posttoday

จุดประกาย "บ้านเขียว" สำหรับผู้มีรายได้น้อย

18 ตุลาคม 2560

การสร้างที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อยจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน รัฐบาลคือแรงขับเคลื่อนสำคัญ

โดย...อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

ในวันจันทร์แรกของเดือน ต.ค.ในทุกๆ ปี ทางองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) โดยในปีนี้ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้จัดกิจกรรม “ที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อย” ฉลองวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2560 ด้วยเช่นกัน

ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การจัดงานดังกล่าวก็เพื่อให้ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม รวมทั้งสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในอนาคต โดยในปี 2560 ได้วางกรอบแนวคิด “นโยบายที่อยู่อาศัย : บ้านที่ทุกคนเข้าถึงได้” เพื่อให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องที่อยู่อาศัยตามแนวคิดดังกล่าว

ผุดบ้าน 2.27 ล้านหน่วยใน 20 ปี

ทั้งนี้ กคช.เป็นหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (ปี 2560-2579) ที่มีเป้าหมายพัฒนาบ้านผู้มีรายได้น้อยกว่า 2.27 ล้านหน่วย

อย่างไรก็ดี เทรนด์ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบันคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ดังนั้น แนวคิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สนับสนุนที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อยจึงเป็นอีกแนวทางที่ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมดีและประหยัดพลังงาน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนในอนาคต

ที่ผ่านมา กคช.มีการลงนามความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อร่วมโครงการฉลากประสิทธิภาพสูงสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยหรือบ้านฉลากเบอร์ 5 ขณะนี้ได้งบสนับสนุนราว 100 ล้านบาท ในการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เช่น หลอดแอลอีดี โดยนำร่อง 100 ชุมชนก่อน ขณะเดียวกันก็ได้มีการศึกษาแนวทางเพื่อใช้กับทั้งโครงการใหม่และเก่าในอนาคตให้เป็นบ้านประหยัดพลังงานเบอร์ 5 ตามหลักเกณฑ์ของ กฟผ.

บ้านใหม่เพิ่ม 3 แสนหน่วย/ปี

ขณะที่ อภิชิต เทอดโยธิน คณบดีคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่อาศัยมีการเติบโตต่อเนื่องมีจำนวนบ้านก่อสร้างใหม่เพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยอยู่ราว 3 แสนหน่วย/ปี ซึ่งนั่นหมายถึงการใช้ไฟฟ้าของภาคอาคารและอุตสาหกรรมเติบโตเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้สัดส่วนของครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อยมีถึง 60% ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของบ้านเรือน ตึกแถวและตึกสูงโดยเฉพาะอาคารที่เป็นวัสดุคอนกรีตจะมีผลโดยตรงต่อการทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ดังนั้นที่อยู่อาศัยสีเขียวจะเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาคารเหล่านี้ต้องมีมาตรฐานในระดับสากล

เสนอแนวทางสู่อาคารเขียว

อภิชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสีเขียว ไม่ว่าจะเป็น หลังคา ผนัง กระจก ที่จะช่วยทำให้เป็นบ้านเขียวได้ ทั้งนี้แนวทางสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยนั้น ภาครัฐต้องเป็นตัวขับเคลื่อนร่วมกับภาคเอกชนและประชาชน ทั้งนี้ควรมีการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานบ้านเขียวและจัดทำฉลากบ้านเขียว นอกจากนี้สนับสนุนผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างให้นำหลักเกณฑ์การประเมินบ้านกรีน มาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบและพัฒนาวัสดุก่อสร้าง เช่น การพัฒนาวัสดุก่อสร้างให้มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล และกิจกรรมการตลาดเพื่อให้วัสดุเหล่านี้มีราคาต่ำลง

ทั้งนี้ ควรพัฒนากลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนผู้ซื้อ ผู้ก่อสร้าง สร้างบ้านที่ได้ฉลาก รวมทั้งดึงผู้เกี่ยวข้องเข้ามาร่วม เช่น สถาบันการเงิน และที่สำคัญคือการประชาสัมพันธ์สร้างแรงจูงใจให้แก่ประชาชนในการเลือกบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

