posttoday

เมื่ออินซูลินกำลังถูกพัฒนาให้เป็นส่วนผสมของช็อกโกแลต

12 กุมภาพันธ์ 2567

เมื่ออินซูลินกำลังถูกพัฒนาให้เป็นส่วนผสมของช็อกโกแลต หนึ่งในเรื่องน่าปวดหัวสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานคือการฉีดอินซูลิน แนวทางควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ยุ่งยากสร้างความหนักใจแก่ผู้ป่วย แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อมีการพัฒนาอินซูลินให้เป็นส่วนผสมของช็อกโกแลต

เมื่อพูดถึงอินซูลินเชื่อว่าทุกท่านคงคุ้นเคยกับชื่อนี้ไม่มากก็น้อย กับฮอร์โมนที่สร้างขึ้นจากตับอ่อน มีคุณสมบัติในการเผาผลาญและควบคุมน้ำตาล ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสภายในร่างกายไปเป็นพลังงาน ทำให้เมื่อเราไม่สามารถผลิตอินซูลินได้จะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เป็นที่มาของโรคเบาหวาน

 

          เมื่อพูดถึงแนวทางการจ่ายอินซูลินเข้าสู่ร่างกายเราย่อมนึกถึงการฉีดเข้าสู่กระแสเลือด แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องได้รับอินซูลินเข้าสู่ร่างกายทุกวัน ช่องทางการฉีดอาจไม่สะดวกต่อการใช้งานในระยะยาว นำไปสู่ความพยายามปรับปรุงการรับอินซูลินในทางอื่น

 

          แต่จะเป็นอย่างไรหากเราสามารถจ่ายอินซูลินให้แก่ผู้ป่วยได้พร้อมกับช็อกโกแลตไร้น้ำตาล

 

เมื่ออินซูลินกำลังถูกพัฒนาให้เป็นส่วนผสมของช็อกโกแลต

 

อินซูลินรูปแบบใหม่ผสมในช็อกโกแลตไร้น้ำตาล

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก UiT The Arctic University of Norway กับแนวทางในการนำส่งอินซูลินเข้าสู่ร่างกายรูปแบบใหม่ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเข็มฉีดยาอีกต่อไปแต่สามารถดูดซึมสู่ร่างกายผ่านทางปาก อีกทั้งการใช้งานไม่จำกัดอยู่ในรูปแบบยาเม็ดแคปซูลแต่สามารถเป็นส่วนผสมในช็อกโกแลตไร้น้ำตาล

 

          ปัญหาสำคัญที่ทำให้อินซูลินเป็นสารที่ไม่สามารถดูดซึมผ่านทางปากคือ ค่า ph ภายในปากและระบบทางเดินอาหารมีความเป็นกรดสูง ทำให้เมื่อได้รับอินซูลินผ่านการรับประทานจะสูญเสียคุณสมบัติในการควบคุมน้ำตาล ดับฝันในการจ่ายยาผ่านการทานจนต้องใช้เข็มฉีดยาหรือปั๊มในที่สุด

 

          ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงพัฒนาสารเคลือบชนิดพิเศษ อาศัย ไคโตซาน และ โคพอลิเมอร์กลูโคส อนุภาคขนาดจิ๋วที่ป้องกันอินซูลินไม่ให้สูญเสียคุณสมบัติจากน้ำย่อยในกระเพาะ เมื่อได้รับสารนี้ผ่านทางปากสารเคลือบจะรักษาคุณสมบัติของอินซูลินไว้ จากนั้นจึงนำส่งไปยังจุดหมายที่กำหนดแล้วจึงสลายตัว โดยอวัยวะที่เป็นจุดหมายในการส่งอินซูลินคือ ตับ

 

          จริงอยู่ผู้ป่วยเบาหวานอาจไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เองจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตับอ่อน แต่กลไกในการควบคุมการหลั่งอินซูลินจากตับยังคงทำงานตามปกติ ทำให้เมื่ออินซูลินถูกส่งไปสะสมบริเวณตับ ร่างกายจึงสามารถเข้าสู่กลไกการจ่ายอินซูลินตามปกติ

 

          ด้วยกลไกนี้เองจะช่วยให้ร่างกายสามารถปรับตัวและใช้งานอินซูลินจากภายนอกได้ดียิ่งขึ้น เพราะเมื่อได้รับอินซูลินจะถูกนำไปเก็บสะสมบริเวณตับและนำมาใช้งานเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ลดผลข้างเคียงนานับประการที่เกิดขึ้นจากการฉีดอินซูลินเข้ากระแสเลือดโดยตรง และใช้งานได้สะดวกกว่ารูปแบบฉีดหลายเท่า

