posttoday

โครงการจิตอาสาของสำนักงาน กศน. ประจำปี 2565

18 พฤษภาคม 2565

นายวัลลพ  สงวนนาม  เลขาธิการ กศน. นายปรเมศวร์  ศิริรัตน์ รองเลขาธิการ กศน. พร้อมด้วยนายดำรงศักดิ์  สุขโคนา ที่ปรึกษาสำนักงาน กศน. ได้น้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานการขับเคลื่อนโครงการจิตอาสาของสำนักงาน กศน. โดยมุ่งพัฒนาทักษะพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนในแต่ละด้านตามความถนัดของตน ขณะเดียวกันกิจกรรมยังส่งผลให้เกิดความรักชาติ ความรักสามัคคี สร้างจิตสำนึก สร้างอุดมการณ์ สร้างระเบียบวินัย สามารถเป็นผู้นำในการประสานความร่วมมือ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์วิกฤติและภัยพิบัติให้แก่ผู้เรียนและประชาชนในพื้นที่ได้  รวมถึงสำนักงาน กศน. ยังมุ่งหวังว่าการขับเคลื่อนงานจะทำให้ข้าราชการ บุคลากร รวมถึงผู้เรียนได้ทราบถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทย และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) และจิตอาสาพัฒนา การบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม

โครงการจิตอาสาของสำนักงาน กศน. ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมโดยให้สำนักงาน กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร จำนวน 77 แห่ง โดย

1. จัดอบรมหลักสูตรจิตอาสาของสำนักงาน กศน. (ระยะเวลา 2 วัน) จำนวน 12 ชั่วโมง เป้าหมายผู้เข้ารับการอบรมเป็นบุคลากร  ซึ่งประกอบด้วย  ผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ บุคลากร และผู้เรียนในสังกัดสำนักงาน กศน. จำนวน 130 คน/แห่ง รวม 10,010 คน และให้สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร  สถาบันการศึกษาทางไกล  รวมถึงสถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาค  จำนวน 50 คน/แห่ง  รวม 350 คน  รวมเป็น 10,360 คน ซึ่งผลการดำเนินการอบรมหลักสูตรจิตอาสาของสำนักงาน กศน. มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 19,694 คน ซึ่งสำนักงาน กศน.สามารถดำเนินการได้เกินเป้าหมายที่กำหนด  และดำเนินการขยายผลโครงการจิตอาสาของสำนักงาน กศน. โดยผู้เข้ารับการอบรมต้องนำความรู้ด้านจิตอาสาที่ได้รับมาส่งเสริม  ขยายผลไปสู่ผู้เรียน  และชุมชนในพื้นที่ ในรูปแบบ 4 กิจกรรม ดังนี้

กิจกรรมที่ 1 การประกวดชุมชนจิตอาสา  เน้นทำได้จริงและขยายผล โดยนำความรู้มาส่งเสริม ขยายผลให้ชุมชนในพื้นที่ดำเนินการ ผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ มีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ มีจิตสาธารณะ นำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาจัดกิจกรรม รวมทั้งงานด้านจิตอาสา มีการดำเนินงานด้านจิตอาสา และสามารถเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการจิตอาสาชุมชน

กิจกรรมที่ 2 การแข่งขันขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ใน ร.๙  โดยให้สถานศึกษาคัดเลือกผู้เรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัดโดยแบ่งเป็น 4 ประเภท  ได้แก่ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช.กศน. และนักศึกษาผู้พิการ โดยการแข่งขันขับร้องเป็นการสื่อให้รู้คุณค่า  ซาบซึ้งในบทเพลงพระราชนิพนธ์  เผยแพร่พระอัจฉริยภาพ  พระปรีชาสามารถทางด้านดนตรี  และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร  พระผู้ทรงเป็นอัครศิลปินของปวงชนชาวไทย  และเพื่อให้นักศึกษา  เยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่า  รู้จักและร่วมสืบสานบทเพลงพระราชนิพนธ์อย่างแพร่หลาย  อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

