posttoday

ข่าวดีสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การพัฒนาอินซูลินแบบทาน

17 พฤษภาคม 2566

อินซูลิน ถือเป็นยาที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เราทราบดีว่าผู้ป่วยจำนวนมากต่างต้องฉีดอินซูลินเพื่อรักษาระดับน้ำตาล บางรายอาจต้องฉีดหลายเข็ม/วัน สร้างความไม่สะดวกแก่ผู้ป่วย แต่ล่าสุดทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการคิดค้นแคปอินซูลินแบบทาน

เบาหวาน ถือเป็นโรคภัยที่คุ้นเคยกันดีในปัจจุบันด้วยผู้ป่วยที่กระจายอยู่ทั่วไป ในประเทศไทยจำนวนผู้ป่วยเบาหวานในระบบมากถึง 3.3 ล้านราย และเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนคน/ปี และเมื่อประเมินจากสถิติโลกพบว่า จำนวนผู้ป่วยมีมากถึง 537 ล้านคน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยมากกว่าปีละ 6.7 ล้านรายเลยทีเดียว

 

          ด้วยเหตุนี้การรักษาจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะยาสำหรับใช้ในการลดและควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด เมื่อพูดถึงแนวทางการรักษาโรคเบาหวานสิ่งแรกที่ทุกท่านนึกย่อมเป็น อินซูลิน ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ข้อจำกัดคือต้องรับผ่านการฉีด ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้งานอย่างระมัดระวัง

 

          แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการพัฒนาอินซูลินชนิดรับประทานขึ้นมาใช้งานแล้วเช่นกัน

 

ข่าวดีสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การพัฒนาอินซูลินแบบทาน

 

อินซูลินคืออะไร? ทำไมจึงต้องรับผ่านการฉีด?

 

          บางท่านอาจยังไม่ทราบว่าแท้จริงอินซูลินที่ผู้ป่วยเบาหวานฉีดสู่ร่างกายคือ ฮอร์โมนชนิดหนึ่งซึ่งเดิมทีมีการผลิตภายในร่างกายจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน ทำหน้าที่พาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์แล้วนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน ถือเป็นฮอร์โมนสำคัญที่มีหน้าที่ช่วยเผาผลาญและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

 

          โรคเบาหวานก็เกิดจากความบกพร่องในการผลิตฮอร์โมนตัวนี้เอง เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติจนไม่สามารถสร้างหรือดูดซึมอินซูลินได้จึงไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานบางรายจำเป็นต้องฉีดอินซูลินหลายครั้ง/วัน เสี่ยงนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนนานาชนิด

 

          ช่องทางการรับอินซูลินเข้าสู่ร่างกายปัจจุบันทำผ่านกระบวนการฉีดเป็นหลัก ตำแหน่งที่เหมาะสมในการฉีดที่สุดคือบริเวณหน้าท้องรอบสะดือแต่ก็สามารถฉีดผ่านแขนหรือขาได้เช่นกัน ข้อจำกัดการรับอินซูลินด้วยวิธีนี้คือ ไม่สามารถฉีดตำแหน่งเดิมซ้ำหลายครั้ง เพราะผิวหนังอาจแข็งขึ้นจนดูดซึมอินซูลินได้น้อยลง แต่ไม่แนะนำให้ย้ายตำแหน่งฉีดไปอวัยวะส่วนอื่นอย่างต่อเนื่อง ด้วยอาจทำให้การดูดซึมไม่สม่ำเสมอด้วยเช่นกัน

 

          ถึงตรงนี้อาจนำไปสู่ข้อสงสัยว่าเหตุใดอินซูลินจึงต้องรับผ่านกระบวนการฉีด ไม่สามารถรับประทานได้แบบยาชนิดอื่น

 

          สาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถรับอินซูลินผ่านการรับประทานได้คือ ค่า ph ภายในระบบทางเดินอาหารไม่เหมาะสมในการรองรับนัก ผลที่เกิดขึ้นคือเมื่อรับยาผ่านทางเดินอาหารจะทำให้อินซูลินสูญเสียคุณสมบัติควบคุมน้ำตาล จนเราไม่สามารถจ่ายอินซูลินผ่านช่องทางนี้ในที่สุด แม้จะมีการให้ยาทานควบคุมน้ำตาลชนิดอื่นแก่ผู้ป่วยก็ตาม

 

          แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการพัฒนาอินซูลินรูปแบบเม็ดที่รักษาประสิทธิภาพไว้ได้สำเร็จ

 

ข่าวดีสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การพัฒนาอินซูลินแบบทาน

 

ยาเม็ดแคปซูลอินซูลินสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก RMIT University แห่งออสเตรเลีย กับการคิดค้นแคปซูลชนิดใหม่ที่สามารถบรรจุอินซูลิน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับอินซูลินผ่านการรับประทานเช่นเดียวกับยาชนิดอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเข็มฉีดยาอีกต่อไป

 

          ปัญหาสำคัญในการรับประทานอินซูลินผ่านระบบทางเดินอาหารคือ อันที่จริงอินซูลินเป็นฮอร์โมนประเภทเปปไทด์ที่เกิดขึ้นจากโปรตีนชนิดหนึ่ง ส่วนนี้เองที่ได้รับผลกระทบจากการผ่านระบบทางเดินอาหาร ทำให้ยาสูญเสียคุณสมบัติที่ควรมีจนไม่สามารถดูดซึมได้ตามต้องการ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับยาหลายชนิดเช่นกัน

 

          ด้วยเหตุนั้นทางทีมวิจัยจึงได้คิดค้นวัสดุนาโนชนิดใหม่ที่มีองค์ประกอบของไขมัน เพื่อเคลือบยาหรือฮอร์โมนที่ต้องการ สารเคลือบชนิดนี้จะมีคุณสมบัติช่วยป้องกันตัวยาจากค่า ph ต่ำของกรดในกระเพาะอาหาร จากนั้นจึงไปเกิดกระบวนการแตกตัวในส่วนของลำไส้ซึ่งไม่มีค่าความเป็นกรด ช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมอินซูลินได้ตามปกติ

 

          โดยพื้นฐานแล้วกลไกการทำงานของแคปซูลชนิดนี้ใกล้เคียงกับวัคซีน mRNA ทั้งหลาย จากการใช้ประโยชน์จากไขมันเพื่อนำส่งยาเข้าสู่ร่างกาย

 

          ข้อจำกัดสำคัญต่อแคปซูลในการใช้ร่วมกับอินซูลินคือ โดยพื้นฐานอินซูลินมีทั้งแบบที่ออกฤทธิ์เร็วเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างฉับพลัน กับแบบออกฤทธิ์ช้าเพื่อใช้ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตลอดวัน อินซูลินทั้งสองชนิดต่างมีความจำเป็นคนละแบบต่อการใช้งานกับผู้ป่วย

 

          จากการทดสอบประสิทธิภาพของแคปซูลพวกเขาพบว่า แคปซูลอินซูลินออกฤทธิ์เร็วแม้ได้รับการพัฒนาโดยเฉพาะ แต่ยังมีข้อจำกัดของกระบวนการความเร็วการดูดซึมล่าช้ากว่าการฉีดเข้าเส้นโดยตรง นั่นทำให้การใช้งานแคปซูลกับอินซูลินออกฤทธิ์เร็วอาจไม่เหมาะสมนัก

 

          ในขณะที่การใช้งานร่วมกับอินซูลินออกฤทธิ์ช้านั้นค่อนข้างให้ผลลัพธ์เชิงบวก สามารถควบคุมการจ่ายปริมาณได้ดีกว่าอินซูลินแบบฉีดถึง 50% ในปริมาณที่เท่ากัน ช่วยให้สามารถจ่ายอินซูลินในระยะเวลานานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยควบคุมปริมาณอินซูลินให้แก่คนไข้ในระยะยาว

 

          นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกทางเวชศาสตร์ที่อาจช่วยคนไข้ได้อีกมากในอนาคต

 

 

 

 

          ทางทีมพัฒนากล่าวว่าการใช้ร่วมกับอินซูลินเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แคปซูลเคลือบชนิดนี้สามารถใช้งานร่วมกับยาได้อีกหลายรูปแบบ ตั้งแต่ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโควิด หรือแม้แต่ยารักษามะเร็ง ซึ่งอาจช่วยเพิ่มขีดความสามารถและแนวทางการรักษาใหม่แก่คนไข้

 

          แม้ปัจจุบันโครงการนี้ต้องได้รับการพัฒนาอีกหลายด้านแต่เมื่อสำเร็จอาจยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยอีกมากทีเดียว

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.medparkhospital.com/content/diabetes-mellitus

 

          https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/181256/

 

          https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/insulin/

 

          https://www.rmit.edu.au/news/all-news/2023/apr/oral-insulin-capsule