posttoday

ผ่าแคมเปญจอง 999 บาท

06 พฤษภาคม 2556

โดย...ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการ บริษัทเสนาดีเวลลอปเม้นท์

โดย...ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการ บริษัทเสนาดีเวลลอปเม้นท์

สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินแคมเปญประเภท “จองเพียง 999 บาท สามารถเข้าอยู่ได้เลย หรืออยู่ฟรี 1 ปี ไม่ต้องจ่ายสักบาท” ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าแค่มีเงินในกระเป๋าเพียง 999 บาท ก็สามารถซื้อคอนโดราคาเป็นล้านได้ และเข้าอยู่ได้เลยในปีแรกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสักบาท หรืออาจมีบางคนคิดในแง่การเก็งกำไรว่าลงทุนด้วยเงินเพียง 999 บาท ก็สามารถทำกำไรได้แล้ว ในฉบับนี้ดิฉันจึงอยากลองชวนคุณผู้อ่านมาช่วยกันมองให้ลึกลงไปว่าแคมเปญประเภทจองเพียง 999 บาท อยู่ฟรี 1 ปีนั้น ยังมีความน่าสนใจและมีอะไรซ่อนอยู่อีกหลายอย่าง

โดยทั่วไปแคมเปญอยู่ฟรี 1 ปี สำหรับคอนโดที่สร้างเสร็จพร้อมโอนนั้น ลูกค้าไม่ต้องชำระเงินผ่อนคอนโดกับสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อเลยสักบาทเดียวตลอด 12 เดือนแรก โดยลูกค้าจะเริ่มชำระเงินผ่อนในเดือนที่ 13 หลังจากโอนกรรมสิทธิ์ เช่น คุณผู้อ่านกู้เงินซื้อคอนโด 1.5 ล้านบาท มีงวดเงินผ่อนตามปกติ 360 เดือน ผ่อนประมาณเดือนละ 1 หมื่นบาท

ตามแคมเปญนี้ คุณผู้อ่านไม่ต้องชำระเงินผ่อนเลยในช่วง 12 เดือนแรก คิดเป็นเงินจำนวน 1.2 แสนบาท ทำให้คงเหลืองวดเงินผ่อนอีกเพียง 348 เดือน หรือถ้าคุณผู้อ่านต้องการจะชำระเงินผ่อนตั้งแต่เดือนแรกเลย ก็สามารถทำได้นะคะ ซึ่งก็ยิ่งเป็นการลดเงินต้นวงเงินกู้ ทำให้ยอดเงินต้นลดลงเร็วขึ้น และผ่อนหมดเร็วขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี เงินผ่อนคอนโดก็ไม่ใช่เป็นเพียงค่าใช้จ่ายส่วนเดียวที่เกิดขึ้น ซึ่งคุณผู้อ่านควรจะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้อยู่อาศัยเพื่อไว้ใช้เป็นค่าบำรุงรักษาโครงการ มักให้ชำระล่วงหน้าเป็นรายปี จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับโครงการจัดสรรและพื้นที่ใช้สอย

สมมติว่า คุณผู้อ่านซื้อคอนโดที่มีพื้นที่ใช้สอยขนาด 35 ตารางเมตร และมีค่าใช้จ่ายส่วนกลางอยู่ที่ 35 บาทต่อตารางเมตร คุณผู้อ่านก็จะต้องมีภาระชำระค่าส่วนกลางรายปีเป็นเงิน 1.47 หมื่นบาท หรือคิดเป็น 1% ของราคาคอนโดเลยทีเดียวค่ะ

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับสถาบันการเงิน ได้แก่ ค่าธรรมเนียมในการประเมินราคาหลักทรัพย์ ซึ่งสถาบันการเงินบางแห่งก็จะมีการกำหนดจำนวนเงินสูงสุดไว้ ค่าธรรมเนียมในการจัดการสินเชื่อ ปกติก็จะอยู่ที่ประมาณ 0.25-1% ของวงเงินกู้ยืม ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงิน ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์สำหรับการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน ประมาณ 2% ของราคาประเมิน ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง อีกประมาณ 1% ของมูลค่าจดจำนอง

และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจิปาถะ ได้แก่ ค่าอากรแสตมป์ เบี้ยประกันอัคคีภัย ที่ธนาคารมักกำหนดให้ผู้กู้ต้องทำประกันอัคคีภัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือของธนาคาร หรือบริษัทที่ธนาคารคัดเลือกมา ส่วนใหญ่ประมาณ 2,000 บาท สำหรับมูลค่าคอนโดทุก 1 ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วอาจมีสัดส่วนสูงถึง 5-10% ของมูลค่าคอนโดเลยทีเดียวนะคะ ยิ่งถ้าคอนโดมีราคาต่ำเท่าไร ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายคอนโด (Transaction Cost) ก็ยิ่งสูงขึ้นมากเท่านั้น

ดังนั้น การตัดสินใจซื้อคอนโดสักห้อง จึงควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ เพราะไม่เฉพาะเพียงเงินผ่อนคอนโดที่เกิดขึ้นทุกเดือนที่เราต้องมีพันธะผูกพันกับสถาบันการเงินไปอีกนาน แต่ยังมีต้นทุนที่เกี่ยวเนื่องกับคอนโดอื่นๆ อีก เพื่อที่เราจะเตรียมความพร้อมและอาศัยอยู่ในคอนโดที่หาซื้อมาด้วยน้ำพักน้ำแรงได้อย่างมีความสุขยิ่งขึ้นค่ะ