posttoday

กรมการจัดหางาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความเป็นเลิศด้านตลาดงาน

20 กันยายน 2565

กรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลงานด้านส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ประกาศความพร้อมในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนทั่วประเทศได้มีงานคุณภาพทำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายกลุ่มบริการของกรมฯ อย่างมีประสิทธิภาพ

นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า “ในปีงบประมาณ 2565 กรมฯ ได้กำหนดแนวนโยบายหลัก 2 ประการเพื่อพัฒนาประเทศ ประการแรกคือ การลดความเหลื่อมล้ำทางการจ้างงาน โดยมีโครงการ ‘ส่งเสริมคนพิการเชิงสังคม’ ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างโอกาสทางการจ้างงานให้แก่ผู้พิการทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อเอื้อให้ผู้พิการสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ ลดการพึ่งพาผู้อื่น ได้ทำงานในสถานประกอบการ วัด โรงเรียน รวมถึงองค์การบริการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีผู้พิการที่ได้งานทำถึง 1,499 คน เกินเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 1,000 คน นับเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง”

นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้พิการมีโอกาสทำงานในสถานประกอบการชั้นนำ กรมฯ จึงดำเนินโครงการร่วมกับบริษัทชั้นนำต่างๆ อาทิ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท รักษาความปลอดภัยการ์ดฟอร์ซ ประเทศไทย จำกัด และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการเสนอตำแหน่งงานให้กับผู้พิการที่ผ่านเกณฑ์การจ้างงาน

สำหรับการส่งเสริมงานให้แก่ทหารปลดประจำการ กรมฯ มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ความชำนาญในงานของทหารปลดประจำการแต่ละคนที่เข้าร่วมโครงการ การจัดกิจกรรมส่งเสริมวิชาชีพ รวมทั้งการจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะ ปัจจุบัน มีทหารปลดประจำการที่ลงทะเบียนในระบบของกรมฯ จำนวน 4,073 คน โดยมีการว่าจ้างทั้งสิ้น 1,028 คน แบ่งเป็นพนักงานบริษัท 400 คน ทำงานอิสระ 628 คน

นโยบายหลักประการที่สองคือ การขับเคลื่อนการสร้างงานที่มีคุณภาพที่ตรงกับความต้องการของตลาดงาน โดยกรมฯ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดหางานกับบริษัทจัดหางานชั้นนำ เพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มีโอกาสทำงานกับบริษัทชั้นนำ

“การสร้างโอกาสการจ้างงานที่มีคุณภาพนับเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และลดปัญหาความยากจน ด้วยเหตุนี้ กรมฯ จึงเน้นช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ทุกคนได้มีงานทำ” นางสาวบุณยวีร์ กล่าว

ยกระดับการให้บริการจัดหางาน ผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ”

กรมการจัดหางานดำเนินนโยบายสอดคล้องกับกลยุทธ์ระดับประเทศที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในการขับเคลื่อน โดยกรมฯ ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ในรูปแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารโครงการและการให้บริการ รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับสถานประกอบการที่ต้องการแรงงานคุณภาพ และมีหลักสูตรฝึกอบรมเสริมทักษะอาชีพด้านต่างๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

กรมการจัดหางาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความเป็นเลิศด้านตลาดงาน

“ไทยมีงานทำ” เป็นเว็บไซต์สำหรับทั้งคนหางานและผู้ที่ต้องการเพิ่มทักษะด้านต่างๆ ปัจจุบัน มีการประกาศรับสมัครงานจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ กว่า 370,000 ตำแหน่ง โดยเปิดโอกาสให้ทั้งผู้มองหางานและสถานประกอบการเข้าลงทะเบียน ทำให้ผู้สมัครสามารถค้นหาข้อมูลตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ในขณะที่สถานประกอบการหรือนายจ้างก็สามารถค้นหาคนที่มีความรู้ความสามารถตามที่ต้องการได้ “ไทยมีงานทำ” จึงเป็นแพลตฟอร์มจับคู่คนหางานกับตำแหน่งงานที่ตรงความต้องการของทั้งสองฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อรวบรวมข้อมูลการจ้างงานจากภาครัฐที่เชื่อมโยงข้อมูลจากสำนักงาน ก.พ. ขยายฐานข้อมูลตำแหน่งงานให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตุลาคม 2564-กุมภาพันธ์ 2565) มีผู้สมัครงานมาใช้บริการ 108,094 คน บรรจุงานแล้ว 75,336 คน ก่อเกิดรายได้กว่า 9 พันล้านบาท