กิจกรรมที่ 3 การประกวดการจัดทำโครงงานจิตอาสาต้นแบบ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักศึกษาในแต่ละระดับเขียนโครงงานจิตอาสาและนำเสนอโครงงานที่ดีเด่นและสามารถเป็นต้นแบบในการจัดกิจกรรม โดยเน้นการแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์  ความชัดเจนของแนวทางการดำเนินโครงงาน  ผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดจากโครงงาน  ประโยชน์ของผู้เรียน สถานศึกษา และชุมชน  และความชัดเจนของรายงานสรุปและคลิปนำเสนอ

กิจกรรมที่ 4 การคัดเลือกผู้ปฏิบัติงานที่ทำคุณประโยชน์ด้านจิตอาสา  เป็นกิจกรรมเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ถึงความมุ่งมั่น  ทุ่มเทต่อการส่งเสริม  สนับสนุนการดำเนินงานด้านจิตอาสาของหน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  ตลอดจนหน่วยงานภายนอก  จนประสบผลสำเร็จ  ของผู้ผ่านการอบรมจิตอาสา 904 ของสำนักงาน กศน. และบุคลากรในสังกัดสำนักงาน กศน. ที่ส่งเสริม  สนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านจิตอาสา  การถ่ายทอดองค์ความรู้  หรือสร้างนวัตกรรมด้านจิตอาสาที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์

โครงการจิตอาสาของสำนักงาน กศน. ประจำปี 2565

ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการแข่งขันในระดับภาค คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้  และจะดำเนินการจัดในระดับประเทศในวันที่ 24 - 25 กรกฎาคม 2565 ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

2. จัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาระดับภาค เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อต้องการให้ที่ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรจิตอาสา 904 จากโรงเรียนจิตอาสาพระราชทานของสำนักงาน กศน. ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติงาน  และร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาเพื่อบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะในพื้นที่ของแต่ละภาค  โดยให้สถาบัน กศน.ภาคเป็นเจ้าภาพในแต่ละภาคในการจัดกิจกรรม  ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 3 ภาค ได้แก่  ครั้งที่ 1  สถาบัน กศน.ภาคเหนือ จัดเมื่อวันที่ 24 - 25 มกราคม 2565 ณ วัดดอยอินทรีย์ ตำบลดอยฮาง  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 2 สถาบัน กศน.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดเมื่อวันที่ 20 - 21 กุมภาพันธ์ 2565 ณ กศน.อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 3 จัดเมื่อวันที่ 18 - 19 มีนาคม 2565 ณ กศน.อำเภอเมืองภูเก็ต  จังหวัดภูเก็ต ผลการดำเนินงานจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาระดับภาคมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 408 คน

ซึ่งยังต้องดำเนินการขับเคลื่อนไปอีก 2 ภาค  ได้แก่  1) ภาคตะวันออก ที่จังหวัดสระแก้ว และ 2) ภาคกลาง ที่จังหวัดสิงห์บุรี 

3. จัดทำกิจกรรมจิตอาสาในภาพของกระทรวงศึกษาธิการ  ภายใต้ชื่อ “ศธ.จิตอาสาจราจร” ในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมในเรื่องของการปรับภูมิทัศน์ ทาสีตีเส้น  ปรับปรุงเครื่องหมายจราจร  เพื่อรณรงค์สร้างความปลอดภัยบนท้องถนนโดยรอบกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ก่อนวันสำคัญในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 10 (28 กรกฎาคม 2565) 

4. จัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565 และเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดเดือนกรกฎาคม 2565  โดยมอบหน่วยงาน/สถานศึกษาในสังกัดดำเนินการ

ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ตอบสนองนโยบายและส่งผลให้บุคลากร ผู้เรียน และประชาชนที่เข้าร่วมในโครงการเป็นจิตอาสาต้นแบบ เป็นตัวอย่าง เป็นกําลัง และเป็นแกนนําในการสร้างอุดมการณ์ สร้างจิตสํานึก สร้างระเบียบวินัย สามารถเป็นผู้นําสําคัญในการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายในการจัดกิจกรรมอาสาในพื้นที่ และรู้จักการเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เกิดการสร้างความสามัคคีในชุมชนที่ยั่งยืน

โครงการจิตอาสาของสำนักงาน กศน. ประจำปี 2565