posttoday

ดีพร้อม ปลื้มความสำเร็จ นำร่อง 10 SME มุ่งสู่ BCG Model

10 พฤษภาคม 2567

ดีพร้อม โชว์ผลสำเร็จ “BCG Model” นำร่อง 10 SME ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 2,000 ตันต่อปี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้กว่า 60 ล้านบาท พร้อมขยายผลปี 67 เตรียมเปิดตัวเดือนมิถุนายนนี้

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ภาวะเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ รวมถึงภาวะโลกเดือด ซึ่งมีสาเหตุหลัก มาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นจนเกินสมดุล โดยประเทศไทยได้แสดงจุดยืนประกาศเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทย โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ (BCG Model) ซึ่งจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมในอนาคต

นายภาสกร กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการเดินหน้าส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้สามารถยืนหยัด รับมือ และปรับตัวให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้ปรับตัวได้เท่าทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการสร้างการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model 

ผ่านโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตให้มิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการใช้พลังงาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ภายในสถานประกอบการโดยมุ่งเน้นการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มูลค่าสูง (Upcycling) 

โดยที่ผ่านมาสามารถนำร่องและยกระดับผู้ประกอบการจำนวนกว่า 10 กิจการ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้วมากกว่า 2,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย รวมถึงบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือให้เป็นกลไกสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ลงทุนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป 

สำหรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ดีพร้อม นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและยกระดับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรมมต่าง ๆ ประกอบด้วย แนวคิดทางเศรษฐกิจหลัก 3 ด้าน ที่จะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้แก่ 

1. Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างมูลค้าเพิ่ม กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพ (สมุนไพร ซูเปอร์ฟู้ด เส้นใย) รวมถึงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการพืชเศรษฐกิจ

2. Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) หมุนเวียนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยกรจนนำไปสู่ Zero Waste

3. Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) การพัฒนาที่ครบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 10% และเชื่อมโยงสู่การขอรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม (CFO, CFP)

ทั้งนี้ ดีพร้อม เชื่อมั่นว่า โครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emission โดยในปี 2567 ดีพร้อมตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการไทยจำนวนกว่า 1,800 ราย และเตรียมเปิดตัวโครงการในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป 

สำหรับผู้ประกอบที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. : 02-430-6869 กด 6 อีเมล [email protected]