posttoday

อันตราย! ไข้เลือดออก ถึงตาย แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

06 มกราคม 2567

จากเหตุการณ์น้องสาว กุ้ง สุทธิราช ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง แสดงให้เห็นว่าโรคนี้เป็นภัยร้ายที่เกิดได้กับทุกคน การป้องกันโรคนอกจากทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงจากการป่วยหนักได้

กุ้ง สุทธิราช ได้โพสต์ข้อความแจ้งข่าวผ่านทาง Facebook ส่วนตัวถึงน้องสาว “วิรดา วงศ์เทวัญ” ที่ต้องเข้ารักษาตัวด้วยโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง โดยเนื้อหาระบุว่า

 

“ถึงแฟนๆวงศ์เทวัญทุกคนนะครับ อยากแจ้งให้ทราบว่า เนื่องจากตอนนี้น้องวิ ภิญญ์วดี ภูวรุ่งเรืองหิรัญ (วิรดา วงศ์เทวัญ) กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เพราะโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง อยู่ในขั้นวิกฤติ  เข้ารับการรักษาตั้งแต่เมื่อวันที่30 ธ.ค. 66 ตอนนี้ยังนอนไม่รู้สึกตัว 

กุ้งและครอบครัว อยากบอกกับแฟนๆทุกคนได้ทราบตรงกันและขอกำลังใจให้น้องวิ ภิญญ์วดี ภูวรุ่งเรืองหิรัญ จากแฟนๆที่รักน้องวิทุกคน ทั้งนี้กุ้งและแม่ขออนุญาตแจ้งผ่านสื่อนี้ครับ อาจจะไม่ได้ตอบกลับแฟนคลับทุกคน  เนื่องจากกุ้งและแม่อยากขอเวลาและระยะให้เรา ได้มีสมาธิในการให้กำลังใจน้องและการรักษาตัวในครั้งนี้ ขอจงช่วยภาวนาให้ น้องวิ ภิญญ์วดี ภูวรุ่งเรืองหิรัญกลับมาด้วยเถิด”

 

ซึ่งจากเหตุการณ์ข้างต้น คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าโรคไข้เลือดออกเป็นภัยร้ายที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และยังคาดเดาความรุนแรงของโรคได้ยาก รวมถึงยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออกแบบเฉพาะเจาะจง การรักษาจึงเป็นไปตามอาการเพื่อประคับประคองให้ผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เช่น ให้ยาลดไข้แก้ปวด เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อยๆ หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารเนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร

อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ในปัจจุบัน เราสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการป่วยหนัก และยังเป็นวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพ

อันตราย! ไข้เลือดออก ถึงตาย แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ไข้เลือดออกชนิดรุนแรงต่างจากไข้เลือดออกปกติอย่างไร?

โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อหรือกระดูก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งผื่นมักขึ้นในช่วง 2-3 วันแรกของการป่วย ลักษณะผื่นเป็นจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ มักพบตามแขนขา ลำตัว หน้าอก แผ่นหลัง

ขณะที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกชนิดรุนแรง จะมีไข้สูงเกิน 40  องศาเซลเซียส มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณชายโครงขวา อาเจียนต่อเนื่อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ อาจมีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน มีภาวะช็อกจากการที่เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่พอซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ใครฉีดได้บ้าง?

ปัจจุบันในไทยเอง มีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน Dengvaxia (ชนิด 3 เข็ม) และ วัคซีน Qdenga (ชนิด 2 เข็ม)

  • วัคซีน Dengvaxia (ชนิด 3 เข็ม)

วัคซีน Dengvaxia ผลิตโดย Sanofi Pasteur ประเทศฝรั่งเศส เป็นวัคซีนไข้เลือดออกชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ใน 21 ประเทศทั่วโลก และเป็นวัคซีนไข้เลือดออกชนิดเดียวที่ได้รับการอนุมัติโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐ (United States Food and Drug Administration: FDA) มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ 80% ลดความรุนแรงของโรคได้ 80% และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ 75%

วัคซีนชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 6-45 ปี ที่เคยมีประวัติป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน หรือมีผลการตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่แสดงถึงการได้รับเชื้อในอดีต 

วัคซีน Dengvaxia จะฉีดบริเวณต้นแขน โดยเว้นระยะห่างกันเข็มละ 6 เดือน เมื่อฉีดครบ 3 เข็ม จะสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ราว 5-6 ปี

  • วัคซีน Qdenga (ชนิด 2 เข็ม)

