสัญญาณอาจมีคุณภาพไม่สูง เกิดความสูญเสียค่อนข้างมากจนยากต่อการประกอบเป็นภาพหรือนำไปใช้งานจริง แต่หากมีความเชี่ยวชาญทางวิศกรรมในระดับหนึ่งก็สามารถปรับปรุงคุณภาพของข้อมูล จนทำให้ภาพออกมากใกล้เคียงกับต้นฉบับได้เช่นกัน

 

          ในขั้นตอนการทดสอบทางทีมวิจัยอาศัยอุปกรณ์ปรับคลื่นความถี่ที่ประมวลผลสัญญาณ ร่วมกับเสาอากาศกำหนดทิศทางที่ช่วยลดสัญญาณรบกวน เมื่อนำมาทดสอบพวกเขาสามารถตรวจจับสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาฉายเป็นภาพวีดีโอได้แบบเรียล์ไทม์

 

          นี่จึงถือเป็นความเสี่ยงใหม่เพราะจะทำให้กล้องที่เราใช้งานสามารถถูกสอดแนมและแทรกแซงได้ทั้งสิ้น

 

ไม่ต้องแฮกให้เหนื่อย กลไกสอดแนมกล้องผ่านเสาอากาศ

 

ความน่ากลัวของ EM Eye ความกว้างและไร้ร่องรอยในการใช้

 

          จริงอยู่ EM Eye มีข้อจำกัดในการใช้งานคือ ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญพอสมควร อีกทั้งระยะทำการไม่สูงนักในการทดสอบระยะสอดแนมสูงสุดอยู่ที่ 5 เมตร ขึ้นกับชนิดและรุ่นของกล้อง แต่นั่นก็เพียงพอให้เราตั้งคำถามต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในแล้วเช่นกัน

 

          หากรู้วิธีและมีความชำนาญมากพอการสอดแนมนี้ทำได้ไม่ยาก อุปกรณ์ที่ใช้งานสามารถหาซื้อได้ตามร้านเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปด้วยต้นทุนหลักพันบาท เพราะระบบของกล้องส่วนมากได้รับการออกแบบไม่ให้แทรกแซงจากภายนอกเป็นหลักจึงไม่เคยมีการป้องกันด้านนี้มาก่อน

 

          นอกจากนี้ EM Eye ยังแตกต่างจากการสอดแนมแบบไร้สายชนิดอื่นคือ พวกเขาไม่ได้ทำการบุกรุกระบบ เซิร์ฟเวอร์ หรือเครือข่ายข้อมูล แต่อาศัยประโยชน์จากกลไกการทำงานของกล้องดิจิทัล ทำให้กล้องที่สอดแนมไม่จำเป็นต้องเป็นกล้องวงจรปิดที่เชื่อมต่อและส่งข้อมูลผ่านระบบออนไลน์เสมอไป แต่เข้าถึงกล้องที่อยู่ในระบบปิดได้เช่นกัน

 

          ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงสามารถเข้าถึงกล้องทุกชนิดขอเพียงมีการใช้งาน เช่น สมาร์ทโฟน, แล็ปท็อป, กล้องติดรถยนต์, จอภาพ ฯลฯ โดยเฉพาะปัจจุบันที่อุปกรณ์อัจฉริยะหลายชนิดมีการติดตั้งกล้องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ อาจเป็นช่องทางให้ EM Eye สอดแนมและรับรู้ข้อมูลทั่วทั้งบ้านเลยทีเดียว

 

          อีกทั้งการสอดแนมข้อมูลนี้ไม่ใช่การบุกรุกระบบเพื่อเข้าถึงข้อมูลจากภายนอก แต่อาศัยสัญญาณเล็ดรอดจากกลไกการทำงานภายในตามที่กล่าวไปข้างต้น นี่จึงเป็นการสอดแนมที่ไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ ไม่สามารถตรวจสอบว่ามีการเข้าถึงข้อมูลโดยสิ้นเชิง ผู้ใช้งานจึงไม่มีทางรู้เลยว่าตนกำลังถูกสอดแนมอยู่หรือไม่

 

          นั่นทำให้ในปัจจุบันเรายังไม่มีวิธีตรวจสอบหรือป้องกันการสอดแนมนี้เลย

 

 

 

          ฟังดูน่ากลัวแต่ตามที่กล่าวไปข้างต้นขอบเขตสอดแนมจากการทดสอบจำกัดที่ราว 5 เมตร จึงอาจไม่ต้องกังวลกับการถูกแทรกแซงจากระยะไกลนัก แต่ก็ควรพัฒนากลไกการทำงานภายในกล้อง เช่น การหุ้มสายไฟไม่ให้มีสัญญาณเล็ดรอด หรือเข้ารหัสข้อมูลภายในกล้องเพิ่มเติม

 

          คงต้องรอดูต่อไปว่ากล้องดิจิทัลจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันช่องโหว่ที่เกิดจากกลไกการทำงานนี้

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.ndss-symposium.org/wp-content/uploads/ndss2024_f552_paper-1.pdf