posttoday

แค่มองก็เป็นข้อมูล RETINA ปัญญาประดิษฐ์ติดตามสายตาเรียลไทม์

16 กุมภาพันธ์ 2567

ข้อมูลผู้ใช้งาน หนึ่งในสิ่งที่เราถูกเก็บรวบรวมอยู่ตลอดบนอินเทอร์เน็ต ถือเป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายราคาแพงที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อกำลังจะมีการเก็บข้อมูลติดตามสายตา(Eye tracking)ของเราแบบเรียลไทม์

เราทราบดีว่าบนโลกอินเทอร์เน็ตมีการเก็บข้อมูลของเราไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีการเก็บรายละเอียดผู้ใช้งานปริมาณมหาศาล ตั้งแต่ข้อมูลส่วนตัว ไอพีแอดเดรส ประวัติการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ ไปจนข้อมูลการใช้งาน ล้วนเป็นข้อมูลที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น

 

          การเก็บข้อมูลในส่วนนี้ผู้ใช้งานจะได้รับทราบผ่านช่องทางข้อตกลงการใช้งาน พร้อมแจ้งเงื่อนไขการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานในรูปแบบต่างๆ ทั้งการใช้งานภายในองค์กร ใช้งานร่วมกับบริษัทในเครือ หรือการขายให้กับบริษัทคู่ค้า และถือเป็นช่องทางทำรายได้หลักให้แก่บริษัทขนาดใหญ่

 

          ล่าสุดการเก็บข้อมูลจะยิ่งถูกยกระดับไปอีกขั้น เมื่อเริ่มมีการพัฒนา AI ติดตามสายตาแบบเรียลไทม์

 

แค่มองก็เป็นข้อมูล RETINA ปัญญาประดิษฐ์ติดตามสายตาเรียลไทม์

 

RETINA ปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับดวงตา

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of Maryland และคณะฯ กับการพัฒนาอัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ RETINA ซึ่งมีศักยภาพในการตรวจสอบการเคลื่อนไหวของดวงตาแล้วนำมาประมวลผลทันท่วงที ช่วยให้สามารถประเมินความสนใจของผู้ใช้งานแต่ละรายได้แบบเรียลไทม์

 

          แนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบติดตามสายตา หรือ Eye tracking ไม่ใช่ของใหม่ ถือเป็นแนวทางที่ผ่านการยอมรับจนมีการใช้งานทั่วไปในหลายวงการ อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้มักเป็นข้อมูลพื้นฐานหรือการบันทึกข้อมูลไปประมวลผลในภายหลัง จึงอาจพลาดข้อมูลและความสนใจของผู้ใช้งานในขณะนั้นๆ

 

          ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้คิดค้น RETINA อัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถติดตามและเก็บข้อมูลสายตาของผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์ จากนั้นจึงนำข้อมูลดังกล่าวมาประเมินและคาดการณ์ความสนใจของผู้ใช้งานในช่วงเวลานั้นได้ว่า ปัจจุบันพวกเขากำลังให้ความสนใจตรงส่วนไหนบนหน้าจอ

 

          ตัวระบบได้รับการพัฒนาให้ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของดวงตาอย่างละเอียด รองรับชุดข้อมูลและพารามิเตอร์การตอบสนองจำนวนมหาศาลได้พร้อมกัน อีกทั้งสามารถตรวจสอบการเคลื่อนไหวของดวงตาแต่ละข้างแยกกัน เพิ่มความละเอียดของข้อมูลที่ได้รับช่วยให้ประมวลผลให้ดียิ่งขึ้น

 

          จากการทดสอบพวกเขาพบว่า RETINA มีขีดความสามารถสูงกว่าระบบติดตามสายตาชนิดอื่นมาก อาศัยข้อมูลติดตามสายตาเป็นเวลาเพียง 5 วินาที ก็มีระดับความแม่นยำในการคาดการณ์อยู่ที่ราว 0.7 (คะแนนเต็มอยู่ในระดับ 1.0) นี่จึงถือเป็นระบบที่คาดการณ์จนอาจจะทำนายความสนใจของผู้ใช้งานล่วงหน้าได้เลยทีเดียว

 

          ถือเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในยุคที่อุปกรณ์ส่วนใหญ่มีกล้องหน้า

 

แค่มองก็เป็นข้อมูล RETINA ปัญญาประดิษฐ์ติดตามสายตาเรียลไทม์

 

ประโยชน์ที่ไม่ได้จำกัดเพียงแง่มุมการตลาด

 

          ฟังดูน่าทึ่งแต่เมื่อนึกถึงในแง่การใช้งานหลายท่านมองในแง่มุมการตลาด ที่ผ่านมาเว็บไซต์และโฆษณาประเมินความสนใจจากประวัติการเข้าและใช้งานเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ได้ตรงความสนใจของเรานัก แต่จะเป็นอย่างไรหากจากนี้หน้าเว็บไซต์ทั้งหมดสามารถติดตามสายตาเราแล้วประเมินได้แบบเรียลไทม์

 

          กลุ่มที่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่คือ แพลตฟอร์มขายสินค้า เว็บไซต์ขายของหรือร้านค้าจะสามารถตรวจสอบความสนใจสินค้าของผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์ จึงสามารถจัดเรียงและแสดงสินค้าได้ตรงความต้องการของผู้ใช้งานมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งยอดขายและความพอใจของผู้ใช้งาน

 

          อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับอานิสงค์ไปพร้อมกันคือ Virtual reality(VR) ช่วยให้โลกเสมือนที่สร้างขึ้นยิ่งกลมกลืนไปกับความเป็นจริง ระบบติดตามสายตาที่แม่นยำจะช่วยให้จำลองและสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงได้สมจริงยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการใช้งานไปอีกขั้น

 

          สาขาที่ได้รับอานิสงค์ไม่แพ้กันคือการแพทย์ การเคลื่อนไหวของดวงตาเป็นสัญญาณการบ่งบอกของโรคบางชนิด ตั้งแต่โรคทางสายตา โรคจิตเวช ไปจนโรคทางระบบประสาท ซึ่งการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจโรคเหล่านี้ยิ่งขึ้น

 

          นอกจากนี้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง Meta หรือ Google เองก็ให้ความสนใจในเทคโนโลยีติดตามสายตาที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน โดยอาศัยกล้องหน้าซึ่งได้รับการติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชนิด ตั้งแต่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งจะยิ่งเพิ่มขอบเขตการใช้งานเทคโนโลยีนี้ให้กว้างขึ้นไปอีก

 

          ในอนาคตอาจมีระบบและแอปพลิเคชันรุ่นใหม่ที่จะเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตได้อีกมาก

 

 

 

 

          อย่างไรก็ตามหนึ่งในเรื่องที่น่ากังวลและควรได้รับการตั้งคำถามคือ ความเป็นส่วนตัว ทุกวันนี้ข้อมูลที่เราเผยแพร่บนโลกออนไลน์แม้แต่ข้อมูลการใช้งานของเรายังไม่เป็นส่วนตัว หากแม้แต่ข้อมูลจากสายตายังกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกรวบรวมไปใช้งาน ก็อาจนำมาสู่อันตรายที่เราคาดไม่ถึงอีกมากในอนาคต

 

          คงต้องรอดูกันต่อไปว่าเทคโนโลยีนี้จะได้รับการผลักดันพอให้เรามาตั้งคำถามในอนาคตหรือไม่

 

 

 

          ที่มา

 

          https://techxplore.com/news/2024-02-algorithm-crunches-eye-movement-screen.html