posttoday

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับแบรนด์ไทย WISHARAWISH จัดงานแถลงข่าวการแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ กับคอลเลกชั่นผ้าไทยร่วมสมัย “จากแดนไกล”

21 พฤษภาคม 2562

ในโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2562

 

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับแบรนด์ไทย WISHARAWISH จัดงานแถลงข่าวการแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ กับคอลเลกชั่นผ้าไทยร่วมสมัย จากแดนไกล” ในโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2562

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และแบรนด์ WISHARAWISH  (วิชระวิชญ์) เล็งเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ในงานหัตถกรรมการทอผ้าของคนในชุมชน ที่เป็นการอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ จึงได้ดำเนินงานโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2562 (Taproot Thai Textiles) พร้อมจัดงานแถลงข่าวการแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้และชุมชนทางวัฒนธรรมและเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวผ่านมิติผ้าไทย รวมไปถึงส่งเสริมศิลปินทอผ้าพื้นบ้านและเครือข่ายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการทอผ้าไทย ได้เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม บนรากฐานของวัฒนธรรม ในชุมชนให้อยู่คู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมเรื่องผ้าไทยมาสร้างคุณค่าทางจิตใจ และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ นอกจากการพัฒนาชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้าให้เป็นต้นแบบในเรื่องการทอผ้าแล้วยังมุ่งเน้นที่จะสร้างสรรค์ผลักดันนักออกแบบและผลงานเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในวงการแฟชั่นทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ

จากแดนไกล” คอลเลกชั่นผ้าไทยร่วมสมัยล่าสุดของแบรนด์ “WISHARAWISH” ออกแบบรังสรรค์ผลงานโดย วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ ซึ่งคอลเลกชั่นนี้ผ่านการออกแบบที่เน้นความเรียบง่ายแต่พิถีพิถันในรายละเอียดของเทคนิค หยิบยกเอาความงามและความละเมียดละไมของผืนผ้าไทยทอมือทั้งหลายเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งวัสดุหลักก็คือบรรดาผืนผ้าที่วิชระวิชญ์ได้เลือกใช้ถึง 7 ชนิด ของผู้ประกอบการท้องถิ่น 7 ท่าน จากภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยที่เขาได้เดินทางไปร่วมงาน และได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ร่วมกันออกมานับครั้งไม่ถ้วนตลอดระยะเวลาหลายปี ผ่านการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาผ้าไทยจนนำไปสู่ทิศทางของการอนุรักษ์ พัฒนา และต่อยอดภูมิปัญญางานฝีมือท้องถิ่นเหล่านี้ในมุมมองของเขา อีกทั้งยังเกิดการกระตุ้นเร้าเชื่อมโยงกับสังคมและกระแสทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน ด้วยการใช้สี คู่สี การปรับเปลี่ยนลวดลาย และการออกแบบที่ร่วมสมัย

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับแบรนด์ไทย WISHARAWISH จัดงานแถลงข่าวการแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ กับคอลเลกชั่นผ้าไทยร่วมสมัย “จากแดนไกล”

วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข กล่าวว่า “ผมเชื่อมาตลอดว่าเวลาเราออกแบบก็เหมือนเราทำอาหาร ถ้าวัตถุดิบดีเราไม่จำเป็นต้องปรุงรสเยอะ เริ่มต้นคือพอได้รับมอบหมาย ก็ลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ 7 พื้นที่ และดึงเอารากเหง้าที่เขามีอยู่แล้วมาต่อยอด เอาการออกแบบเข้าไปพัฒนา ทำอย่างไรให้มันทานได้ง่าย ทุกที่มีผ้าที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน อย่างเช่น สุรินทร์ มีผ้าไหมยีนส์ ที่ซักได้ง่ายและเข้ากับกลุ่มตลาดที่รักงานเดนิม หรือผ้าขาวม้าของอิมปานิ จ.ราชบุรี ที่เลือกรูปแบบการใช้สีให้เข้ากับตลาดสากลได้ โดยในระหว่างที่พัฒนาโครงการก็ได้รับเชิญจากโตเกียวแฟชั่นวีค และนำผลงานบางส่วนที่ทำไปแล้วส่วนหนึ่งไปแสดงที่นั่น ผลตอบรับดีเกินคาด เพราะเราไม่คิดว่าคนในวงกว้างหรือชาวต่างชาติจะสนใจ และมีออเดอร์ คนจีนก็มีออเดอร์ผ้าของอิมปานิไป หรือผ้าบาติกของปัตตานีเองญี่ปุ่นก็สั่งผลิต ตอนนี้ก็ส่งไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะมีแฟชั่นโชว์ที่หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร และจะมีนิทรรศการที่เซ็นทรัลเวิลด์  ซึ่งหวังว่าผู้ประกอบการจะได้นำผลผลิตจากโครงการนี้ไปต่อยอด แต่ในขณะเดียวกันในฐานะนักออกแบบ ผมก็จะช่วยพัฒนาผ้าไทยต่อไปครับ”  

