posttoday

SMR อนาคตโรงไฟฟ้าไทย ความเสี่ยง ความเข้าใจ เรื่องพลังงาน “นิวเคลียร์”?

02 มีนาคม 2568

ทำความเข้าใจ ความปลอดภัยและความเสี่ยงของ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก และเทคโนโลยี SMR – Small Modular Reactor ที่มาพร้อมคำจำกัดความ เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถแยกส่วน ผลิตและประกอบแบบเคลื่อนย้ายได้ จริงแท้แค่ไหนอย่างไร?

KEY

POINTS

  • SMR ยังมีต้นทุนเริ่มต้นสูง และการพัฒนาเทคโนโลยียังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และในส่วนของการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วนั้นต้องมีแผนรองรับกากนิวเคลียร์ ที่สำคัญคือการยอมรับจากสังคม ในประเด็นที่ผู้คนอาจกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและอุบัติเหตุ
  • ปัจจุบันมี เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor - SMR) หลายรุ่นที่ได้รับความสนใจและมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง หนึ่งในรุ่นที่โดดเด่นคือ ACP100 หรือที่รู้จักในชื่อ Linglong One 
  • ความนิยมและการยอมรับในแต่ละรุ่นของ SMR อาจแตกต่างกันไปตามความต้องการและนโยบายพลังงานของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้พัฒนาให้ความสำคัญในการออกแบบและดำเนินงาน

เหตุผลด้านความเสี่ยงและความปลอดภัยในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญสุดยอด แม้จะมีความต้องการความมั่นคงด้านพลังงาน ร่วมกับการหันมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในทิศทางของโลกเพื่อสู้ภัยกับอันตรายของ Climate Change แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน  เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน ก่อนที่จะมี "ผู้เปลี่ยนเกมในโลกแห่งพลังงานสะอาด"

 

จากข้อมูลตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ระบุ จะมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นอยู่ที่ 51% ส่วนใหญ่เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ก๊าซธรรมชาติ 40% และไฮโดรเจน 5% ส่วนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจะรวมอยู่ในสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ทำให้เกิดโครงการริเริ่มนำร่อง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR- Small Modular Reactor มาใช้โดย กฟผ. ที่ระบุผ่านเว็บไซต์ว่า เมื่อทิศทางของโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality โรงไฟฟ้า SMR จึงกลายเป็นที่จับตามอง โดยคาดหมายว่า SMR จะเป็นทางออกของพลังงานสะอาดที่จะมาแทนที่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต

 

โมเดล Small Modular Reactor : SMR หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (ภาพโดย กฟผ.)

 

และระบุถึง เทรนด์โลกสู่ทิศทางพลังงานไทย ว่าเมื่อทั่วโลกตื่นตัวและหาทางออกของปัญหาโลกร้อนร่วมกัน แต่การเดินหน้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ไม่สามารถพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนเพียงอย่างเดียวได้ ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ PDP2024 จึงได้บรรจุ SMR ขนาดกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรงไฟฟ้า เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ไปพร้อมกับความมั่นคงทางพลังงาน

 

และจากที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า เอกชนขนาดใหญ่หลายรายมีแนวคิดหรือสนใจในการดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กด้วยเทคโนโลยี SMR เพื่อให้บริการเองนั้น ทำให้แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานได้ออกมาชี้แจงว่า การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะต้องมีการกำหนดมาตรฐาน ดังนั้น

 

“การจะลงทุนเทคโนโลยีนิวเคลียร์หรือการนำเข้ามาจะต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบของกฎระเบียบด้านความปลอดภัย”

 

โดยสิ่งที่ยากที่สุดคือการทำความเข้าใจกับภาคประชาชน และอีกสิ่งสำคัญคือ การจะนำเทคโนโลยีนิวเคียร์เข้ามาจะต้องขออนุมัติจากสถาบันด้านมาตรฐานด้านพลังงานโลก ซึ่งจะต้องดูความพร้อมก่อนที่จะมีโรงงานนิวเคลียร์ ดังนั้น การจะสร้างโรงไฟฟ้าจึงควรเป็นระดับประเทศก่อนแล้วค่อยเป็นไปในระดับพาณิชย์ 

 

นอกจากนี้ การจะลงถึงระดับพาณิชย์ได้แปลว่า ผ่านมาตรฐานระดับประเทศแล้ว ซึ่งจะต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยก่อน คือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งจะต้องเข้าไปหารือ 

 

และเหตุผลอีกข้อที่สำคัญคือ หากให้กฟผ.นำร่องในโครงการ SMR รัฐบาลสามารถสั่งได้ หากเอกชนทำเองเมื่อเกิดปัญหาด้านความปลอดภัย รัฐบาลอาจสั่งให้หยุดเดินเครื่องไม่ได้ 

 

