posttoday

วอนยอง IVE ชนะคดีเฟคนิวส์ 100 ล้านวอน ส่วนคนไทยถ้าโดนเฟคนิวส์บ้างทำอย่างไร?

18 มกราคม 2567

เมื่อ วอนยอน ไอดอลตัวท็อปของเกาหลีชนะคดีฟ้องร้องช่องหนึ่งบนยูทูบข้อหาหมิ่นประมาทจากการปล่อย ‘เฟคนิวส์’ ถือเป็นตัวอย่างของการจัดการมลพิษทางสื่อออนไลน์ได้ดีอีกวิธีหนึ่ง จนต้องหันมามองว่าสำหรับคนทั่วไปและคนไทยอย่างเรา พอจะมีเครื่องมือป้องกันตัวได้อย่างไรบ้าง

จากข่าวเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2023 ต้นสังกัด Starship Entertainment ประกาศชนะคดี หลังมีการฟ้องร้องช่องยูทูบเรื่องการปล่อยเฟคนิวส์ต่อศิลปิน และเข้าข่ายหมิ่นประมาท โดย สื่อเกาหลี มีรายงานว่า ศาลแพ่งแขวงกลางกรุงโซล จางวอนยอง ชนะคดีความ โดยจำเลยต้องจ่ายค่าทดแทนจำนวน 100 ล้านวอน หรือ 2.7 ล้านบาท และดอกเบี้ยปีละ 12% รวมถึงชำระค่าใช้จ่ายของศาลที่เกิดขึ้นในระหว่างการฟ้องร้อง ทั้งนี้ ทนายความกล่าวว่า "เนื้อหาทั้งหมดที่ปรากฏงยังช่องยูทูบดังกล่าว ได้มีการหาประโยชน์กับตัวศิลปิน และประกอบด้วยไปข้อความอันเป็นเท็จ เข้าข่ายการหมิ่นประมาท" 

สืบเนื่องจาก เดือนกันยายน 2022  ช่องยูทูบ Sojang (Taldeok Camp) หรือ พัคโซจัง มีการอัปโหลดคลิปพุ่งเป้าไปที่จางวอนยอง กล่าวอ้างว่า เธอได้บังคับสมาชิกคนที่ 7 ของวงที่เคยเป็นข่าวลือ ให้ออกจากกลุ่มก่อนที่จะเดบิวต์ ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวหมิ่นประมาทต่อศิลปิน ด้วยเหตุนี้ ทางต้นสังกัด Starship Entertainment ได้มีการประกาศแผนการปกป้องศิลปินที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม และป้องกันการปล่อยข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่ไม่ได้มีการพูดถึงการดำเนินคดีทางกฏหมาย  นำมาซึ่งการฟ้องร้องและชนะคดีในที่สุด

 

วอนยอง สมาชิกวง IVE

 

คำว่า ‘เฟคนิวส์’ นั้น จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA  ชี้แจงว่า การใช้คำว่า ‘เฟคนิวส์’  อาจจะดูแคบเกินไป อันที่จริงแล้วควรจะครอบคลุมตั้งแต่ เนื้อหาที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด ซึ่งอาจทำโดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โดยทำให้บุคคลที่แอบอ้างนั้นเสียชื่อหรือ การนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน มโนกันไปเองทั้งที่ในความเป็นจริงไม่เกี่ยวข้องเลย เช่น การนำงานวิจัยที่ไม่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์เพื่อหวังผลประโยชน์  รวมไปถึงการตั้งใจตัดต่อให้คนดูเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เหตุการณ์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแค่การทำเพื่อความสนุกสนานก็ตาม

นอกจากนี้ยังต้องรวมไปถึง เรื่องไม่จริงที่ทำขึ้นเพื่อความตลก สนุกสนาน บางคนก็อยากจะแชร์กันขำๆ แต่เราไม่มีทางรู้ได้ว่ากลุ่มคนที่อยู่ในภาพ หรือสิ่งใดๆ ที่ถูกอ้างในภาพจะรู้สึกอาย ถูกประจาน จนเข้าข่ายเป็นเหยื่อของ Hate Speech หรือ Cyberbulling อีกทางหนึ่ง

 

เฟคนิวส์ ไม่ใช่แค่เรื่องสนุก ข้อมูลแบบไหนเข้าข่ายเฟคนิวส์

เราอาจจะมองจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากข้อมูลดังกล่าว เพื่อพิจารณาว่าสิ่งที่เราส่งไปเป็น ‘เฟคนิวส์’ หรือไม่ โดย

  1. ข้อมูลนั้นทำให้ตัดสินใจผิดพลาด ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินหรือไม่ เช่น แชร์วิธีการรักษาที่ไม่มีผลวิจัยรองรับ หรือไม่แน่ใจว่าจริงเท็จเพียงใด
  2. ข้อมูลทำให้เกิดความตระหนกตกใจ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติ หรือโรคระบาทที่เป็นเท็จ จนเกิดความแตกตื่น
  3. ข้อมูลนั้นทำให้ผู้ถูกแอบอ้างได้รับความเสียหาย เช่น ถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง ถูกเกลียดชัง
  4. ข้อมูลนั้นทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เช่น ข้อมูลเท็จทางด้านการเมือง หรือข้อมูลที่ทำให้ก่อเกิดสถานการณ์ไม่สงบได้

 

เริ่มต้นที่ตัวผู้เสพสื่อ รู้จักตรวจสอบเบื้องต้น

หากเราจะให้องค์กรต่างๆ มาตรวจสอบหรือกำกับควบคุมก็คงจะไม่สามารถทำได้อย่างครอบคลุม เพราะวันๆ หนึ่งจำนวนเนื้อหาที่ถูกปล่อยลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียวมีเป็นล้านๆ ข้อมูล เพราะฉะนั้นในฐานะผู้เสพจำเป็นต้องมีความรู้ และรู้จักที่จะตรวจสอบเบื้องต้น โดยทำได้คือ

  1. ตรวจสอบแหล่งที่มาว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด
  2. แม้แหล่งจะน่าเชื่อถือแต่ให้ตรวจสอบแหล่งข้อมูลอื่นๆ ประกอบด้วย
  3. ตรวจสอบต้นตอของข่าว บางทีเป็นการนำภาพข่าวเก่ามาเล่าใหม่เพื่อสร้างความแตกตื่น อาจจะใช้วิธีการ Google Image Search ซึ่งสามารถดูว่าภาพที่นำมาใช้นั้นเป็นภาพเก่า และเกี่ยวข้องจริงหรือไม่
  4. สอบถามผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
  5. นอกจากนี้ประเทศไทยยังมี ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย เพื่อส่งเรื่องให้ช่วยตรวจหรือได้ โดยสามารถส่งไปได้ที่

 

กฎหมายไทยจัดการโทษผู้ผลิต ‘เฟคนิวส์’ อย่างไร

นี่อาจเป็นเรื่องที่ทุกคนอยากรู้สำหรับฝั่งกฎหมายไทย โดยพบว่า

ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ  มาตรา 14 คือนำข้อความเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ อันก่อให้เกิดความเสียหาย สร้างความตื่นตระหนก กระทบต่อสังคม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ส่งต่อข้อมูลเท็จนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ ก็ถือว่ามีความผิดเท่ากับผู้กระทำผิดข้างต้นและมีอัตราโทษเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้หากข้อมูลนั้นทำให้บุคคล องค์กร หน่วยงาน เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็ยังอาจจะได้รับโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนมาตรา 328 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาจะมีอัตราโทษที่สูงกว่า เพราะเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทและบุคคลโดยทั่วไปสามารถเห็นได้ ซึ่งผู้กระทำผิดต้องระวางจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายในส่วนของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งสามารถใช้ในคดีของการหมิ่นประมาท โดยผู้ที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทำให้เสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิ ก็สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ด้วย

 

ที่มา

https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/knowledge-sharing/articles/IFBL/FakeNews.aspx