สร้างตลาดแมสดึงดีมานด์

อังคณา สุขวิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและแผนงานด้านการใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 และในอนาคตกำลังจะมีบ้านเบอร์ 5 ซึ่งเกิดจากความมือระหว่าง กคช.และ กฟผ. ขณะนี้มีการนำร่องใน 3 โครงการ คือ ระยอง รังสิต และบุรีรัมย์ โดยเป็นโครงการตามมาตรฐานกรีนบิลดิ้ง ซึ่งเจ้าของบ้านมีส่วนลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงาน

อย่างไรก็ดี ด้วยวัสดุก่อสร้างสำหรับบ้านสีเขียวยังมีราคาแพง ดังนั้นภาครัฐต้องทำให้เกิดตลาดแมสโปรดักต์เพื่อให้เกิดความต้องการเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างลดลง นอกจากนี้ควรมีการปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้เอื้อต่อการใช้วัสดุประหยัดพลังงานเพราะปัจจุบันราคากลางไม่ได้กำหนดไว้ซึ่งเห็นว่าจะไม่ทันกับแนวโน้มการพัฒนาที่อยู่อาศัยในระยะยาว 20 ปีนี้ โดย กคช.เป็นอีกช่องทางที่ทำให้ตลาดเกิดดีมานด์ ราคาจะลงมาสามารถจับต้องได้

แก้กฎหมาย-สร้างแรงจูงใจ

นพดล ว่องเวียงจันทร์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กคช.จัดทำโครงการชุมชนน่าอยู่น่าสบายอย่างยั่งยืน (Eco-Village) ซึ่งต่อไปจะมีเกณฑ์สำหรับที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ดี ด้วยราคาวัสดุที่สูงหากต้องก่อสร้างในจำนวนมากอย่างโครงการของ กคช.อาจมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ

อย่างไรก็ดี แนวทางที่จะทำให้เกิดที่อยู่อาศัยสีเขียวนั้น เป็นเรื่องที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ขณะเดียวกันมองว่าควรมีการออกกฎระเบียบในเรื่องของอีโค-วิลเลจ รวมถึงการทบทวนกฎหมายอย่างเช่น กฎหมายผังเมือง ควรกำหนดโซนของผู้อยู่อาศัยเพื่อรองรับทุกระดับรายได้

รวมทั้งการสนับสนุนเพื่อลดการใช้พลังงานในการเดินทางโดยให้มาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนเช่น บริเวณสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งควรกำหนดใช้พื้นที่ในลักษณะมิกซ์ยูสเน้นความหนาแน่นสูงมีการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มากที่สุด ทั้งนี้ คอนโดในรัศมี 500 เมตรของสถานีรถไฟฟ้าควรแก้กฎหมายลดจำนวนที่จอดรถในอาคารให้น้อยลงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายเหมือนบังคับ ทั้งนี้ควรมีการสร้างแรงจูงใจจากทางภาครัฐ เช่น การเพิ่มโบนัสในพื้นที่ การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการทางภาษี เป็นต้น

ด้าน ทรงเกียรติ เที้ยธิทรัพย์ หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า อาคารเขียวมีเกณฑ์มาตรฐานเพื่อลดและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญคือต้องสร้างความรู้ให้กับเจ้าของบ้านอย่างถูกต้องโดยเลือกใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดไฟควบคู่โดยให้คำนึงถึงความคุ้มค่ามากกว่าราคา

นอกจากนี้ การดีไซน์ออกแบบควรใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในภูมิภาคเพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง รวมถึงมีวิจัยและพัฒนาให้วัสดุพื้นถิ่นมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงานหรือยืดอายุการใช้งานอีกด้วย

สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อยจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน รัฐบาลคือแรงขับเคลื่อนสำคัญซึ่งจะต้องมีการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนไม่ว่าจะผู้ประกอบการ ผู้รับเหมา และผู้พักอาศัย ทำให้กลไกนี้เดินหน้าต่อได้