posttoday

VirtuCare กับการใช้งาน Virtual reality บำบัดผู้ป่วยสมองเสื่อม

08 มกราคม 2567

กระแส Metaverse ที่ใช้ประโยชน์จาก Virtual reality ซบเซาอาจทำให้หลายคนมองคุณค่าของเทคโนโลยีลดลงแต่การพัฒนายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเริ่มมีการคิดค้นระบบ VirtuCare ที่อาศัยการสร้างโลกเสมือนจริงในการบำบัดผู้ป่วยสมองเสื่อมขึ้นมา

สมองเสื่อม อาการที่เกิดจากการคิดและความจำถดถอยด้วยการทำงานของสมองที่ลดลง หลายท่านอาจนำอาการสมองเสื่อมไปเชื่อมโยงกับโรคอัลไซเมอร์ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด อัลไซเมอร์ถือเป็นโรคที่นำไปสู่อาการสมองเสื่อมและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้เป็นอันดับหนึ่ง แต่อันที่จริงนี่เป็นโรคที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง, พาร์กินสัน, เนื้องอกสมอง, การติดเชื้อในสมอง ฯลฯ

 

          ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมเพิ่มจำนวนมากขึ้นจากการขยายตัวของสังคมสูงวัยโดยเฉพาะในประเทศไทย ปัจจุบันคาดว่าจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นปีละกว่า 100,000 ราย คาดว่าภายในปี 2030 จำนวนผู้ป่วยจะขยายตัวไปถึง 1,170,000 รายเลยทีเดียว

 

          วันนี้เราจึงมาพูดถึงแนวทางรับมือและฟื้นฟูผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมรูปแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยี VR

 

VirtuCare กับการใช้งาน Virtual reality บำบัดผู้ป่วยสมองเสื่อม

 

การใช้ประโยชน์เทคโนโลยี VR ของผู้สูงอายุ

 

          หลายท่านเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจรู้สึกแปลกใจหรือไม่เห็นด้วย เนื่องจาก เทคโนโลยี และ ผู้สูงอายุ แทบจะเป็นคำขั้วตรงข้าม มีผู้สูงอายุหลายท่านปฏิเสธการเข้าถึงใช้งานเทคโนโลยีโดยสิ้นเชิง อีกหลายส่วนก็มักเกิดความเข้าใจผิดแล้วไม่ยอมเรียนรู้ ยิ่งเป็นระบบ Virtual reality จึงอาจทำให้หลายท่านรู้สึกว่านำมาเชื่อมโยงกันยากอยู่สักหน่อย

 

          แนวคิดในการใช้งาน VR แก่ผู้สูงอายุได้รับความสนใจเป็นครั้งแรกจากบริษัท Rendever กับการใช้ชุดหูฟังและแว่นตา VR และซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเอง ในการสร้างและจำลองสถานที่ต่างๆ บนโลกเสมือนจริงได้ทั่วทุกมุมโลก โดยการอ้างอิงข้อมูลจากสถานที่จริงกว่า 20,000,000 GB เพื่อให้ภาพออกมาสมจริงที่สุด

 

          ตัวระบบสามารถจำลองสถานที่ได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่สถานที่ท่องเที่ยว, วิวทิวทัศน์ตามธรรมชาติ, บรรยากาศแข่งขันกีฬา, งานเลี้ยงฉลองต่างๆ ไปจนบ้านเกิดในอดีตที่อัดแน่นด้วยความทรงจำในวัยเยาว์ ขอเพียงได้รับการป้อนข้อมูลความละเอียดสูง ก็สามารถเนรมิตสถานที่ออกมาได้ตามต้องการ

 

          นี่จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำหรับเครื่องมือเข้าสังคมชั้นเยี่ยม เพราะการเปลี่ยนสถานที่จะช่วยกระตุ้นอารมณ์ร่วมและประสบการณ์ในอดีตกลับมาได้ง่าย ช่วยให้ผู้ใช้งานผ่อนคลายและสามารถเปิดหัวข้อสนทนาแก่คนรอบข้างหรือชุมชนได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงวัยที่ไม่สะดวกต่อการเดินทาง

 

          จากการทดสอบใช้งานจริงพวกเขาพบว่า Brookdale Senior Living Community ในรัฐแมสซาชูเซตส์ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง พวกเขามีความสุขโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 40% ส่วนเป้าหมายต่อไปพวกเขามุ่งมันพัฒนาระบบ VR ให้สามารถใช้งานในการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมต่อไป

 

          แน่นอนว่าการอาศัยประโยชน์จากเทคโนโลยี VR ไม่ได้มีเพียงพวกเขาจึงเริ่มมีการขยับขยายการใช้งานแล้วเช่นกัน

 

VirtuCare กับการใช้งาน Virtual reality บำบัดผู้ป่วยสมองเสื่อม

 

VirtuCare โลกเสมือนจริงสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยสมองเสื่อม

 

