posttoday

XGBoost เอไอช่วยประเมินความเสี่ยงในการรักษาหลอดเลือดหัวใจ

01 กุมภาพันธ์ 2567

XGBoost เอไอช่วยประเมินความเสี่ยงในการรักษาหลอดเลือดหัวใจ การใช้สายสวน เป็นแนวทางรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่ใช้งานกันทั่วไป แต่ก็มีความเสี่ยงหลายประการที่อาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิต วันนี้เราจะพามารู้จัก XGBoost เอไอช่วยประเมินความเสี่ยงรักษาหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจ อีกหนึ่งโรคที่สามารถพบได้ทั่วไปที่ทุกท่านคงรู้จักกันมาบ้าง ด้วยสภาพร่างกายทรุดโทรมจากอายุที่มากขึ้น, โรคแทรกซ้อนต่างๆ, แนวโน้มการบริโภคอาหาร ไปจนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนปัจจุบัน เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุการก่อโรคนำไปสู่ปัญหาจากหลอดเลือดหัวใจ

 

          อาการหลอดเลือดหัวใจตีบสามารถเกิดขึ้นได้เฉียบพลันและเรื้อรัง สร้างความเจ็บปวดอย่างรุนแรงไปจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในไม่กี่วินาที ถือเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 20 ล้านราย นำไปสู่การพัฒนาแนวทางรักษาอย่างต่อเนื่อง

 

          วันนี้เราจึงมาลงรายละเอียดหนึ่งในแนวทางรักษารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวนกันเสียหน่อย

 

XGBoost เอไอช่วยประเมินความเสี่ยงในการรักษาหลอดเลือดหัวใจ

 

การรักษาโรคหลอดเลือดผ่านสายสวน แนวทางและผลแทรกซ้อน

 

          หัตถการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจมีอยู่สองรูปแบบ หนึ่งคือการผ่าตัดทำบายพาส โดยตัดเส้นที่มีการอุดตันออกจากนั้นนำหลอดเลือดเส้นใหม่ต่อทดแทน อีกแนวทางการคือ การรักษาผ่านสายสวน หรือ Percutaneous Coronary Intervention(PCI) ที่อาศัยสายสวนและบอลลูนแทน

 

          การผ่าตัดบายพาสเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่สร้างภาระแก่ร่างกายผู้ป่วย จึงถูกใช้งานในกรณีเส้นเลือดตีบและอุดตันร้ายแรงหรือมีหินปูนยึดเกาะเป็นหลัก ในกรณีอาการไม่รุนแรงนักแพทย์จะทำการอาศัยสายสวนในขั้นตอนการรักษา เพื่อทำการขยายหลอดเลือดให้กลับมาทำงานตามปกติ

 

          กลไกการทำงานของการรักษานี้คือ การใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงจากตำแหน่งอื่น สอดเข้าไปถึงตำแหน่งที่เกิดการอุดตันจากนั้นจึงอาศัยบอลลูนในการขยายหลอดเลือด โดยอาจมีการใช้งานขดลวดเป็นโครงสร้างช่วยในการค้ำยันป้องกันการกลับมาตีบซ้ำ

 

          ข้อดีของการใช้บอลลูนในการขยายหลอดเลือดคือ สามารถผลักดันไขมันอุดตันในเส้นเลือดให้ไปชิดผนังได้ทันที ช่วยให้เลือดไหลเวียนผ่านหลอดเลือดที่เคยตีบได้สะดวกขึ้น ป้องกันการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจตายจากการขาดเลือด รวมถึงลดโอกาสในการเกิดหลอดเลือดตีบซ้ำด้วย

 

          อย่างไรก็ตามการรักษาหลอดเลือดผ่านสายสวนยังคงมีความเสี่ยงจากอาการแทรกซ้อนหลายชนิด ทั้งการติดเชื้อบริเวณที่ใส่สายสวน, หลอดเลือดฉีกขาดได้รับความเสียหาย, มีของเหลวคั่งรอบหัวใจ, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ไตวายเฉียบพลัน, หลอดเลือดอุดตันจากขดลวด ไปจนเกิดลิ่มเลือดที่อาจนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจตายและเสียชีวิตเลยทีเดียว