ดังนั้น หาก กฟผ. ดำเนินการ แล้ว ปส.รายงานว่าไม่ปลอดภัย สำนักงาน กกพ. เข้าตรวจสอบพบว่าก็จะต้องหยุดเดินเตรื่องทันที ก็สามารถทำได้ จึงมองว่าในเรื่องของการขอติดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เอกชนเองอาจยังไม่รู้อะไรอีกหลายอย่าง จึงควรหารือกับภาครัฐให้ตกผลึกก่อน แต่เวลานี้ตนยังไม่แน่ใจว่าเอกชนมีการหารือรอบด้านแค่ไหน

 

ภาพแสดงโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ขนาดใหญ่ เล็ก และเล็กมาก  (ข้อมูลจาก IAEA : https://bit.ly/3QcnmCP)

 

โพสต์ทูเดย์ ชวนมาทำความเข้าใจเรื่อง SMR กันต่อเกี่ยวกับข้อกังวลและข้อจำกัดต่างๆ 

 

เริ่มจาก SMR ยังมีต้นทุนเริ่มต้นสูง และการพัฒนาเทคโนโลยียังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และในส่วนของการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วนั้นต้องมีแผนรองรับกากนิวเคลียร์ ที่สำคัญคือการยอมรับจากสังคม ในประเด็นที่ผู้คนอาจกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและอุบัติเหตุ

 

กำลังการผลิตของ SMR (Small Modular Reactor)

 

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR โดยทั่วไปมีกำลังการผลิตระหว่าง 10 - 300 เมกะวัตต์ (MW) ต่อเครื่องปฏิกรณ์ ซึ่งน้อยกว่าการผลิตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่มักมีกำลังการผลิต 1,000 - 1,600 MW ต่อเครื่องปฏิกรณ์

 

SMR อนาคตโรงไฟฟ้าไทย ความเสี่ยง ความเข้าใจ เรื่องพลังงาน “นิวเคลียร์”?

 

ประเภทของ SMR ตามกำลังการผลิต

1. Microreactor (10-50 MW)

  • ขนาดเล็กมาก ใช้พลังงานสนับสนุนพื้นที่ห่างไกล ฐานทัพ หรือสถานีวิจัย

  • เช่น eVinci (Westinghouse), Aurora (Oklo)

2. SMR ขนาดเล็ก (50-150 MW)

  • ใช้สำหรับชุมชนขนาดเล็ก หรือโรงงานอุตสาหกรรม
  • เช่น RITM-200 (รัสเซีย), Nuscale Power Module (สหรัฐฯ)

3. SMR ขนาดกลาง (150-300 MW)

  • สามารถใช้ในระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลักแทนโรงไฟฟ้าฟอสซิล
  • เช่น BWRX-300 (GE Hitachi), CAREM (อาร์เจนตินา)

 

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงสถานที่ก่อสร้าง Linglong One ซึ่งเป็น SMR เชิงพาณิชย์เครื่องแรกของโลกที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเขตปกครองตนเองฉางเจียง หลี่ มณฑลไห่หนาน ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 [ภาพจาก China.org.cn]

 

ในปัจจุบันมี เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor - SMR) หลายรุ่นที่ได้รับความสนใจและมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง หนึ่งในรุ่นที่โดดเด่นคือ ACP100 หรือที่รู้จักในชื่อ Linglong One พัฒนาโดยบริษัท China National Nuclear Corporation (CNNC) ซึ่งเป็น SMR เชิงพาณิชย์เครื่องแรกของโลกตั้งอยู่บนเกาะไหหลำ มณฑลไห่หนานของจีน มีกำลังการผลิต 125 เมกะวัตต์ (MW) ด้วยคุณสมบัติเด่นคือ

 

  • การออกแบบให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน เช่น การผลิตไฟฟ้า การให้ความร้อน การผลิตไอน้ำ และการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล
  • ใช้ระบบความปลอดภัยเชิงรับ (Passive Safety Systems) ที่ไม่ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานภายนอก ทำให้เพิ่มความปลอดภัยในการดำเนินงาน
  • มีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 58 เดือน และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบหลังจากนั้น

 

นอกจาก ACP100 แล้ว ยังมี SMR รุ่นอื่น ๆ ที่ได้รับความสนใจในระดับสากล เช่น

  • NuScale Power Module: พัฒนาโดยบริษัท NuScale Power ในสหรัฐอเมริกา มีกำลังการผลิตประมาณ 60 MW ต่อโมดูล และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ (NRC) ในด้านความปลอดภัย
  • BWRX-300: พัฒนาโดย GE Hitachi Nuclear Energy เป็นเครื่องปฏิกรณ์น้ำเดือดขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิต 300 MW และได้รับการออกแบบให้มีความปลอดภัยสูงและต้นทุนการก่อสร้างที่ลดลง

 

ทั้งนี้ ความนิยมและการยอมรับในแต่ละรุ่นของ SMR อาจแตกต่างกันไปตามความต้องการและนโยบายพลังงานของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้พัฒนาให้ความสำคัญในการออกแบบและดำเนินงาน

 

ภาพเปรียบเทียบเทคโนโลยี SMR กับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั่วไป (เครดิตภาพซwww.egat.co.th)