          ผลงานนี้เป็นของ ImmersiCare ร่วมกับบริษัท Tribemix และ Quantum Care กับแนวคิดในการพัฒนาระบบ VR สร้างโลกความเป็นจริงเสมือนแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและอาศัยการฉายภาพจากโลกเสมือนเพื่อช่วยกระตุ้นความทรงจำของผู้ใช้งานไปพร้อมกัน

 

          เราทราบดีว่าสมองเสื่อมถือเป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต นอกจากทำให้เกิดการสับสนและหลงลืมแก่ผู้ป่วยแล้ว ยังอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางนิสัยและพฤติกรรมจนอาจทำให้เกิดการสับสนอารมณ์แปรปรวน สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความเครียดรวมถึงวิตกกังวลซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วย

 

          นำไปสู่แนวคิดในการใช้เทคโนโลยี Virtual reality เพื่อมีส่วนช่วยในการรักษาผู้ป่วย โดยการนำระบบ VR มาใช้งาน เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการบำบัดอาการป่วยทางระบบประสาท ช่วยให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมสามารถรู้สึกผ่อนคลายได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือเวชภัณฑ์ที่อาจนำไปสู่ผลข้างเคียง ลดผลกระทบทางสุขภาพที่ตามมา

 

          ตัวระบบสามารถติดตั้งรูปแบบฉากจำลองขึ้นมาได้สูงสุด 12 ฉาก ตั้งแต่ทิวทัศน์ป่าเขาลำเนาไพร, ทุ่งหญ้าเขียวขจี, ชายหาดสว่างเจิดจ้าเบาสบาย, ดำดิ่งไปสัมผัสประสบการณ์ใต้น้ำ, พาไปชมห้วงอวกาศไกลโพ้น หรือแม้แต่การจำลองภาพสถานที่จริงซึ่งผู้ป่วยเคยรู้จักก็ทำได้เช่นกัน

 

          นอกจากใช้สำหรับบำบัดความเครียดลดความวิตกกังวลในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยแล้ว เครื่องมือนี้ยังสามารถใช้ในการกระตุ้นความทรงจำของผู้ป่วยสมองเสื่อมบางประเภท เพราะบางครั้งผู้ป่วยสมองเสื่อมไม่ได้เสียความทรงจำในอดีตไปหมด บางกรณีพวกเขาแค่นึกออกได้ยากเพราะการทำงานที่ช้าลง ซึ่ง VirtuCare จะเป็นเครื่องมือช่วยในจุดนั้น

 

          ในกรณีใช้งานเพื่อจำลองสถานที่หรือเหตุการณ์ในความทรงจำ VirtuCare อาจช่วยให้ผู้ป่วยระลึกถึงเรื่องที่เคยเกิดไปจนคนรู้จักในอดีตให้กลับมา อาจมีส่วนช่วยฟื้นฟูความทรงจำในอดีตที่เคยมี ซึ่งนอกจากช่วยให้ผู้ป่วยมีความสุขแล้ว ยังถือเป็นการกระตุ้นเซลล์สมองช่วยชะลออาการของโรคได้อีกทาง

 

          จากการทดสอบ VirtuCare สมารถมอบประสบกาณ์เสมือนจริงให้แก่ผู้ป่วย ลดการกระทำพฤติกรรมซ้ำๆ หรืออารมณ์แปรปรวนของผู้ป่วยลงได้มาก โดยในกลุ่มทดลองแสดงให้เห็นว่า อุปกรณ์นี้ช่วยลดความเครียดของผู้ป่วยลงได้กว่า 70% ซึ่งเป็นการช่วยเหลือทั้งผู้ป่วยและคนรอบข้างไปพร้อมกัน

 

          VirtuCare มาพร้อมกับอุปกรณ์ร่วมที่ใช้ในการฉายภาพอย่างแว่น VR Oculus Rift สนนราคาอยู่ที่ 3,995 ปอนด์(ราว 175,000 บาท)

 

 

 

 

          แน่นอนว่านี่ยังไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของทีมพัฒนา พวกเขาตั้งเป้าว่าหากการใช้กับผู้ป่วยสมองเสื่อมประสบความสำเร็จ ในอนาคตระบบนี้อาจถูกนำไปใช้ทั้งกับผู้ป่วยเด็ก, ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และผู้มีความพิการทางร่างกายเป็นลำดับต่อไป เช่นเดียวกับบริษัทอื่นที่กำลังให้ความสนใจในการใช้ประโยชน์จาก VR เช่นกัน

 

 

          ที่มา

 

          https://thaitgri.org/?p=38965

 

          https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/alzheimer

 

          https://news.mit.edu/2017/virtual-reality-elderly-sloan-health-care-innovations-prize-0224

 

          https://insights.samsung.com/2018/03/13/virtual-reality-delivers-real-world-benefits-to-dementia-patients/

 

          https://www.bailiwickexpress.com/jsy/life/technology/watch-how-virtual-reality-helping-lives-dementia-patients/