 

          ความเสี่ยงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องคิดและตัดสินใจอย่างรอบคอบจนอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัว ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดพัฒนาระบบเอไอที่ช่วยประเมินความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

 

XGBoost เอไอช่วยประเมินความเสี่ยงในการรักษาหลอดเลือดหัวใจ

 

XGBoost ปัญญาประดิษฐ์ประเมินความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of Michigan กับการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการออกแบบให้ประเมินความเสี่ยง เพื่อคาดการณ์แนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นของอาการแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นหลังทำการรักษาหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวนโดยเฉพาะ

 

          ตามที่กล่าวไปข้างแม้การใช้สายสวนรักษาหลอดเลือดหัวใจจะมีประสิทธิภาพ กระนั้นยังถูกตั้งคำถามในหลายครั้งด้วยผลแทรกซ้อนที่ตามมา จริงอยู่ความเสี่ยงเป็นส่วนที่แพทย์เจ้าของไข้ควรประเมินและแจ้งให้ผู้ป่วยรับทราบไว้ล่วงหน้า แต่กรณีที่การประเมินเกิดผิดพลาดก็เป็นไปได้สูงที่จะทำให้เกิดบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เช่นกัน

 

          ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงพัฒนาระบบ XGBoost อาศัยปัญญาประดิษฐ์ช่วยในการประเมินแนวโน้ม คาดการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยหลังขั้นตอนหัตถการ โดยอาศัยการประเมินจากปัจจัยหลายรูปแบบ ตั้งแต่อายุ, ความดันโลหิต, ระดับคอเลสเตอรอล, โรคประจำตัว และข้อมูลทางสุขภาพอีกหลายชนิดเพื่อประเมินความเสี่ยง

 

          หลังจากป้อนข้อมูลเสร็จสิ้นเอไอจะสามารถจำลองความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้น โดยคาดการณ์อัตราส่วนความน่าจะเป็นของอาการแทรกซ้อนออกมาเป็นค่าชี้วัดทางสถิติที่ชัดเจน ช่วยให้เราสามารถประเมินสุขภาพผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษาได้แม่นยำ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนไม่พึ่งประสงค์ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตลงมาก

 

          ตัวระบบถูกใช้ทดสอบในการประเมินข้อมูลของผู้ป่วยนับแสนรายพบว่า XGBoost สามารถคาดคะเนอาการแทรกซ้อนของผู้ป่วยได้ดีกว่าแบบจำลองทุกชนิดในปัจจุบัน  ทั้งหมดถูกประเมินออกมาเป็นตัวเลขแนวโน้มความเป็นไปได้ที่มีความแม่นยำสูง

 

          นี่จึงเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาช่วยสนับสนุนข้อมูลทางเลือกในการตัดสินใจ ช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์ประเมินขั้นตอนการรักษาที่จะดำเนินการอย่างรอบด้าน อีกทั้งระบบนี้ยังง่ายต่อการเข้าถึงเพราะสามารถแสดงข้อมูลผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน จึงสามารถใช้ตรวจสอบความเสี่ยงได้ทุกที่ทุกเวลา

 

          ช่วยให้ผู้ป่วยรับรู้ความเสี่ยงรวมถึงตรวจสอบดูแลสุขภาพของตัวได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

 

 

          อย่างไรก็ตาม XGBoost  ยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนา จำเป็นต้องตรวจสอบเพิ่มเติมหากต้องการนำมาใช้งานจริง แต่ถือเป็นอีกก้าวที่จะช่วยประเมินความปลอดภัยในการรักษาหลอดเลือดหัวใจ ป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น และช่วยประเมินหาแนวการรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วยต่อไป

 

         

 

 

          ที่มา

 

          https://world-heart-federation.org/news/deaths-from-cardiovascular-disease-surged-60-globally-over-the-last-30-years-report/

 

          https://academic.oup.com/eurheartj/advance-article/doi/10.1093/eurheartj/ehad836/7560424

 

          https://www.bumrungrad.com/th/treatments/percutaneous-coronary-intervention

 

          https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/percutaneous-coronary-intervention