posttoday

ทริค 5 ข้อ เลือกเก้าอี้สุขภาพ Work from Home ให้ไม่ปวดหลัง

27 มกราคม 2565

การลงทุนเพื่อสุขภาพเป็นการลงทุนที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สูญเปล่า ในเมื่อเราเสียเงินไปกับความบันเทิงเพื่อเติมความสุขให้ตัวเองได้เสมอ แล้วทำไมการซื้อ “สุขภาพ” จะเป็นไปไม่ได้?

สำหรับคนที่นั่งทำงานที่โต๊ะทุกวัน วันหนึ่งเป็นเวลานาน “เก้าอี้สุขภาพ” คือเครื่องมือช่วยชีวิตสำคัญที่จะส่งผลต่อสุขภาพกระดูกสันหลังในระยะยาว ถึงแม้บางคนอาจจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญในช่วงที่อายุยังน้อย แต่บอกได้เลยว่า ถ้าไม่เริ่มเปลี่ยนเก้าอี้ตั้งแต่วันนี้ อีกไม่นานอาการปวดหลัง ลุกก็โอย นั่งก็โอย ต้องมาเยือนอย่างแน่นอน แล้วจริง ๆ เราควรใช้เก้าอี้แบบไหน?

มาดูทริคเล็ก ๆ 5 ข้อในการเลือกซื้อเก้าอี้ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนห่างไกลจากออฟฟิศโดรมกันดีกว่า

ปรับเอนหนักพิงได้

อันดับแรก ๆ ที่ทุกคนต้องมองหาจากเก้าอี้สุขภาพเลยก็คือพนักพิงที่สามารถปรับเอนไปข้างหน้าหรือมาข้างหลังได้ เพราะการนั่งทำงานบนเก้าอี้ที่เราต้องหลังตรงตลอดเวลา เมื่อนานไปก็จะเกิดอาการเมื่อย จนสุดท้ายก็งอหลังลงมา เสียสุขภาพอยู่ดี เพราะฉะนั้น การปรับเอนหนักพิงในระดับที่พอเหมาะ ให้กระดูกสันหลังได้ผ่อนลงมาบ้าง แต่ยังเอื้อมมือไปพิมพ์หรือเขียนงานได้โดยไม่ต้องโน้มหรืองอตัวจึงเป็นสิ่งที่ดี

ปรับระดับความสูงของที่นั่งได้

ความสูงของแต่ละคนไม่เท่ากัน และไม่ใช่ว่าความสูงของทุกคนจะสัมพันธ์กับความสูงของโต๊ะทำงาน อีกทั้งแต่ละคนมีช่วงลำตัวส่วนบนและส่วนล่างที่ไม่เท่ากัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนที่สูง พอนั่งลงไปกลับดูไม่สูงเท่าคนที่ลำตัวช่วงบนยาว ฉะนั้นเก้าอี้สุขภาพที่ดีจึงต้องปรับความสูงให้พอดีได้ และหากเท้าของผู้นั่งลอยจากพื้นก็ควรหาที่รองเท้ามาใช้ด้วย เพื่อไม่ให้ขาลอยจนส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดและกล้ามเนื้อขา

ปรับที่เท้าแขนได้

การเขียนหนังสือหรือพิมพ์งาน แขนของเราอาจจะต้องยกลอยหรือทิ้งตัวลงต่ำ ซึ่งหากอยู่ในระดับที่ไม่พอดี จะส่งผลให้เราปวดคอบ่าไหล่จากการยกแขนหรือเกร็งกล้ามเนื้อ ฉะนั้น ที่เท้าแขนที่ปรับความสูงและระยะหน้า-หลังได้ จะช่วยเพิ่มความสบายให้กับการนั่งทำงาน

มีส่วนรองศีรษะ

เพื่อเซฟสุขภาพต้นคอ ไม่ให้ทุกคนต้องก้มหัวหรือเกร็งคอเวลานั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ ควรเลือกเก้าอี้สุขภาพที่มีพนักรองศีรษะช่วยประคองไม่ให้รู้สึกเมื่อยล้าจนเกินไปด้วย ซึ่งก็จะมีทั้งทรงเก้าอี้สูงแบบผู้บริหารที่พนักสูงขึ้นไปถึงช่วงบน หรือเก้าอี้ Ergonomics ที่มีส่วนรองศีรษะต่อขึ้นมาโดยเฉพาะและปรับตามสรีระคอของแต่ละคนได้

เก้าอี้สุขภาพทำจากวัสดุที่ระบายอากาศได้ดี

นอกจากเรื่องสรีระแล้วยังต้องให้ความสำคัญกับวัสดุที่ใช้ในการทำเก้าอี้ โดยเฉพาะในส่วนของที่นั่งและพนักพิง ต้องระบายอากาศได้ดี ไม่อมความชื้นและเหงื่อ เพื่อที่เวลานั่งนาน ๆ จะไม่รู้สึกอึดอัดหรือเหงื่อออกมากจนไม่สบายตัว