posttoday

TIJ จัดอบรมผู้ปฏิบัติงานด้านยุติธรรม เปิดตัว “คู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อ เพศภาวะ” หวังพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย

29 เมษายน 2565

จากความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศ (TIJ) และกรมราชทัณฑ์ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญ เพื่อร่วมกันผลักดันการนำมาตรฐานและบรรทัดฐานในระดับสากลมาปรับใช้ โดยเฉพาะการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพของเรือนจำและการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังในประเทศไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ให้ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่พบทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศ คือ ปัญหาคนล้นคุกและความแออัดในเรือนจำ ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังเป็นอุปสรรคหลักในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมช่วงปลายน้ำให้มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ต้องขัง 264,801 คน ถือเป็นปริมาณมากที่สุดอันดับ 7 ของโลก การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ถึงผลกระทบเชิงลบของการนำคนเข้าเรือนจำเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีมาตรการอื่นมารองรับอย่างพอเพียง ดังนั้น TIJ จึงสนับสนุนและผลักดันการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน มาตรการที่มิใช่การคุมขังสามารถกระทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การประกันตัว การคุมประพฤติ การเบี่ยงเบนคดีหรือการกันคดี การปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไข การรอลงอาญา และการลงโทษปรับ โดยสามารถนำมาใช้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่กระบวนการก่อนแจ้งข้อหา กระบวนการก่อนพิจารณาคดี การพิจารณาคดี การพิพากษา และกระบวนการหลังการพิพากษา รวมถึงการปล่อยตัวก่อนกำหนดแบบมีเงื่อนไข การนิรโทษกรรม และการสนับสนุนหลังการพิพากษา

“ภารกิจสำคัญหนึ่งของ TIJ คือ การพยายามนำมาตรฐานและบรรทัดฐานในระดับสากลมาปรับใช้ โดยเฉพาะการผลักดันมาตรการที่มิใช่การคุมขัง เพื่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม นำไปใช้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการตอบสนองต่อข้อท้าทายต่าง ๆ และเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่มีในเรือนจำไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการนำเอามาตรฐานขั้นต่ำสหประชาชาติว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขัง หรือ ข้อกำหนดโตเกียว มาปรับใช้ร่วมกับข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ ซึ่งที่ผ่านมา TIJ และ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ร่วมกันยกระดับการดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้กระทำผิดหญิงทั้งการขับเคลื่อนด้านวิชาการและการออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ผ่านการนำเสนอมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด” ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าว

TIJ จัดอบรมผู้ปฏิบัติงานด้านยุติธรรม เปิดตัว “คู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อ เพศภาวะ” หวังพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย

ในครั้งนี้ การอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย  (Workshop on Non-Custodial Measures in Thailand) จึงถูกจัดขึ้นโดย TIJ ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4-5 เมษายน 2565 เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังให้กับผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทย และเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันถึงข้อท้าทายในการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในขั้นตอนต่าง ๆ ระหว่างผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานยุติธรรมไทยกับผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ    

ซาบรีนา มาทานี นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในผู้ร่างคู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ เน้นย้ำว่า “แม้ว่ามาตรการที่มิใช่การคุมขังในรูปแบบต่าง ๆ จะมีข้อดี แต่การลงโทษปรับควรเป็นมาตรการสุดท้ายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะกับผู้ที่มีรายได้ต่ำ ในกลุ่มนี้การให้ทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากกว่า”

ซาบรีนากล่าวว่า “ปัจจุบัน มีข้อท้าทายหลายประการในการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง ประชาชนกลุ่มหนึ่งยังคงมีทัศนคติในแง่ลบต่อการใช้มาตรการที่ไม่รุนแรง หลายคนลังเลที่จะโอบรับอดีตผู้ต้องขังกลับเข้าสู่สังคม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขาดหน่วยงานศูนย์กลางที่จะประสานงาน บังคับใช้ และกำกับดูแลมาตรการนี้อย่างเป็นระบบ”

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินงานเพื่อสนับสนุนมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ จึงเปิดตัว “คู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ” โดยได้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่คำนึงถึงความแตกต่างทางเพศภาวะในบริบทต่าง ๆ

ข้อมูลจาก World Prison Brief ระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ต้องขังมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก มาตรการที่มิใช่การคุมขังจึงมีความสำคัญต่อผู้หญิง เนื่องจากสาเหตุหลายประการ ได้แก่ จำนวนผู้ต้องขังหญิงที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบเชิงลบจากการคุมขังผู้หญิง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อครอบครัว งบประมาณที่ภาครัฐต้องแบกรับ รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต เช่น การตีตรา และการทำร้ายตนเอง

ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของ TIJ )กล่าวว่า “ในบริบทนานาชาติ การคุมขังหรือการลงโทษจำคุกถือเป็นมาตรการลงโทษขั้นสุดท้ายที่จะถูกพิจารณาใช้ เนื่องจากการคุมขังส่งผลเชิงลบต่อสังคม เพราะการนำคนที่มีโทษน้อยไปขังคุกถือเป็นการเสียแรงงานหรือทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งการคุมขังหรือการลงโทษจำคุกก็ไม่ใช่วิธีที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในสังคมอย่างแท้จริง”

“โดยทั่วไป การกระทำความผิดของผู้หญิงมีความรุนแรงน้อยกว่าผู้ชาย และผู้หญิงมีแนวโน้มจะกระทำผิดซ้ำน้อยกว่าผู้ชาย ข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ร้อยละ 86 ของผู้หญิงในเรือนจำประเทศไทยถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และร้อยละ 10 ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ลักทรัพย์ ความผิดเหล่านี้ถือเป็นความผิดที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงและไม่เป็นภัยต่อสังคม จากประสบการณ์การทำงาน พบว่า  ผู้หญิงเกือบทั้งหมดเป็นผู้ค้ารายย่อย โดยเข้ามาค้ายาเสพติดเพราะความจนและขาดโอกาสการทำงาน บางคนเป็นผู้เสพหรือใช้สารเสพติดเพราะเข้าใจผิด เช่น คิดว่าจะช่วยลดน้ำหนักได้ อันที่จริง ประชากรกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่กลับถูกตัดสินจำคุก 3-5 ปี ดังนั้น หากได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนที่เหมาะสม พวกเขาจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคม และจะกลายเป็นแรงงานสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”

“นอกจากนี้เกินกว่าร้อยละ 80 ของผู้ต้องขังหญิงเป็นคุณแม่ เมื่อคุณแม่ถูกส่งเข้าเรือนจำ ลูกๆ มักจะถูกกระจายตัวไปที่อื่นทำให้ครอบครัวต้องแตกสลาย ต่างกันกับกรณีที่คุณพ่อถูกคุมขัง และในบางกรณี เด็กๆ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะกลายเป็นผู้กระทำความผิดในอนาคต เห็นได้ชัดว่าการคุมขังส่งผลในเชิงลบกับสังคมเป็นทอดๆ และส่งผลกระทบในวงกว้าง”

อะแมนด้า โอนีล ผู้แทนจากหน่วยงานด้านความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ของประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “เราต้องใช้มุมมองแบบองค์รวมในการแก้ไขปัญหา มองลึกลงไปถึงรากของปัญหาและบริบทแวดล้อม ผู้กระทำผิดหลายคนเป็นเหยื่อของความยากจนและความรุนแรงในครอบครัว พวกเขาถูกกดทับทางสังคมในหลายมิติ จนนำไปสู่การกระทำความผิด ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมจึงต้องมองให้เห็นถึงเบื้องลึกของสิ่งที่เกิดขึ้น”

TIJ จัดอบรมผู้ปฏิบัติงานด้านยุติธรรม เปิดตัว “คู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อ เพศภาวะ” หวังพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย

ภายในการอบรมดังกล่าว มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถออกมาใช้ชีวิตและทำงานนอกเรือนจำได้ ดร.แอนเทีย ฮักเคิลส์บี จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม อธิบายว่า “การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวต้องมีแนวปฏิบัติที่ตอบสนองต่อเพศภาวะเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมสามารถบังคับใช้มาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ส่วนข้อเสนอแนะอื่นๆ จากการอบรม ได้แก่ การจัดสรรทรัพยากรให้ดียิ่งขึ้น การปล่อยผู้ต้องขังก่อนกำหนดในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 การลงทุนเพิ่มเติมด้านการวิจัยและข้อมูล การทบทวนกฎหมายและนโยบายต่างๆ ในปัจจุบัน การเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่หญิงในกระบวนการยุติธรรม การเพิ่มการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านกฎหมายสำหรับผู้หญิง การใช้มาตรการทางเลือกต่างๆ สำหรับการคุมขังก่อนการพิจารณคดี การส่งเสริมข้อมูลที่ถูกต้องในกระบวนการก่อนการพิพากษาคดี การจัดทำแนวปฏิบัติที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม การสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยสอดส่องดูแลภายในชุมชน และการส่งเสริมความความรู้ความเข้าใจกับสังคมในวงกว้าง

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด “คู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ” ฉบับเต็มได้ทาง https://knowledge.tijthailand.org/th/international_standard/detail/17#book/