งบประมาณ – การเมือง อุปสรรคทำระบบเตือนภัยผ่านมือถือประเทศสะดุด
เกือบ 1 ปี ที่ประเทศไทยใช้เวลาหาข้อสรุป งบประมาณ และ เจ้าภาพ ในการทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ และแม้ว่าในที่สุดเจ้าภาพคือ ปภ. แต่ก็ยังมีความไม่ชัดเจนว่า ใครจะเป็นแม่งานในการกลั่นกรองดูระดับความรุนแรงและเรื่องที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือนประชาชน
“ระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ต้องเสร็จภายใน 1 ปี ” เป็นคำประกาศที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ประกาศไว้เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 ในสมัยรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน เนื่องจากต้องใช้เวลาในการทำระบบ 6-12 เดือน ขณะที่ค่ายมือถือต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องใช้งบประมาณสูง และต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนสั่งการว่า ใครจะเป็นศูนย์บัญชาการสั่งข้อความแจ้งเตือนที่กลั่นกรองแล้วไปยังประชาชน
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงดีอี จึงขออาสาเป็นแม่งาน ในการเป็นศูนย์บัญชาการระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศ หรือ ระบบ Cell Broadcast แต่ต้องใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งขณะนั้นยังไม่รู้ว่าต้องของบประมาณจากที่ไหน แต่สุดท้ายจึงได้ทำเรื่องของบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ขณะที่ค่ายมือถือเอง ทั้ง AIS TRUE และ NT ก็ต้องใช้งบประมาณ ในการซื้อระบบซอฟต์แวร์ติดตั้งเพิ่มบนเสาสถานีฐานเพื่อให้การแจ้งเตือนแม่นยำ สามารถเจาะจงได้ในแต่ละพื้นที่ เพราะแต่ละเรื่อง แต่ละพื้นที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน จึงต้องของบจากกสทช. เช่นกัน
ทว่าเมื่อเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. บอร์ดไม่อนุมัติเงินให้กระทรวงดีอี เนื่องจากทราบมาว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย มีการตั้งงบประมาณในการทำเรื่องดังกล่าวไว้แล้วจำนวน 400 ล้านบาท
กสทช.จึงแจ้งให้กระทรวงดีอีนำเรื่องการของบประมาณจากกสทช.เข้า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำมติมาให้กสทช.เป็นไม้พิงหลัง ว่าทำไม กสทช.ต้องให้เงินสนับสนุนกับ กระทรวงดีอี
แต่ลึกๆแล้ว กสทช.มีการตั้งคำถามว่า เป็นการใช้งบประมาณซ้ำซ้อนหรือไม่ ดีอี หรือ ปภ. ใครกันแน่ ควรเป็นแม่งาน
แม้กระทรวงดีอี จะออกตัวแรงในการขอเป็นแม่งาน แต่ท้ายที่สุด ครม.ก็มีมติให้ ปภ.กระทรวงมหาดไทย เป็น แม่งาน
ทำให้ กสทช.ไม่ต้องหางบประมาณมาให้กระทรวงดีอีถึง 400 ล้านบาท ตามที่ขอ เหลือเพียงเรื่องที่ต้องรับผิดชอบคือ งบประมาณให้ค่ายมือถือทำระบบ
เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 กสทช.เพิ่งได้อนุมัติงบประมาณให้ค่ายมือถืออย่างเดียวในจำนวนเงิน 1,030,961,235.54 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับการจัดทำและบำรุงรักษาระบบแจ้งเตือนภัยดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี ด้วยการนำค่าใช้จ่ายมาหักเงินที่ต้องจ่ายให้ USO ของ กสทช.
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. คาดว่า ปภ.จะสร้างระบบเสร็จภายใน 9-12 เดือน
ระหว่างนี้ค่ายมือถือต้องเตรียมความพร้อม ล่าสุดค่ายมือถืออยู่ระหว่างการติดตั้งโครงข่าย เพื่อรองรับการส่งข้อความ คาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาสที่ 4 ปีนี้ โดยเร็ว ๆ นี้สำนักงาน กสทช. จะร่วมกับภาครัฐ และเอกชน ลงพื้นที่ จ. เชียงใหม่ และภูเก็ตเพื่อทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือในพื้นที่ด้วย
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2567 AIS ได้แถลงทดสอบระบบ Cell Broadcast จากนั้นวันที่ 3 ก.ค. 2567 TRUE ได้เปิดทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือเสมือนจริงเช่นเดียวกัน
เกือบ 1 ปี ประเทศไทยเพิ่งได้ข้อสรุปเรื่องงบประมาณและแม่งานคือใคร ซึ่ง ปภ.คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ต้นปี 2568 ขณะที่ กระทรวงดีอีเอง ก็ได้งบประมาณ 98 ล้านบาท จาก ปภ. โดยให้ NT ทำระบบคลาวด์ในการเชื่อมต่อข้อมูลสั่งการไปยังค่ายมือถือ
แต่สิ่งที่ยังดูเหมือนจะยังไม่ได้ข้อสรุป และอาจเป็นปัญหาทำให้การสั่งการไม่รวดเร็วทันการณ์ คือ การตั้งคณะกรรมการร่วมของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการแจ้งเตือนภัยนั้น มีทั้งหน่วยงานกรมอุตุนิยมวิทยา ในการแจ้งเตือนเรื่องฝน พายุ ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุการณ์อาชญากรรมขั้นร้ายแรง เช่น กราดยิง เป็นต้น
ดังนั้นการกลั่นกรองและสั่งการจึงเป็นเรื่องสำคัญ ว่าเรื่องไหนควรแจ้งเตือน และแจ้งเตือนอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก ที่สำคัญ ต้องแจ้งอย่างรวดเร็วเพื่อให้รับมือได้ทันถ่วงที ซึ่งเรื่องนี้ นายประเสริฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดีอี ย้ำว่า จำเป็นต้องมี
เรื่องดังกล่าวรองนายกฯและ รมว.ดีอี ประเสริฐ ชี้แจงว่า "ขณะนี้ได้ยกร่างประกาศสำนักนายกฯ เรียบร้อยแล้ว ว่าใครจะมีอำนาจในการสั่งการข้อความออกไปยังประชาชน ถ้าระบบพร้อมก็ทำงานได้ทันที"
คนในประเทศที่กำลังรอความหวังกับระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ เหมือนที่ต่างประเทศ เกาหลี ไต้หวัน เขาสามารถแจ้งเตือนได้แบบเรียลไทม์มานานแล้ว ก็อดใจรออีกนิดหนึ่งจะได้ใช้ในสมัยรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร แน่นอน
ระบบ Cell Broadcast ทำงานอย่างไร
ระบบแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจงพื้นที่ดังกล่าว จะเป็นการส่งข้อความเตือนภัยแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในบริเวณนั้น แตกต่างจากระบบ SMS ทั่วไป เพราะไม่จำเป็นต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารข้อมูลเตือนภัยทำได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งพื้นที่เกิดเหตุ โดยประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ
สำหรับโครงสร้างของการนำเทคโนโลยี Cell Broadcast Service มาใช้งานนั้น แบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งที่ 1 : ดำเนินการและดูแล โดย ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator ) และ การอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)
ฝั่งที่ 2 : ดำเนินการและดูแล โดย ผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความ ไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และ การบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)