"ภูมิธรรม เวชยชัย"นั่งหัวโต๊ะเวิร์คช็อปรับมือฤดูฝนปี67ป้องกันน้ำท่วม
"จักรพงษ์ แสงมณี" รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้ารับมืออุทกภัย ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567
เมื่อวันที่ 10ก.ค.2567 นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับ "โพสต์ทูเดย์" ถึงแผนการรับมืออุทกภัย ปี 2567 ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีว่า นายกฯมอบหมายให้ นายภูมิธรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้า และสร้างความเข็มแข็ง เครือช่ายภาคประชาชน ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ณ ห้องประชุมแพรวา ชั้น 2 สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องศ์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ก่อนการประชุม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรมและนายจักรพงษ์ พร้อมคณะนายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงาน ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ตรวจกำแพงป้องกันน้ำท่วมที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ วัดไชยวัฒนาราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนั้นเดินทางลงพื้นที่รับฟังแผนผชิญเหตุ ณ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย
ทั้งนี้ ในการเปิดประชุมโครงการชักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้า และสร้างความเข้มแข็ง เครือข่ายภาคประชาชน มีตัวแทนจากทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้าร่วมซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 พร้อมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ นอกจากนี้นายภูมิธรรม จะเป็นประธานปล่อยขบวนรถและเครื่องจักรกลสาธารณภัย ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ด้วย
สำหรับ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 จากการประชุม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2567 เพื่อรับมือสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2567 ส่งผลให้มีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย
1. คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง
2. ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ
3. เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง และศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง
4. ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ
5. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ
6. ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ
7. เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน
8. สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์
9. การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์
10. ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เผยด้วยว่า การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน เป็นไปตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 สทช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 24 หน่วยงาน
ในปีนี้ ได้เชิญนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 5 แห่ง คือ 1.นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 2.นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) 3.นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง (สหรัตนนคร) 4.นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และ 5.นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย เข้าร่วมด้วย