posttoday

กรุงเทพมหานคร เปิดรายละเอียดผังเมืองฉบับใหม่ คาดประกาศใช้ปี 68

26 กรกฎาคม 2566

กรุงเทพมหานคร เผยความคืบหน้าการทำผังเมืองฉบับใหม่ ชูจุดเด่น ปรับปรุงตามสถานการณ์ เน้นดูทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมในเมืองและการขยายตัวของเมือง รวมถึงการรองรับปัญหาน้ำท่วม คาดประกาศใช้ปี 68

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร กล่าวในงานสัมมนา Property Insight : โจทย์ใหญ่ฟื้นอสังหาริมทรัพย์ จัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หัวข้อ ผังเมืองกทม. : พลิกโฉมมหานคร ว่า กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ซึ่งใช้บังคับมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว

ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ประเมินผลการใช้บังคับผังเมืองรวมฉบับดังกล่าว และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผังเมือง ในการประชุมคณะกรรมการผังเมือง ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2561 ให้ปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 ให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

เดิมกรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ตามขั้นตอนแห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งมีความก้าวหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่องมาเป็นลำดับ โดยปิดประกาศร่างผังเมืองรวมและจัดประชุม เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2562 และอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงร่างผังเมืองรวม ตามข้อคิดเห็นที่ได้รับจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2562 และตามมาตรา 110 บัญญัติว่า บรรดาผังเมืองรวมที่อยู่ระหว่างการวางและจัดทำตามขั้นตอนพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ให้ดำเนินการขั้นตอนต่อไปตามที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนด 

จากนั้นมติการประชุมคณะกรรมการผังเมือง ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 ได้ผลสรุปให้กรุงเทพมหานครนำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) กลับไปดำเนินการให้เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 กำหนดให้ครบถ้วน โดยมีสาระสำคัญที่จะต้องจัดทำเพิ่มเติม คือ แผนผังแสดงผังน้ำ และแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งนำไปจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนใหม่อีกครั้ง 

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ได้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งได้ประมวลผลการศึกษา นำมาบูรณาการร่วมกับนโยบายและแผนพัฒนาของภาครัฐทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดทำเป็นร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่

ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผ่านการประชุมไปแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร คาดว่าจะประกาศได้ภายในเดือน ก.ย.หรือ ต.ค. 2566 เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงมหาดไทยในการพิจารณาและคาดว่าจะมีการบังคับใช้ในปี 2568

ผังเมืองใหม่นี้ ไม่มีอายุการใช้งาน จะปรับตามความจำเป็น ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรอปรับทุก 5 ปี 

นายไทวุฒิ กล่าวว่า สำหรับแนวคิดในการร่างผังเมืองฉบับใหม่ เน้นการดูในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมในเมืองและการขยายตัวของเมือง รวมถึงการปรับทัศนียภาพย่านเมืองเก่าแก่ การแก้ปัญหาการบุกรุกคลองของประชาชนที่พบว่ามีการบุกรุกกว่า 1,116 คลอง เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการสัญจรทางน้ำและทางบก รวมถึงการรองรับปัญหาเรื่องน้ำท่วมด้วย เป็นต้น 

ยกตัวอย่างการแก้ไขปรับปรุงแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท บริเวณชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ได้เปลี่ยนจากที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบท และเกษตรกรรม เป็น ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม โดยการปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดไว้ ดังนี้

โรงแรม :        ไม่เกิน 20 ห้อง ขนาดเขตทาง 12 เมตร
                      ไม่เกิน 50 ห้อง ขนาดเขตทาง 16 เมตร

พาณิชยกรรม: ขนาด 300-500 ตารางเมตร ขนาดเขตทาง 12 เมตร
                      ขนาด 500-1,000 ตารางเมตร ขนาดเขตทาง 16 เมตร

ตลาด:           ขนาดไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ขนาดเขตทาง 12 เมตร
                     ขนาด 1,000-2,500 ตารางเมตร ขนาดเขตทาง 16 เมตร  
                     ขนาดเกิน 2,500 ตารางเมตร ขนาดเขตทาง 30 เมตร

ขณะที่ มาตรการส่งเสริมการพัฒนาตามผังเมืองรวม มีมาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน เพื่อเป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคเอกชนและประชาชนในการเพิ่มพื้นที่อาคารได้ไม่เกิน 20% ของอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน หากได้ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายเพื่อประโยชน์สาธารณะของภาครัฐ เช่น การจัดให้มีถนนสาธารณะที่เชื่อมต่อระหว่างถนนสาธารณะเพื่อใช้เป็นทางลัดระหว่างถนนสาธารณะ 2 สาย เป็นต้น