วัคซีน Qdenga เป็นวัคซีนที่ผลิตโดย Q-Pharm ประเทศเยอรมนี และเป็นวัคซีนไข้เลือดออกตัวล่าสุด ที่พัฒนาโดยใช้  Backbone ของไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุดในไทยมีประสิทธิภาพป้องกันโรคไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ 80% ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และลดความรุนแรงของโรคได้ 90.4%

วัคซีนชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีมีอายุ 4-60 ปี สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน และไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนการรับวัคซีน

วัคซีน Qdenga จะฉีดบริเวณต้นแขน  โดยเว้นระยะห่างกันเข็มละ 3 เดือน

ส่วนอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก จะเป็นผลข้างเคียงทั่วไป เช่น ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ต่ำๆ ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถหายได้เองภายใน 1-3 วัน

อันตราย! ไข้เลือดออก ถึงตาย แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

คนท้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้ไหม?

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ซึ่งหมายความว่าวัคซีนมีเชื้อไวรัสเดงกีที่อ่อนฤทธิ์อยู่ภายใน ดังนั้นจึงมีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนบางประการ ดังนี้

  • ผู้ที่แพ้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก หรือส่วนประกอบของวัคซีนที่ฉีดไปก่อนหน้านี้
  • ผู้ที่มีอาการป่วย ควรรอให้หายดีก่อนฉีดวัคซีน
  • หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • ผู้ที่มีภาวะการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันผ่านเซลล์บกพร่องมาแต่กำเนิด หรือในภายหลัง รวมถึงผู้ที่ได้รับการบำบัดรักษาด้วยการกดภูมิคุ้มกัน เช่น เคมีบำบัด หรือคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกายที่ขนาดยาสูง ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ ก่อนการได้รับวัคซีน
  • ผู้ที่มีการติดเชื้อ HIV แบบแสดงอาการ หรือผู้ที่ติดเชื้อ HIV แบบไม่แสดงอาการ ที่มีหลักฐานแสดงถึงการทำงานของภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ควรเว้นระยะห่างจากการฉีดวัคซีนเชื้อเป็นอื่นๆ อย่างน้อย 4 สัปดาห์

 

สถานการณ์ผู้ป่วยไข้เลือดออกในไทย

ยุงลาย เป็นพาหะที่มีเชื้อไข้เลือดออก ซึ่งหากยุงลายกัดคนที่มีเชื้อไข้เลือดออก และมากัดเราต่อก็สามารถส่งต่อเชื้อได้ ประกอบกับในไทยเองเป็นชุมชนเมืองที่ประชากรอาศัยอย่างหนาแน่น มักทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพิ่มมากขึ้น 

ข้อมูลของกรมควบคุมโรครายงานว่าตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม - 27 ธันวาคม 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกในไทย 153,734 คน คิดเป็นอัตราป่วย 232.47 ต่อประชากรแสนคน ส่วนอัตราการเสียชีวิต พบ 168 คน คิดเป็นอัตราตายร้อยละ 0.11 ขณะที่ตั้งแต่ปลายปี 2566 ยังมีอัตราผู้ป่วยต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2567 ซึ่งคาดว่าอัตราผู้ป่วยจะสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง และยังไม่ยุติลงง่ายๆ

 

เคยเป็นไข้เลือดออก ยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไหม ?

คำตอบคือ ยังจำเป็น เพราะโรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีที่มีอยู่ 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์หนึ่ง ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันได้เฉพาะสายพันธุ์นั้น ๆ และจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่น ๆ ได้แค่เพียงชั่วคราว ดังนั้น ผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว ยังสามารถติดเชื้อไข้เลือดออกซ้ำได้ โดยเฉพาะหากติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นที่ร่างกายไม่เคยได้รับมาก่อน ซึ่งการติดเชื้อซ้ำอาจมีอาการรุนแรงกว่าการติดเชื้อครั้งแรกได้ เพราะการติดเชื้อซ้ำในครั้งที่ 2 จะกระตุ้นภูมิต้านทานของการติดเชื้อในครั้งก่อน แต่เป็นภูมิต้านทานชนิดที่ไม่สามารถป้องกันโรคได้

อันตราย! ไข้เลือดออก ถึงตาย แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

กลุ่มเสี่ยงป่วยหนักจากโรคไข้เลือดออก

แม้ว่าโรคไข้เลือดออกจะสามารถติดได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคไข้เลือดออกรุนแรงได้ แต่หากพูดถึงกลุ่มเปราะบางที่อาจมีความเสี่ยงในการเป็นไข้เลือดออกรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ มีดังนี้

  • เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกรุนแรงได้มากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงเต็มที่
  • ผู้สูงอายุ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันเริ่มเสื่อมสภาพลง
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคมะเร็ง เนื่องจากโรคเรื้อรังเหล่านี้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
  • หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง