posttoday

Thermal Earing ต่างหูอัจฉริยะที่วัดอุณหภูมิแม่นกว่าสมาร์ทวอช

21 กุมภาพันธ์ 2567

สมาร์ทวอชถือเป็นอุปกรณ์ตรวจค่าชี้วัดสุขภาพแบบเรียลไทม์ที่มีการใช้งานทั่วไป แต่ปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนเทคโนโลยีนี้ให้อยู่ให้รูปทรงอื่นเพื่อให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือต่างหูอัจฉริยะที่วัดอุณหภูมิร่างกายได้แม่นยำกว่าสมาร์ทวอช

ปัจจุบันการใช้งานสมาร์ทวอชในการดูแลสุขภาพไม่ใช่เรื่องใหม่ ด้วยคุณสมบัติรอบด้านตั้งแต่โทรเข้า-รับสาย, ระบุตำแหน่งผู้ใช้, เก็บข้อมูลออกกำลังกาย, วัดอัตราการเต้นหัวใจ, วิเคราะห์คุณภาพการนอนหลับ, วัดระดับออกซิเจน หรือแม้แต่วัดระดับความเครียดก็สามารถทำได้ทั้งสิ้น

 

          อย่างไรก็ตามโดยพื้นฐานสมาร์ทวอชได้รับการออกแบบให้อยู่ในรูปทรงนาฬิกาข้อมือ สำหรับท่านที่ไม่ชอบสวมใส่นาฬิกาหรือมองว่าไม่เข้ากับแฟชั่นการแต่งตัวอาจไม่อยากนำมาใช้งาน นี่เองจึงนำไปสู่แนวคิดในการพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะชนิดอื่นให้มีคุณสมบัติการใช้งานแบบเดียวกัน

 

          ล่าสุดจึงเริ่มมีการคิดค้นพัฒนาต่างหูอัจฉริยะที่ตรวจวัดอุณหภูมิได้

 

Thermal Earing ต่างหูอัจฉริยะที่วัดอุณหภูมิแม่นกว่าสมาร์ทวอช

 

Thermal Earing ต่างหูอัจฉริยะวัดอุณหภูมิร่างกาย

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of Washington กับการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพชนิดใหม่ โดยครั้งนี้ไม่ใช่นาฬิกาแต่มาในรูปทรงเครื่องประดับอย่าง Thermal Earing ต่างหูอัจฉริยะที่สามารถทำได้ตั้งแต่วัดอุณหภูมิ วัดระดับความเครียด หรือคำนวณวันไข่ตก

 

          จริงอยู่เมื่อพูดถึงอุปกรณ์ตรวจสุขภาพแบบเรียลไทม์สิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงย่อมเป็นสมาร์ทวอช ถือเป็นเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ใช้งานง่ายและมีคุณสมบัติหลายด้าน อย่างไรก็ตามหลายท่านอาจไม่ชื่นชอบหรือไม่สะดวกในการสวมใส่นาฬิกาข้อมือเป็นเวลานาน นำไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์ทางเลือกที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน

 

          หนึ่งในอุปกรณ์ที่ได้รับการคิดค้นคือ Thermal Earing ต่างหูอัจฉริยะที่ตรวจสอบค่าชี้วัดทางสุขภาพได้มากมายตั้งแต่อุณหภูมิ, ความเครียด, วันไข่ตก, คำนวณแคลอรี่, เก็บข้อมูลการออกกำลัง ฯลฯ โดยข้อมูลที่ได้จะถูกส่งผ่านระบบบลูทูธเข้าหาสมาร์ทโฟนที่ทำการเชื่อมต่อ

 

          จุดเด่นของอุปกรณ์ชิ้นนี้คือมีหน้าตาใกล้เคียงกับคลิปหนีบกระดาษ ตัวต่างหูได้รับการออกแบบให้สามารถสวมใส่ได้โดยไม่ต้องทำการเจาะ อาศัยเพียงการไปวางทาบบนติ่งหูแล้วนำแม่เหล็กไปสวมใส่อีกด้าน ทั้งสองส่วนเป็นเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิความแม่นยำสูงที่สามารถแสดงผลอุณหภูมิผู้สวมใส่แบบเรียลไทม์

 

          ในขั้นตอนทดสอบเมื่อให้ผู้ใช้งานทำการตรวจสอบอุณหภูมิด้วยต่างหูอัจฉริยะพบว่า อัตราคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิที่วัดโดยต่างหูอัจฉริยะจะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.32 องศาเซลเซียส ในขณะที่การวัดอุณหภูมิผ่านสมาร์ทวอชจะอยู่ราว 0.72 องศาเซลเซียส อีกทั้งต่างหูอัจฉริยะยังไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในร่างกายอีกด้วย

 

Thermal Earing ต่างหูอัจฉริยะที่วัดอุณหภูมิแม่นกว่าสมาร์ทวอช

 

อุปกรณ์อัจฉริยะที่มีหลายรูปแบบให้เลือกสรร

 

          แน่นอนถ้าพูดถึงการใช้งานอย่างเดียวหลายท่านคงถูกใจสมาร์ทวอชมากกว่า ทั้งในด้านความหลากหลายในการใช้งาน ความเสถียรที่สูงกว่า ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องจนมีออกมาหลายรุ่น ดังนั้นหากต้องการความสะดวกเพียงอย่างเดียว สมาร์ทวอชถือเป็นอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์กว่ามาก

 

          อย่างไรก็ตามสำหรับท่านที่ไม่สะดวกสวมใส่นาฬิกาเป็นการส่วนตัว ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะหลายรูปแบบขึ้นมารองรับ เช่น Oura ring แหวนอัจฉริยะที่ย่อฟังก์ชั่นของสมาร์ทวอชให้อยู่ในรูปทรงแหวน, Ray-Ban Meta แว่นตาอัจฉริยะที่ทำได้ทั้งถ่ายภาพ อัดเสียง ฟังเพลง และรับโทรศัพท์ ไปจนเข็มกลัดติดเสื้ออัจฉริยะที่เชื่อมต่อกับ ChatGPT

 

          สำหรับต่างหูอัจฉริยะมีจุดเด่นในด้านขนาด น้ำหนัก และหน้าตาเหมือนคลิปหนีบกระดาษทั่วไป สามารถสวมใส่ได้โดยไม่จำเป็นต้องเจาะอาศัยเพียงแม่เหล็กหนีบสองด้านบริเวณติ่งหู และสามารถปรับแต่งหน้าตาของต่างหูได้หลากหลายรูปแบบ จึงสามารถนำมาใช้งานในฐานะเครื่องประดับทั่วไป

 

          นอกจากมีค่าคลาดเคลื่อนในการวัดอุณหภูมิที่น้อยกว่า ต่างหูอัจฉริยะยังได้รับการออกแบบมาให้สวมใส่สบาย แบตเตอรี่แม้มีขนาดเล็กแต่สามารถทำงานแสดงผลต่อเนื่องได้ยาวนานถึง 28 วัน จึงสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องยาวนานโดยไม่ต้องชาร์จบ่อยๆ

 

          ตัวระบบได้รับการออกแบบมาให้ติดตามค่าชี้วัดทางสุขภาพในหลายด้าน โดยเฉพาะกับสุภาพสตรีที่ชื่นชอบความสวยงาม ด้วยระบบติดตามการรับประทานอาหาร การออกกำลัง หรือแม้แต่วันไข่ตก อีกทั้งยังอาจเหมาะสมในการใช้งานร่วมกับผู้ป่วยที่ต้องการตรวจสอบสุขภาพของตัวเองเช่นกัน

 

          Thermal Earing จึงถือเป็นตัวเลือกในการดูแลสุขภาพที่อาจถูกใจคอแฟชั่นได้ไม่ยาก

 

 

 

 

          น่าเสียดายสำหรับท่านที่สนใจด้วยต่างหูอัจฉริยะนี้ยังไม่เปิดวางจำหน่ายด้วยกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่ปัจจุบันพวกเขากำลังมองหาช่องติดตั้งระบบตรวจวัดอัตราการเต้นหัวใจเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังอาจติดตั้งโซล่าเซลล์หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์จากการแกว่งตุ้มหู เพื่อให้ผู้ใช้งานไม่ต้องมานั่งพะวงในการชาร์จแบตเตอรี่อีกต่อไป

 

          ที่เหลือคงต้องรอดูว่าต่างหูนี้จะได้รับการพัฒนาให้ออกมาใช้จริงหรือไม่

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.washington.edu/news/2024/02/07/smart-earrings-can-monitor-temperature/

 

          https://www.wired.com/story/humane-ai-pin-700-dollar-smartphone-alternative-wearable/

 

          https://www.nytimes.com/2023/12/13/technology/personaltech/meta-ray-ban-glasses.html

 

          https://www.posttoday.com/post-next/innovation/695809