 

ความเสี่ยงและข้อควรพิจารณา

แม้ว่า SMR จะมีความปลอดภัยสูง แต่ความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการยอมรับและการนำไปใช้ และอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามคือเรื่องของการจัดการกากกัมมันตรังสี ที่แม้ SMR จะมีปริมาณน้อยกว่า แต่การจัดการกากกัมมันตรังสียังคงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ

 

และถึงแม้ว่าการออกแบบของ Small Modular Reactors (SMRs) จะมีความพยายามในการเพิ่มความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ แต่ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเทคโนโลยีนี้ในบางกรณี คือ

 

1. การระบายความร้อนและการหลอมละลายของแกนกลาง

แม้ว่า SMR จะได้รับการออกแบบให้มีระบบระบายความร้อนที่เป็นอัตโนมัติและใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อลดความเสี่ยงในการหลอมละลายของแกนกลาง แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงในกรณีที่ระบบระบายความร้อนเกิดความล้มเหลว เช่น หากระบบป้องกันการหลอมละลายล้มเหลว หรือเกิดข้อบกพร่องในระบบระบายความร้อนอัตโนมัติ

 

2. ความเสี่ยงจากกากกัมมันตรังสี

แม้ว่า SMR จะมีขนาดเล็กและมีการจัดการกากกัมมันตรังสีที่ดีขึ้น แต่การจัดการกับขยะกัมมันตรังสียังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเคร่งครัด การรั่วไหลหรือการจัดเก็บที่ไม่เหมาะสมสามารถทำให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้

 

3. ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ

SMR ยังสามารถประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม หรือแผ่นดินไหว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าได้ แม้ว่า SMR จะได้รับการออกแบบให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ภัยธรรมชาติได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถตัดความเสี่ยงได้อย่างสมบูรณ์

 

4. อุบัติเหตุจากการบำรุงรักษาและการจัดการ

ในขณะที่ SMR มีระบบที่ออกแบบมาเพื่อให้การดำเนินการมีความสะดวกและปลอดภัย แต่การบำรุงรักษาหรือการตรวจสอบยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากข้อผิดพลาดของมนุษย์หรือจากการบำรุงรักษาที่ไม่ครบถ้วน

 

5. อุบัติเหตุจากความผิดพลาดทางเทคนิคหรือการออกแบบ

อุบัติเหตุที่อาจเกิดจากข้อผิดพลาดทางเทคนิค เช่น ข้อบกพร่องในการออกแบบ หรือความผิดพลาดจากการผลิตที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ระบบรักษาความปลอดภัยไม่สามารถทำงานได้ตามที่คาดหวัง

 

ด้านกรีนพีซ ประเทศไทย ก็ได้เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับการนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) มาใช้ในประเทศ โดยมีข้อสังเกตดังนี้

  • ความไม่แน่นอนของเทคโนโลยี: SMR ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้รับการทดสอบและพิสูจน์อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
  • การจัดการกากกัมมันตรังสี: ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการจัดเก็บกากกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างปลอดภัยในระยะยาว ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
  • ต้นทุนสูงและความเสี่ยงทางการเงิน: การลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์มีต้นทุนสูง ทั้งในด้านการก่อสร้าง การรักษาความปลอดภัย และการจัดการกากกัมมันตรังสี ซึ่งอาจเป็นภาระทางการเงินต่อประเทศ

 

หมายเหตุ: ข้อมูลจากเว็บไซต์คณะกรรมการกิจการพลังงาน

จากข้อมูลสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยย้อนหลัง 11 ปี (2012-2022) ของทั้ง 30 ประเทศทั่วโลก โดย World Nuclear Association พบว่าแต่ละประเทศมีการใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์เป็นสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าในประเทศ ดังนี้

          กลุ่มที่ 1 France มาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 71%

          กลุ่มที่ 2 Slovakia, Ukraine, Hungary, Belgium อยู่ที่ 46-54%

          กลุ่มที่ 3 Slovenia, Sweden, Czech Republic, Bulgaria, Switzerland, Finland, Armenia, Korea อยู่ที่ 28-37%

          กลุ่มที่ 4 Spain, USA, Russia, Romania, China, UK, Canada, Germany อยู่ที่ 12-20%

          กลุ่มที่ 5 Pakistan, South Africa, Argentina, Mexico, Japan, Netherlands, India, Brazil, Belarus, Iran, Arab Emirates อยู่ที่ 1-7%

 

สรุปคือ แม้ว่าเทคโนโลยี SMR จะได้รับการออกแบบโดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัย แต่ยังคงมีการพัฒนาและการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น และต้องมีการจัดการความเสี่ยงอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การก่อสร้างจนถึงการดำเนินงาน

 

 

อ้างอิงข้อมูล: กฟผ./กรุงเทพธุรกิจ/กรีนพีซ ประเทศไทย/คณะกรรมการกิจการพลังงาน / www.neimagazine.com / www.ans.org