ฮอนด้าปิดไลน์ผลิตรถโรงงานอยุธยา ตอกย้ำการรุกหนักค่ายรถ EV จีน
ฮอนด้าประกาศปิดไลน์ผลิตรถยนต์โรงงานในอยุธยา เหลือผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ ย้ายไปรวมที่ปราจีนบุรี สื่อญี่ปุ่นชี้ปัจจัย ค่ายรถญี่ปุ่นไทยอยู่ในจุดเสี่ยง โดน EV ค่ายจีนไล่ต้อนหนัก ส่วนยอดขายฮอนด้าในไทยต่ำกว่า 1 แสนคันมา 4 ปีติด ยอดผลิตรถในไทยลดลง ไร้แผนลงทุนในไทยเพิ่ม
บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ ประกาศเมื่อวันอังคารว่า จะหยุดการผลิตรถยนต์ที่โรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย ภายในปี 2568 โดยมีแผนจะรวมกำลังการผลิตไว้ที่โรงงานในจังหวัดปราจีนบุรีแทน
ประเด็นนี้สำนักข่าว นิคเคอิ เอเชีย รายงานว่า การตัดสินใจนี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นสำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากแบรนด์รถยนต์จากจีนกำลังรุกตลาดอย่างหนักเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทย อีกทั้งความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคก็เพิ่มสูงขึ้น
โฆษกของฮอนด้าเปิดเผยว่า ฮอนด้าจะจะปิดโรงงานผลิตรถยนต์ที่ จังหวัดอยุธยา และจะรวมการผลิตรถยนต์ไปไว้ที่โรงงานปราจีนบุรี ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อปี 2559 ไว้ที่เดียว ทำให้แหลางผลิตรถยนต์ของฮอนด้าในประเทศไทยเหลือเพียงที่เดียวที่ปราจีนบุรี
ส่วนโรงงานที่อยุธยา ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2539 จะใช้เพื่อผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แทน หลังจากที่หยุดการผลิตรถยนต์ที่นั่นในปีหน้า
ทั้งนี้มี ฮอนด้าพบว่ายอดการผลิตรวมของทั้งสองโรงงาน ตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2566 หรือ 4 ปีหลังมานี้ ยอดการผลิตลดลงจาก 228,000 คัน เหลือไม่ถึง 150,000 คันต่อปี
ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยช่วง 4 ปีหลังสุด ต่ำกว่า 100,000 คันต่อปี
อย่างไรก็ตาม โฆษกฮอนด้า ระบุว่า ฮอนด้าได้ส่งออกรถที่ผลิตจากโรงงานในไทย ไปยังตลาดอื่นๆ ในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ฮอนด้าจะยังไม่มีแผนการลงทุนใหม่ในประเทศไทย
นอกจากนี้ นิคเคอิ เสริมว่า ในประเทศจีน ทั้งฮอนด้าและนิสสัน 2 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ยิ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแข่งขันกับแบรนด์รถยนต์จีนที่กำลังเติบโต ที่ดึงดูดผู้บริโภคด้วยรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดที่มีราคาถูกและมาพร้อมซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะสูญเสียลูกค้าในตลาดนอกประเทศจีน เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้กับแบรนด์รถยนต์จีนที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด และยังโตได้อีกจากมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐของจีน ราคาแบตเตอรี่ที่ถูกลง ยิ่งทำให้รถไฟฟ้าราคาถูกลงไปอีก รวมถึงการเพิ่มการส่งออกรถยนต์และตั้งโรงงานในต่างประเทศมากขึ้น
ขณะที่สัปดาห์ก่อน บริษัท BYD ของจีนได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนมูลค่ากว่า 1.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่กำลังตั้งโรงงานในประเทศไทย