ปัจจุบัน สายงานที่ผู้สมัครงานได้รับการบรรจุงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. การผลิต 2. การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และจักรยานยนต์ 3. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 4. การบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ และ 5. กิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ

ตำแหน่งงาน 5 อันดับแรกที่มีความต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1. แรงงานด้านการประกอบ 2. แรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์ 3.พนักงานขายของหน้าร้านและสาธิตสินค้า 4. ตัวแทนจัดหาบริการทางธุรกิจและนายหน้าการค้าอื่นๆ และ 5. ตัวแทนฝ่ายขายด้านเทคนิคและการค้า

นางสาวบุณยวีร์ กล่าวต่อว่า “แรงงานถือเป็นเครื่องจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ภาคการส่งออก การผลิต การก่อสร้าง ไปจนถึงภาคท่องเที่ยวและการบริการ”

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้น รูปแบบการสัมภาษณ์เน้นไปที่ระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงหนึ่ง ที่ทุกคนต้องพัฒนาและปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้ากับสภาพแวดล้อม และบริบทของสังคม ด้วยเหตุนี้ กรมฯ จึงได้พยายามนำระบบดิจิทัลมาใช้กับกลุ่มการบริการต่างๆ รวมถึงการจัดทำเว็บไซต์ ‘ไทยมีงานทำ’ และ ‘ระบบการส่งเสริมการมีงานทำ’ หรือ Employment Guide เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้มีงาน และใช้ความถนัดและความเชี่ยวชาญของตัวเองในการสร้างรายได้ อาทิ อาชีพรับจ้างล้างแอร์ หรือนักบริการจัดอาหารตามงานต่างๆ โดยวิธีการลงโฆษณาตัวเองผ่านเว็บฯ ดังกล่าว”

นางสาวบุณยวีร์ กล่าวต่อว่า “จากนี้ไป ประเทศไทยต้องการแรงงานที่มีประสบการณ์และรอบรู้ มากกว่าแรงงานภาคทฤษฎี โดยมีรายงานว่า มีจำนวนนักศึกษาจบใหม่แต่ละปี 400,000-500,000 คน และปัญหาหลักคือได้งานไม่ตรงสายหรือไม่สอดคล้องกับทักษะ ซึ่งปัจจุบัน คุณสมบัติที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือ ผู้ที่มีภาวะผู้นำ ชอบการเรียนรู้ สามารถปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว มีทักษะการเรียนรู้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า นักศึกษาจบใหม่ส่วนใหญ่หันไปทำงานอิสระหรือทำงานที่รับรายได้เป็นรายชั่วโมง ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุค New Normal ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ที่ต้องการรายรับที่แน่นอน การเริ่มทำงานในองค์กรเพื่อเรียนรู้ระบบในสายงานที่สนใจ สะสมประสบการณ์และเงินทุนไปก่อน เพื่อเป็นเจ้าของธุรกิจในอนาคต ก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่แพ้กัน”

กรมการจัดหางาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความเป็นเลิศด้านตลาดงาน

นอกจากนี้ กรมฯ ยังคิดค้นระบบการนำเข้าแรงงานข้ามชาติที่มีประสิทธิภาพ เพื่อดูแลปัญหาการขาดแคลนแรงงานและลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเมื่อไม่นานมานี้ กรมฯ ได้อนุมัติแรงงานข้ามชาติที่ยื่นขอเข้ามาทำงานในประเทศ จำนวน 144,709 คน ผ่าน MOUs ที่ลงนามกับ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน โดยมี 117,029 คนมาจากเมียนมา 38,933 คนจากกัมพูชา และที่เหลือจากลาว

กรมการจัดหางาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความเป็นเลิศด้านตลาดงาน

นางสาวบุณยวีร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรามองเห็นว่า รูปแบบของตลาดงานจะเปลี่ยนไปในอนาคต เนื่องจากการมาของยุคดิจิทัล โดยเว็บไซต์ ‘ไทยมีงานทำ’ มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมแหล่งงานคุณภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์ตลาดงานในปัจจุบัน หลักสูตรอบรมต่างๆ รวมถึงประวัติของผู้สมัครงาน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้สมัครได้ทำงานที่ตรงตามความต้องการ ในขณะที่นายจ้างก็ได้แรงงานคุณภาพ เพื่อแก้ปัญหางานไม่ตรงความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในขณะนี้ ตลาดงานกำลังฟื้นตัวอย่างมาก และเต็มไปด้วยตำแหน่งงานคุณภาพสำหรับทุกคน”