เอกสิทธิ์  โกมลกิตติพงศ์ เจ้าของแบรนด์ผ้าขาวม้า IMPANI (อิมปานิ) จากจังหวัดราชบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการนี้เป็นการรวมตัวผู้ประกอบการกับกระทรวงวัฒนธรรม และมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ก่อนหน้านี้ก็ได้ไปโชว์งานที่ญี่ปุ่นครับ อาจารย์อู๋จะช่วยดูลายผ้าและช่วยปรับรูปแบบให้ทันสมัยมากขึ้น ผมก็พยายามออกแบบลายที่ ตอบโจทย์และเหมาะสำหรับนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าได้มากขึ้น เมื่อก่อนนี้เราแค่ทอผ้าอย่างเดียว ปัจจุบันเราต้องดูลายผ้าที่สามารถนำมาตัดเสื้อผ้าได้ พอได้ไปที่โตเกียว ก็ได้ผลตอบรับที่ดีมาก มีออเดอร์เพิ่ม แล้วตอนนี้ก็มีออเดอร์ของจีนด้วยครับ ดีไซน์ของอาจารย์อู๋ก็เป็นสไตล์โมเดิร์น เหมาะกับคนสมัยใหม่ ปัจจุบันคนเริ่มรู้จักมากขึ้น  พอมารู้จักกับอาจารย์อู๋เราได้ลูกค้าในกลุ่มไฮเอนด์ (Hi-end) มากขึ้น ตัวดีไซน์ค่อนข้างโดนใจกลุ่มลูกค้าครับ ที่จริงลายผ้าโดนก็อปปี้ได้ง่าย แต่เสน่ห์ของผ้าที่แตกต่างก็คือมีเรื่องของเท็กซ์เจอร์ (Texture) ที่ต่างจากผ้าทอทั่วๆ ไป มีเอกลักษณ์สวยงามเฉพาะตัว กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่ง่ายเลยครับ โครงการนี้ทำให้เราได้รู้ว่ากลุ่มลูกค้ามีความต้องการแตกต่างกัน เราก็ต้องพัฒนารูปลักษณ์ของสินค้าให้ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม โครงการนี้ทำให้ผมมีแนวความคิดในการออกแบบลายใหม่ๆ เมื่อก่อนนี้เรายึดติดกับ
รูปแบบเดิมๆ ผมจึงอยากเชิญชวนให้คนไทยหันมาใส่ผ้าไทย อาจจะราคาสูง แต่มีคุณค่าและไม่เหมือนใคร ทั้งระยะเวลาในการผลิต เทคนิคต่างๆ เช่น งานไหม งานยกดอก ถ้าเราให้คุณค่ากับมัน ก็สามารถเพิ่มมูลค่าผ้าไทยของเราได้ อยากให้คนไทยช่วยสนับสนุนคนไทยด้วยกันครับ”

ส่งท้ายด้วยเซเลบริตี้สาวหน้าคม ภัทรสุดา อนุมานราชธน ที่ได้ให้ความคิดเห็นต่อการอนุรักษ์ผ้าไทยว่า “บัวชอบใส่ชุดผ้าไหมไทยมากค่ะ เมื่อก่อนนี้ชอบเอาชุดของคุณย่ามาใส่ค่ะ เวลาใส่ออกงานต่างๆ อีกอย่างคือชอบใส่ผ้าถุงกับเสื้อยืด เพราะว่าใส่สบาย ชุดที่ใส่อยู่นี้ก็ใส่สบายและไม่แก่เลยค่ะ เป็นสไตล์โมเดิร์นแวร์ ล่าสุดเจอคุณอู๋ที่เชียงใหม่ที่เขาไปทำโครงการนี้ บัวเห็นผ้าฝ้ายที่เขานำมาตัดเย็บเป็นชุด คัตติ้งสวยมากๆ และบ่งบอกความเป็นไทย เข้ากับชีวิตทุกๆ วันของคนสมัยใหม่ บัวรู้สึกว่ามันคืองานโมเดิร์นจริงๆ สามารถใส่ในชีวิตประจำวันได้ ไม่จำเป็นต้องหรูหราฟู่ฟ่า แต่เป็นการ ประยุกต์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่แฟชั่นจ๋าอย่างเดียว บัวชอบสีสันของผ้าไทย ชอบผ้าบาติก และผ้าขาวม้าด้วยค่ะ”

ทั้งนี้การดำเนินงานโครงการดังกล่าว กรมส่งเสริมวัฒนธรรมยังได้ร่วมมือกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาการบริหารและพัฒนาในเรื่องของผ้าไทยพื้นถิ่นที่สืบสานภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการสรุปข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผล พิจารณาคัดเลือกและลงพื้นที่ชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้า จำนวน 7 แห่ง ใน 5 จังหวัดที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องการทอผ้า การออกแบบลายผ้า เส้นใยผ้า ตลอดจนวัสดุต่างๆ ที่นำมาใช้ทอผ้า เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การต่อยอดที่เป็นประโยชน์ พัฒนาศักยภาพต่อยอดทางภูมิปัญญา ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ อาทิ

- ผ้าขาวม้า อิมปานิ จังหวัดราชบุรี

- ผ้าฝ้ายทอมือ คอตตอน ฟาร์ม จังหวัดเชียงใหม่

- บาติก เดอ นารา จังหวัดปัตตานี

- ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จุฑาทิพย์ จังหวัดขอนแก่น

- ไหมแต้มหมี่ กลุ่มสตรีทอผ้ามัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น

- ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข จังหวัดขอนแก่น

- ผ้าไหมยีนส์ เรือนไหมใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับแบรนด์ไทย WISHARAWISH จัดงานแถลงข่าวการแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ กับคอลเลกชั่นผ้าไทยร่วมสมัย “จากแดนไกล”