 

          ช่วยเพิ่มทางเลือกในการรับยาและใช้ชีวิตให้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานได้อีกมาก

 

เมื่ออินซูลินกำลังถูกพัฒนาให้เป็นส่วนผสมของช็อกโกแลต

 

อินซูลินแบบทานที่ไม่ได้ห่างไกลอย่างที่คิด

 

          สำหรับท่านที่ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับการแพทย์ การพัฒนาอินซูลินแบบทานไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นสิ่งที่ได้รับการพูดถึงบ่อยครั้ง จากแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเบาหวานที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นี่จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่แพทย์และนักวิจัยหลายรายต้องการจะไปถึง

 

          การไม่ต้องพึ่งพาเข็มฉีดยาในการจ่ายอินซูลินช่วยลดปัญหาในหลายด้าน ทั้งอัตราการดูดซึมลดลงเมื่อมีการฉีดยาในตำแหน่งเดิมซ้ำเป็นเวลานาน, โอกาสติดเชื้อที่เกิดจากบาดแผลในการฉีดยา รวมถึงลดความยุ่งยากซับซ้อนในการจ่ายยา ช่วยให้คนไข้สามารถรับอินซูลินได้สะดวก

 

          จุดเด่นสำคัญของอินซูลินชนิดทานคือ ไม่มีผลข้างเคียงแบบการฉีด กรณีฉีดเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้มีอินซูลินสะสมในร่างกายเยอะเกินไปอาจทำให้เกิดอาการ อินซูลินช็อก จากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างฉับพลัน นำไปสู่อาการวิงเวียน, หน้ามืด, มองไม่ชัด ไปจนอาการทางประสาท อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดการสะสมไขมันมากกว่าปกติอีกด้วย

 

          ในขณะที่อินซูลินแบบทานโดยเฉพาะที่ได้รับการพูดถึงข้างต้นนี้จะทำการส่งอินซูลินเข้าสู่ตับ อาศัยกลไกควบคุมการหลั่งอินซูลินแบบทั่วไปที่จะถูกใช้งานเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงเท่านั้น ทำให้การเกิดผลข้างเคียงจากอินซูลินรวมถึงโรคแทรกซ้อนบางชนิดจากเบาหวานให้น้อยลง

 

          นอกจากนี้การพัฒนาอินซูลินให้อยู่ในรูปแบบยาทานยังมีประโยชน์ในการขนส่งเคลื่อนย้ายไปจนเก็บรักษา ด้วยสารเคลือบส่วนมากได้รับการออกแบบให้รักษาคุณสมบัติของอินซูลินในอุณหภูมิห้อง เราจึงไม่จำเป็นต้องเก็บอินซูลินไว้ในตู้แช่อุณหภูมิต่ำอีกต่อไป ทำให้สะดวกต่อการเคลื่อนไหวไปจนพกพาสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน

 

          ปัจจุบันอินซูลินนี้ผ่านขั้นตอนการทดลองทั้งในไส้เดือน หนู ไปจนลิงบาบูน ตัวยาประสบความสำเร็จในการลดระดับน้ำตาในเลือดทั้งกับตัวทดลองที่มีและไม่มีอาการเบาหวาน โดยแทบไม่เกิดผลข้างเคียงจากอินซูลินอย่างระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำหนักเพิ่ม หรือไขมันสะสมมากขึ้นแต่อย่างใด

 

          ก้าวต่อไปที่พวกเขากำลังมุ่งหน้าไปคือเริ่มต้นการทดสอบทางคลินิกกับมนุษย์ภายในปี 2025 และคาดหวังว่ายาของพวกเขาจะได้รับอนุมัติจาก FDA ให้ใช้งานทั่วไปภายใน 3 ปี

 

 

 

          ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าพวกเขาไม่ใช่รายเดียวที่พัฒนาอินซูลินแบบทาน บริษัทยาและทีมวิจัยหลายแห่งเองก็กำลังอยู่ในขั้นการพัฒนาอินซูลินแบบทานเช่นกัน คาดว่าในไม่ช้าอินซูลินแบบทานจะเข้ามาทดแทนการฉีดแบบเดิม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานแบบก้าวกระโดด

 

          นั่นทำให้ยาเม็ดอินซูลินจะไม่ใช่เพียงเรื่องเพ้อฝันแต่อาจเป็นสิ่งที่มาถึงในอนาคตอันใกล้ในสักวัน

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.posttoday.com/post-next/innovation/694373

 

          https://newatlas.com/medical/oral-insulin-human-trials-in-2025/