posttoday

เกาะเทรนด์ สมาร์ทซิตี้ ชูนวัตกรรมพัฒนาเมืองน่าอยู่-ยั่งยืน

25 เมษายน 2560

การจะพัฒนาเมืองไปสู่เมืองอัจฉริยะ จึงเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยทั้งความร่วมมือและงบประมาณ

โดย...อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

“สมาร์ทซิตี้” หรือเมืองอัจฉริยะ เป็น เทรนด์การพัฒนาเมืองยุคใหม่ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับเมือง โดยที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของเมืองได้อย่างรวดเร็ว การเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันเพื่อช่วยพัฒนาระบบบริการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และนั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความปลอดภัยมากขึ้น

แนวทางในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเมืองให้มีความอัจฉริยะนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ร่วมกันพัฒนาเมือง ในหลายประเทศก็ได้มีการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยมีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลในการนำเอาเทคโนโลยีไอซีทีเข้ามาช่วยบริหารจัดการเมืองและชุมชนให้มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น จนประสบความสำเร็จในการเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ

สมาร์ทซิตี้เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก จะแตกต่างกันก็ในเรื่องของรายละเอียด แต่ที่เห็นเด่นชัด คือ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้เป็นเมืองที่มีความอัจฉริยะสามารถตอบโจทย์ในการดูแลและพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักๆ ก็คือ การเพิ่มความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชน เรื่องของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานของเมืองให้ลดลง สำหรับประเทศไทยมี 3 เมืองต้นแบบ คือ จ.ภูเก็ต ขอนแก่น และเชียงใหม่

ประชา อัศวธีระ ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ต สมาร์ทซิตี้เป็นเมืองต้นแบบด้านเทคโนโลยีที่มีความชัดเจนมากที่สุด ซึ่งได้มีการผลักดันให้ จ.ภูเก็ต เป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัล โดยโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน ที่มีเป้าหมายจะสร้างความยั่งยืนให้เมืองโดยสร้างจุดแข็งใหม่ในการเป็นเมืองที่รองรับการลงทุนในธุรกิจดิจิทัล นอกเหนือจากการเป็นเมืองท่องเที่ยว

โครงการนำร่อง ภูเก็ต สมาร์ทซิตี้ ดำเนินการใน 2 พื้นที่ คือ เขตเทศบาลเมืองป่าตองและเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต ซึ่งควบคุมพื้นที่ประมาณ 28.4 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) จากพื้นที่ทั้งหมด 540 ตร.กม. การสร้างสมาร์ทซิตี้ที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้ใน 3 ส่วน คือ

1.สมาร์ทอีโคโนมี ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่ 2 ขึ้นใน จ.ภูเก็ต โดยจะมุ่งเน้นไปทางด้านเทคโนโลยี ทั้งการเป็นแหล่งรวมนักพัฒนาในลักษณะของศูนย์วิจัยหรือศูนย์นวัตกรรมและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหันมาใช้สมาร์ทเทคโนโลยี ในการเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ อาทิ การเปิดโอกาสให้ธุรกิจและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจ ด้วยการยกเว้นภาษี 8 ปี และได้รับสิทธิพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อีก 5 ปี เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดพัฒนาสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.สมาร์ท ลิฟวิ่ง คอมมูนิตี้ เพิ่มความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางน้ำ โดยนำระบบซีซีทีวีเข้ามาช่วยเฝ้าระวัง และทำงานร่วมกับโซลูชั่นอื่นๆ และ 3.สมาร์ทเซ็นเซอร์ เป็นการนำเซ็นเซอร์ที่ผสมผสานเทคโนโลยี IoT ทำให้สามารถตรวจสอบสภาพอากาศ โดยเมื่อพบความผิดปกติระบบจะส่งข้อมูลกับมาที่ส่วนกลางเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที

“ด้วยศักยภาพของ จ.ภูเก็ต ได้ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 9 ของซูเปอร์คลัสเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต สําหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การรวมกลุ่มอยู่ในพื้นที่เดียวกันจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเสริมศักยภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมได้มากขึ้นและก้าวสู่การเป็นคลัสเตอร์ดิจิทัลอย่างแท้จริง”

สำหรับการพัฒนาเมืองของ จ.ขอนแก่น ตามแนวคิดบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) นั้นเริ่มต้นจากคิดจะพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโดยการวางผังเมืองที่เหมาะสมใช้ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมือง และสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของคนในชุมชน ทั้งนี้ได้วางแนวทางในการดำเนินงานใน 7 เรื่อง ได้แก่

1.Smart People คือ เมืองที่ให้ความเท่าเทียมกันในสังคม มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ คนสูงอายุ เปิดโอกาสและสร้างสำนึกให้คนในเมืองมีส่วนร่วม 2.Smart Living คือ เมืองที่น่าอยู่ มีความปลอดภัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษา และด้านสุขภาพอนามัย 3.Smart Environment คือ เมืองที่ประหยัด-ลดการใช้พลังงาน 4.สมาร์ทอีโคโนมี คือ เมืองที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ การสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการสร้างบริษัทใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล

5.Smart Mobility คือ เมืองที่สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้อย่างสะดวกสบาย มีความคล่องตัว และมีความปลอดภัย 6.Smart Government คือ เมืองที่บริหารจัดการโปร่งใส มีความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการเทศบาลดิจิทัล 7.Smart Education คือ เมืองที่มีการพัฒนาการจัดการศึกษาให้ทั่วถึง ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกวัยต่อเนื่อง

แต่ละเมืองมีโจทย์และความต้องการแตกต่างกัน ปัญหาย่อมต่างกัน ดังนั้นการจะพัฒนาเมืองไปสู่เมืองอัจฉริยะ จึงเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยทั้งความร่วมมือและงบประมาณ เพื่อนำไปสู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนในอนาคต