posttoday

มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่งมอบสิ่งของพระราชทาน “หมวกควบคุมแรงดันลบ (nSPHERE-)” โดยนาโนเทค สวทช. ให้กับ 3 โรงพยาบาลในพื้นที่ภาคเหนือ

26 เมษายน 2565

มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่งมอบสิ่งของพระราชทาน “หมวกควบคุมแรงดันลบ (nSPHERE-)” นวัตกรรมจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ในรูปแบบออนไลน์ ให้กับโรงพยาบาลฝาง, โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ และโรงพยาบาลพะเยา จังหวัดพะเยา โดยการสนับสนุนของ เพื่อใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการฟอกไต

มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่งมอบสิ่งของพระราชทาน “หมวกควบคุมแรงดันลบ (nSPHERE-)” โดยนาโนเทค สวทช. ให้กับ 3 โรงพยาบาลในพื้นที่ภาคเหนือ

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดซื้อหมวกควบคุมแรงดันลบให้แก่โรงพยาบาลเพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยทรงเล็งเห็นถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ รับภาระในการดูแลผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสถานพยาบาลต่างๆ ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล โดยเฉพาะเพื่อใช้ในผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง อาทิ การฟอกไต ฟอกเลือด

"นาโนเทค สวทช. ได้ประสานมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดซื้อหมวกควบคุมแรงดันลบให้แก่โรงพยาบาล เนื่องจากได้รับการติดต่อจากโรงพยาบาลในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพะเยา จังหวัดพะเยา โรงพยาบาลฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ แจ้งความประสงค์ว่า ต้องการหมวกแรงดันลบสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการฟอกไตซึ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการใช้งานนวัตกรรมหมวกควบคุมแรงดันลบเพิ่มขึ้น แต่ยังขาดทุนทรัพย์ในการจัดซื้อ” ศ.ดร.ไพรัชกล่าว

หลังได้รับพระราชทานพระราชานุญาตฯ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหาหมวกแรงดันลบ จำนวน 140 ใบสำหรับโรงพยาบาล 3 แห่งดังกล่าว ที่จะนำไปสู่การบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ลดความเสี่ยงของประชาชนชาวไทย และเพิ่มศักยภาพในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยนวัตกรรมของไทย

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า หมวกควบคุมแรงดันบวกลบ (nSPHERE Pressurized Helmet) เป็นนวัตกรรมที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นอุปกรณ์ส่วนบุคคลที่สามารถใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ที่ใช้งานได้สะดวก โดยหมวกดังกล่าวสามารถป้องกันละอองไอจามและฝุ่นด้วยการกรองที่มีประสิทธิภาพ ร่วมกับการควบคุมแรงดันให้เหมาะกับประเภทของกลุ่มผู้ใช้งาน คือ หมวกแรงดันบวก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีแรงดันภายในหมวกสูงกว่าภายนอก และหมวกแรงดันลบ สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งมีแรงดันภายในหมวกต่ำกว่าภายนอก

มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่งมอบสิ่งของพระราชทาน “หมวกควบคุมแรงดันลบ (nSPHERE-)” โดยนาโนเทค สวทช. ให้กับ 3 โรงพยาบาลในพื้นที่ภาคเหนือ

นวัตกรรมนี้ เป็นอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักเบาและสามารถนำอุปกรณ์ควบคุมกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยผ่านการทดสอบผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานต่างๆ ได้แก่ การทดสอบประสิทธิภาพการกรองและปราศจากรอยรั่วของ HEPA Filter (ISO 14644-3) การทดสอบด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ด้านการแพทย์ เช่น การป้องกันกระแสรั่ว การทนต่อศักย์และกำลังไฟฟ้า และการประเมินความปลอดภัยของส่วนประกอบต่างๆ (IEC 60601-1) วัสดุที่ใช้ในการประกอบผ่านการทดสอบการซึมผ่านของละอองน้ำและก๊าซ โดยนาโนเทค สวทช. ได้อนุญาตให้บริษัท เวลล์เนส อินโนเวชั่น บียอนด์ จำกัด นำผลงานนวัตกรรมนี้ไปผลิตเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์แล้ว

ดร.วรรณีกล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา นาโนเทค สวทช. ได้ส่งมอบหมวกควบคุมแรงดันบวกลบจำนวนมากกว่า 1000 ใบ ให้แก่โรงพยาบาลมากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ อาทิ โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ, สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และสถาบันบำราศนราดูร เป็นต้น จากการสนับสนุนด้านงบประมาณขององค์กร หน่วยงาน และบริษัทต่างๆ ซึ่งนวัตกรรมนี้ นอกจากจะนำไปใช้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันแล้ว ยังถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องเคลื่อนย้าย เข้ารับการรักษา หรือทำหัตถการที่จำเป็น เช่น การฟอกเลือด ฟอกไต เป็นต้น

“ในนามผู้บริหาร สวทช. ต้องขอขอบคุณมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นอย่างสูงที่มีส่วนในการสนับสนุนงบประมาณ และที่สำคัญสนับสนุนให้เกิดการนำนวัตกรรมไทยไปใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19  ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ช่วยควบคุมการแพร่กระจายเชื้อของโรคติดต่อได้เป็นอย่างดี  ช่วยบรรเทา และลดปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ช่วยเพิ่มความมั่นใจการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการรับมือวิกฤตนี้ให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น” ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กล่าว